รองหน.พรรคกล้า ผุดไอเดีย รัฐประกาศ ตัดสิทธิรักษาฟรี คนไม่ยอมฉีดวัคซีน





รองหัวหน้าพรรคกล้า เสนอ หากพร้อมฉีดแล้ว ให้รัฐ ประกาศ ใครไม่ยอมฉีดวัคซีน ตัดสิทธิรักษาฟรี

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนและการต่อสู้กับสถานการณ์โควิดระบาดระลอกสามในขณะนี้ โดย ระบุว่า หากรัฐพร้อมที่จะฉีดวัคซีนแล้ว ให้ประกาศไปเลย ใครไม่ยอมฉีด จะเสียสิทธิ์รักษาฟรี โดยเชื่อว่า วิธีนี้ แม้จะมีคนวิจารณ์ แต่จะทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

“เมื่อรัฐ พร้อมที่จะฉีดวัคซีนแล้วควรจะประกาศไปเลยว่า ใครไม่ยอมฉีดวัคซีนจะเสียสิทธิ์รักษาฟรี ใครฉีดวัคซีนแล้วแพ้ รัฐจ่ายให้สองหมื่นบาท เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนรัฐจ่าย1ล้านบาท” นายวรวุฒิ ระบุ

ทั้งนี้ มีผู้ติดตามท่านหนึ่งมาแสดงความเห็นว่า “อ่านจบ ภาพการโพสต์ด่ารบ.ว่าเผด็จการ บังคับให้ปชช.ต้องเลือก แล้วรบ.มีสิทธิอะไรมาตัดสิทธิการรักษาพยาบาลฟรีของปชช. มันลอยมาเลย หรือผมวิตกจริตเกินไป เริ่มหลอน 5555”

นายวรวุฒิ มาแสดงความเห็นตอบว่า “คนจะด่าก็ด่า ต้องปล่อยไปครับ เอาคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์สุด”

เช่นเดียวกับนาย พงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า มาแสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าวว่า

“เยี่ยมครับ”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคกล้า โดย ธันวา ไกรฤกษ์ โฆษกของพรรค วันนี้ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณสุข เปลี่ยนนโยบาย ให้มีการส่งตัวผู้ป่วยข้ามจังหวัดได้ หลังมีผู้เสียชีวิต เพราะมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงปัญหาเรื่องเครืองมืออุปกรณ์ในการรักษา

“จากการที่ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อคลัสเตอร์คลองเตย โดยได้กล่าวว่ากระบวนการคัดกรองที่ล่าช้า ทำให้กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระดับสีเขียวกลายเป็นสีเหลืองเพิ่มมากขึ้นจาก 4-5% เป็น 10% นั้น สะท้อนได้ชัดเจนว่าความรวดเร็วในขั้นตอนต่างๆนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการนำส่งตัวผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลของแพทย์ผมได้แถลงข่าวไปหลายครั้งกรณีผู้ป่วยใหม่ รวมถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรีเฟอร์ไปยังโรงพยาบาลอื่น เพราะข้อจำกัดทางด้านเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปัจจุบันต้องรอนานหลายวันจนเสียชีวิตไปแล้วหลายราย เนื่องจากเตียงในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นเต็มหมด และปัญหานี้ไม่มีทางดีขึ้นง่ายๆ เพราะมีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันนึงหลักพันคน ” นายธันวา ระบุ

“ผมจึงขอตั้งคำถามกลับไปยังผู้บริหารที่รับผิดชอบว่า ถ้าคัดกรองและตรวจเจอเชื้อเร็ว แต่ไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลของแพทย์ได้ เพราะเตียงเต็ม จึงต้องรออยู่ที่บ้านหลายวันสำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นสีเขียว “แล้วมันจะมีประโยชน์อย่างไรต่อข้อห่วงกังวลของทางกระทรวงกรณีคลัสเตอร์คลองเตย” เพราะเขาก็ต้องรออยู่ที่บ้านอยู่ดี ทางกระทรวงจะมีมาตรการอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้การอาการลุกลามไปสู่สถานะสีเหลือง หรือหากสามารถให้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่บ้านได้ก็ควรชี้แจงให้ชัดเจน ขอเสนออีกครั้งหนึ่งว่า ทางออกสำหรับเรื่องนี้ คือการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงที่ยังพอมีศักยภาพในการรองรับ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการกระจายเชื้อไปสู่จังหวัดอื่น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั้นจะต้องทำโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และมีระบบป้องกัน ดีกว่าปล่อยให้ผู้ป่วยรออยู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการทรุดหนักลงแล้ว ยังมีโอกาสแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นในครอบครัว และละแวกใกล้เคียงเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้ดูแลนโยบาย ติดขัดตรงไหนก็หาทางแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาอั้นเป็นคอขวดอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร หากแก้ไวก็จบไว จะได้ไปทำมาหากินกันต่อ เพราะตอนนี้นอกจากโควิดแล้ว คนจำนวนมากกำลังเข้าสู่สภาวะขาดความสามารถในการดำรงชีพ”

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: