ทำความรู้จักกับ”Any ID” ต่อไปนี้จำแค่”เบอร์มือถือ”ก็โอนเงินเข้าแบงค์ได้





ถึงแม้ใครๆ ก็รู้ว่าแค่พกบัตรประชาชนก็ทำธุรกรรมได้หลายอย่าง แม้กระทั่งเปิดบัญชีใหม่ แต่ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศ ลงทะเบียนระบบการชำระเงินแบบ “เอนี ไอดี” (Any ID) โดยประชาชนที่ลงทะเบียน “เอนี ไอดี” จะต้องมีข้อมูลอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
– เลขที่บัตรประชาชน
– เบอร์โทรศัพท์มือถือ
– และ เลขที่บัญชีธนาคาร

559000005805501

แล้วมันคืออะไร? เรามาทำความรู้จักกันให้มากกว่านี้ เพราะนี่คือรูปแบบใหม่ของการทำธุรกรรมการเงิน ที่กำลังจะมีบทบาทในประเทศเราเร็วๆ นี้

“เอนี ไอดี” ถ้าใช้เป็นภาษาแบบทางการก็คือ “ระบบการชำระเงินแบบนานานาม” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) ของรัฐบาล
       
ประโยชน์ของมันมีอยู่สองอย่าง คือ
อย่างแรก เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ใช้รับเงินสวัสดิการจากรัฐบาล หรือเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร เข้าบัญชีที่สมัครและผูกกับบริการ “เอนี ไอดี” ได้ทันที
       
เงินคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปกติกรมสรรพากรจะส่งเป็นเช็คขีดคร่อมทางไปรษณีย์ ปัญหาที่ผ่านมา ผู้รับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต่อไปนี้หลังวันที่ 1 มกราคม 2560 จะไม่คืนเป็นเช็คคืนภาษีอีก 
แต่กรมสรรพากรจะโอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” เข้าบัญชีไปเลย
       
สำหรับชาวบ้าน เกษตรกร หากรัฐบาลจะช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ หรือผลผลิตตกต่ำ ฯลฯ รัฐบาลก็จะใช้เลขที่บัตรประชาชน โอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” เข้าบัญชีธนาคารที่เราลงทะเบียนไว้ และเมื่อการลงทะเบียน “เอนี ไอดี” สามารถผูกบัญชีธนาคารไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารของรัฐ ไม่จำเป็นต้องเป็น ธ.ก.ส. ทำให้เกษตรกรสะดวก และมีทางเลือกรับเงินโอนจากรัฐบาลมากขึ้น 

ส่วนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หากรัฐบาลจะจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปกติต้องลงทะเบียนและส่งสำเนาบัญชีธนาคาร แต่ต่อไปนี้จะช่วยลดขั้นตอนการลงทะเบียนมากขึ้น ใครเคยลงทะเบียน “เอนี ไอดี” เอาไว้ก็ใช้รับเงินเบี้ยยังชีพได้ทันที
       
รวมทั้งเงินสวัสดิการของข้าราชการ เช่น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด เงินบำนาญพิเศษ ฯลฯ ก็จะโอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” เข้าบัญชีธนาคารที่เราลงทะเบียนไว้เช่นกัน
       

สรุปง่ายๆ ก็คือ "ช่วยลดความยุ่งยากของรัฐบาล ทำให้ประชาชนได้รับเงินจากภาครัฐเร็วขึ้น"

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ การโอนเงินให้กัน โดยใช้เบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชี 
ปัจจุบันเราโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชันไปยังบัญชีต่างธนาคารด้วยระบบ ORFT ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ครั้งละ 25-35 บาท ฟังดูแล้วอาจรู้สึกไม่แปลก เพราะปัจจุบันทุกคนมีบัญชีธนาคาร มีบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตกันทั้งนั้น รวมกันทั้งประเทศกว่า 76.25 ล้านบัญชี และส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคารมากกว่า 1 เล่ม แต่ระบบ “เอนี ไอดี” เค้าชูจุดเด่นขึ้นมาเลยว่า นอกจากใช้แค่เบอร์มือถือโอนเงินให้กันได้ ไม่ต้องจำเลขบัญชีแล้ว ค่าธรรมเนียมยังถูกกว่า เมื่อเทียบกับการโอนเงินแบบเดิมอีกด้วย
       
ทีนี้ เรายังไม่รู้ว่าค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่าน “เอนี ไอดี” ที่ธนาคารกำลังตกลงกันอยู่นั้นจะอยู่ที่ครั้งละกี่บาท เพราะเอาเข้าจริง 
สมาคมธนาคารไทย ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้เลย!
       

อาจมีคนสงสัยว่า ระบบ “เอนี ไอดี” ทำงานกันอย่างไร?
“เอนี ไอดี” จะมี บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ที่ธนาคารหลายแห่งร่วมจัดตั้งระบบ “เอทีเอ็มพูล” ขึ้นมากว่า 10 ปี ทำหน้าที่ดูแลการโอนเงินจากรัฐบาล เข้าบัญชีธนาคารที่ประชาชนลงทะเบียน “เอนี ไอดี” โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน รวมทั้งการโอนเงินผ่านเบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชี เวลาเราโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชัน ให้สามารถทำได้ข้ามธนาคารมากขึ้น จากเดิมที่ธนาคารใหญ่บางแห่งจะดึงเบอร์มือถือที่สมัครไว้กับธนาคาร ให้บริการโอนเงินโดยใช้เบอร์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน แต่ก็ทำได้เฉพาะธนาคารเดียวกันเท่านั้น เช่น โอนเงินจากแบงก์ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร จากมือถือของเรา ไปยังเบอร์มือถือของเพื่อนที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของแบงก์เหมือนกัน เงินก็เข้าบัญชีแบงก์นั้นของเพื่อนโดยอัตโนมัติ
       
หมายความว่า ต่อไปนี้เบอร์มือถือ กับ เลขบัญชีธนาคาร ถ้าเราผูกไว้เป็น “เอนี ไอดี” เดียวกัน เวลาโอนเงินเราแค่กรอกเบอร์มือถือ ก็โอนไปยังบัญชีปลายทาง ที่เป็นธนาคารเดียวกัน หรือคนละธนาคารได้ทันที
       
แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยกำลังจะมีบริการนี้ แต่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมความพร้อมรองรับการลงทะเบียน “เอนี ไอดี” อย่างเงียบๆ พร้อมกับจัดทำระบบรองรับเรียบร้อยแล้ว

559000005805503

ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำเว็บไซต์ที่ชื่อว่า anyid.scb โดยให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนใช้งาน “เอนี ไอดี” ล่วงหน้า โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์มือถือที่ให้ไว้กับธนาคาร และเตรียมที่จะเปิดสมัครใช้บริการเพิ่มเติม ผ่านทางสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็มไทยพาณิชย์ รวมทั้งบริการ SCB EASY NET และ SCB EASY APP บนโทรศัพท์มือถือในเร็วๆ นี้
       
ส่วน 
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรแต่ละหมู่บ้าน และให้กรอกเอกสาร “คำขอลงทะเบียน Any ID ละหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลลูกค้า” ไว้ล่วงหน้า โดยเจ้าหน้าที่อธิบายว่า ในอนาคตจะได้รับสวัสดิการจากภาครัฐต่างๆ ได้โดยตรง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การชดเชยรายได้ให้เกษตรกร หรือโครงการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ฯลฯ
       
ขณะที่
 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ Krungsri Guru ระบุว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนเอนี ไอดี หลังจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม พนักงานทุกสาขาพร้อมให้คำแนะนำและตอบคำถาม 
ทั้งนี้ สำหรับคนที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไปแล้ว จะยังไม่สามารถใช้บริการ “เอนี ไอดี” ได้ทันที เพราะธนาคารจะต้องนำคำขอลูกค้าไปตรวจสอบข้อมูลและลงทะเบียนกับระบบของ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ก่อน จึงจะอนุมัติให้ใช้งานได้ หลักการคล้ายกับ การย้ายค่ายมือถือเบอร์เดิม ที่ไม่สามารถย้ายค่ายได้ทันที เพราะแต่ละค่ายจะส่งเรื่องให้ “เคลียริ่งเฮาส์” หรือ บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด อนุมัติก่อน ถ้าไม่มียอดค้างชำระถึงจะย้ายค่ายสำเร็จ โดยเว็บไซต์ Krungsri Guru ระบุอีกว่า บุคคลทั่วไปจะสามารถมี “เอนี ไอดี” ประกอบด้วย เลขที่บัตรประชาชน 1 หมายเลข และเบอร์มือถือสูงสุดได้ 3 เบอร์ เพื่อผูกเข้ากับบัญชีธนาคารได้สูงสุด 4 บัญชี โดย “เอนี ไอดี” 1 หมายเลข จะสามารถผูกกับ 1 บัญชีธนาคารเท่านั้น โดยระบบจะไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนซ้ำ หากเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือได้เคยถูกลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว
       
แต่เท่าที่ศึกษาข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ “เอนี ไอดี” ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เลขประจำตัวประชาชน และเบอร์โทรศัพท์มือถือแต่ละหมายเลข สามารถกำหนดใช้เป็น “เอนี ไอดี” ได้หมายเลขละ 1 ไอดี และต้องเป็นหมายเลขที่ยังไม่ถูกกำหนดใช้เป็น “เอนี ไอดี” ผูกกับบัญชีเงินฝากบัญชีอื่น ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินใด เว้นแต่ได้ยกเลิกตามวิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแล้ว
       

ที่สำคัญ ยังระบุว่า “เอนี่ ไอดี” ผูกได้กับบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี (รวมทุกธนาคารหรือสถาบันการเงินในประเทศไทย)
บัญชีเงินฝาก 1 บัญชี อาจถูกผูกกับหลาย “เอนี่ ไอดี” ในเวลาเดียวกันได้ แต่จะผูกกับ “เอนี่ ไอดี” ที่เป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือได้เพียง 1 หมายเลขเท่านั้น เว้นแต่ธนาคารจะกำหนดเป็นอย่างอื่น หมายความว่า หากเราลงทะเบียนเลขที่บัตรประชาชน หรืออาจจะบวกเบอร์มือถืออีก 1 เบอร์ กับ บัญชีธนาคาร 1 บัญชี เท่ากับเราจะมี “เอนี ไอดี” แล้ว 1 ไอดี 

เบอร์มือถือ กับ บัญชีธนาคาร 1 บัญชี ก็เท่ากับเราจะมี “เอนี ไอดี” เพิ่มอีก 1 ไอดี จนกว่าจะครบโควตา คือ 3-4 ไอดี ขึ้นอยู่กับเลขที่บัตรประชาชน กับ เบอร์มือถือ จะผูกเป็นไอดีเดียวกันกับบัญชีธนาคาร 1 เล่มหรือไม่

ถ้าถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องลงทะเบียน “เอนี ไอดี”?
เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนแบบสมัครใจ กระทรวงการคลังไม่ได้บังคับให้ประชาชนทุกคนต้องลงทะเบียน “เอนี ไอดี” แต่ธุรกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือทางราชการ ต่อไปจะใช้ “เอนี ไอดี” ในการโอนเงินไปยังประชาชน เพราะฉะนั้น ถึงยังไงเราก็ต้องลงทะเบียน “เอนี ไอดี” ก่อนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ดี นอกเสียจากทั้งชีวิตเราไม่เคยยื่นแบบภาษีให้กับกรมสรรพากร เพราะเงินได้สุทธิปีละไม่ถึง 150,000 บาท หรือ เราไม่ใช่วัยทอง เป็นผู้สูงอายุที่ต้องได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล หรือหากเราทำตัวเป็นคนอินดี้ ดูแลตัวเองได้ ไม่สนใจความช่วยเหลือจากรัฐบาล เราก็คงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาลงทะเบียน “เอนี ไอดี” ก็ได้ ถือว่าเอาเงินช่วยเหลือไปให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา
       

แต่ถ้าเราเห็นความจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียน “เอนี ไอดี” สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “บัญชีธนาคาร”
เชื่อว่าธนาคารหลายแห่งเริ่มจับตามองและแย่งชิงลูกค้าที่จะเอาบัญชีธนาคารตัวเองเป็นบัญชีหลักที่จะผูกกับ “เอนี ไอดี” ธนาคารใดมีลูกค้าผูกบัญชี “เอนี ไอดี” อยู่ในมือมากที่สุด ในระยะยาวก็จะได้รับสภาพคล่องจากรัฐบาลผ่านการโอนเงินไปยังประชาชนมากที่สุด รวมทั้งค่าธรรมเนียมจะได้รับหากมีการโอนเงินข้ามธนาคาร 

ถ้าไม่ต้องการให้ยุ่งยาก ควรใช้บัญชีธนาคารที่เรามีอยู่แล้ว เช่น บัญชีเงินเดือนที่เรารับเป็นประจำ บัญชีเงินช่วยเหลือเกษตรกร บัญชีที่ผูกกับบัตรนักศึกษา หรือบัญชีที่เคยลงทะเบียนผู้สูงอายุ ฯลฯ แต่หากใช้บัญชีปนกันแล้วเกิดความสับสน อาจจะเปิดบัญชีออมทรัพย์เพิ่มอีกเล่ม แยกจากบัญชีเงินเดือน หรือบัญชีเงินออม เพื่อกันความสับสนจากการที่เราเช็กยอดเงินแล้วมีเงินเข้ามาแปลกๆ ไม่รู้ว่ามาจากไหน

ที่สำคัญ ควรจะคิดถึงความสะดวกของตัวเอง
เช่น เป็นธนาคารที่เราใช้บริการประจำ มีบัตรเดบิตอยู่แล้ว มีสาขาอยู่ใกล้บ้าน หรือสามารถถอนเงินที่ห้างใกล้บ้านในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงค่าธรรมเนียม เช่น ค่าบัตรเดบิตรายปี หรือค่ารักษาบัญชี ในกรณีที่เราไม่ค่อยได้ใช้บัญชีนั้น ผ่านไป 1 ปีหากบัญชีไม่เคลื่อนไหว ต้องเสียค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี 50 บาท และเผลอๆ หากไม่มีเงินบัญชีก็ถูกปิดอีกด้วย
       
“เอนี ไอดี” แม้ฟังดูเหมือนจะไกลตัว แต่หลังจากระบบการชำระเงินเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากรับเงินภาครัฐ เราควรรับมือและปรับตัว
 เพราะต่อไปอาจมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็ได้


ขอบคุณข่าวจาก http://manager.co.th
เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov
       

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: