บุกโรงงานเยลลี่ ช่วยแรงงานเมียนมา18ชีวิต ถูกนายจ้างบังคับทำงานวันละ 18ชั่วโมง





ดีเอสไอ สถานทูตเมียนมา บุกช่วยแรงงานเมียนมา 18 ชีวิต ถูกนายจ้างบังคับทำงานในโรงงานขนม ย่านลาดพร้าว วันละ 18 ชั่วโมง ไม่ยอมให้ออกไปข้างนอก

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 18 คน มีแรงงานเด็กรวมอยู่ด้วย ถูกกักขังและบังคับใช้แรงงานที่โรงงานทำขนมเยลลี่แห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว

    

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้กองคดีการค้ามนุษย์ สนธิกำลังร่วมกับ กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (บก.ตม.1) เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.โชคชัย เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย และผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว

ลงพื้นที่ตรวจโรงงานทำขนม ตามอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 98 (2) และ (3) โดยมีมูลนิธิ IJM ร่วมสังเกตการณ์ ที่โรงงานทำขนมเยลลี่ แห่งหนึ่งใน ซอยลาดพร้าว 6 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว

โดยโรงงานทำขนมเยลลี่ เป็นอาคาร 3 ชั้น มีประตูเหล็กปิดด้านหน้า และถูกคล้องกุญแจจากด้านนอก เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้เจ้าของสถานที่เปิดประตู แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จากนั้น มีแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 4 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 1 คน ปีนหนีออกมาจากชั้น 3

สอบถามแรงงานชาวเมียนมาดังกล่าว ระบุว่า ถูกกักขังและบังคับให้ทำงานตั้งแต่ 07.00-24.00 น. โดยไม่ให้ออกจากโรงงาน ส่วนแรงงานที่เหลืออีก 12 คน ยังอยู่ภายในโรงงาน ต่อมา เจ้าของสถานที่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นภายในโรงงาน

ทราบชื่อเจ้าของสถานที่ คือน.ส.ลักษมล อายุ 22 ปี ผลการตรวจค้นพบแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 18 คน เป็นเด็ก จำนวน 2 คน อายุ 16 ปี และ 17 ปี โดยเจ้าหน้าที่นำตัวแรงงานทั้งหมดไปยังสน.โชคชัย และแจ้งสหวิชาชีพเพื่อดำเนินการคัดแยกเหยื่อต่อไป ส่วนเจ้าของโรงงานอยู่ระหว่างสอบสวนขยายผล

ต่อมาพ.ต.ต.อาริชย์ ทัศน์พันธุ์ รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์, ร.ต.อ.หญิง อัศนีย์ รอดน้อย ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 1 ได้ประชุมหารือร่วมกับ พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ที่ปรึกษารมว.แรงงาน พร้อมด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย,

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดพร้าว, เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.1), กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาทั้งหมดข้างต้น

ที่มา เฟซบุ๊กบิ๊กเกรียน, ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: