สกัดไม่อยู่ เยอรมนีเข้ม “ล็อกดาวน์รอบสอง” ทั่วประเทศ





เยอรมันปิดโรงเรียน-ร้านค้าทั่วประเทศ ยกเว้นร้านค้าสิ่งของจำเป็น เช่น อาหารสด-แห้ง ร้านขายยา และธนาคาร เริ่ม 16 ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมเงินสนับสนุนบริษัทที่ได้รับผลกระทบ 1.1 หมื่นล้านยูโร/เดือน ส่วนบริษัทที่ต้องปิดตัวเพราะการนี้ จะได้รับเงินอุดหนุนถึง 5 แสนยูโร/เดือน

นับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ร้านค้าส่วนใหญ่ในเยอรมนี จะต้องปิดตัวลงอีกครั้งจนกระทั่งถึงวันที่ 10 ม.ค. 2564 เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายถึงการตัดทอนช่วงเวลาแห่งการสร้างรายได้ของร้านค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ปีใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีต้องเข้มงวดกับมาตรการต่าง ๆ เพื่อ สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น นางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศเมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.) เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะสั่งปิดร้านค้าส่วนใหญ่ ยกเว้นร้านค้าสิ่งของที่จำเป็นและอาหารสด-แห้ง ร้านขายยา และธนาคาร นอกจากนี้ ยังจำกัดระยะเวลาการติดต่อทางสังคม และห้ามจำหน่ายดอกไม้ไฟ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ทั้งนี้ นางแมร์เคิลและผู้ว่าการทั้ง 16 รัฐของเยอรมนีมีมติให้เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเหล่านี้ ตั้งแต่วันพุธที่ 16 ธ.ค. 2563ไปจนถึงวันที่ 10 ม.ค. ปีหน้า (2564) “ดิฉันหวังว่าเราจะมีมาตรการที่ไม่เข้มงวดมากเช่นนี้ แต่เนื่องจากเทศกาลช้อปปิ้งช่วงคริสต์มาสใกล้เข้ามาและผู้คนจำนวนมากจะมีการสัมผัส-ติดต่อกันเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก เราจึงจำเป็นต้องลงมือทำอะไรบางอย่างเป็นการเร่งด่วน” นอกจากร้านค้าแล้ว มาตรการล็อกดาวน์ที่จะเริ่มในวันพุธนี้ ยังครอบคลุมถึงการปิดโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเปลี่ยนไปเรียนที่บ้านแทน ส่วนร้านค้าที่ไม่ใช่ร้านจำหน่ายอาหารจะต้องปิดให้บริการเช่นกัน ขณะที่ร้านอาหารยังสามารถจำหน่ายแบบซื้อไปทานที่บ้านได้ แต่ห้ามไม่ให้นั่งทานที่ร้าน ส่วนร้านทำผมที่ขณะนี้ยังเปิดให้บริการได้อยู่ ก็จะต้องปิดให้บริการในวันพุธนี้เช่นกัน รวมทั้งสถานที่ให้บริการอื่น ๆ เช่นร้านสักตามร่างกาย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเยอรมนียังคงอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มในสถานที่ปิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่จำกัดจำนวนไม่ให้เกิน 5 คน และห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีเข้ารวมกลุ่ม รวมถึงห้ามการรวมกลุ่มในสถานที่สาธารณะกลางแจ้งช่วงก่อนวันขึ้นปีใหม่ และไม่อนุญาตให้จำหน่ายดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วย

ล่าสุด เยอรมนีมีอัตราส่วนการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่โดยเฉลี่ยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 26 รายต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นสถิติเมื่อช่วงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อ 21.23 รายต่อประชากร 100,000 ราย นายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เปิดเผยถึงแผนให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่นี้ว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบช่วยเหลือเอาไว้ประมาณ 11,000 ล้านยูโร (13,300 ล้านดอลลาร์) หรือกว่า 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกิจที่จำเป็นต้องปิดตัวเพราะมาตรการนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือได้ถึง 90% ของต้นทุนคงที่ หรืออาจคิดเป็นเงินถึง 500,000 ยูโรต่อเดือน ก่อนหน้านี้ เยอรมนีอยู่ในภาวะล็อกดาวน์เป็นบางส่วนหรือบางพื้นที่มาเป็นเวลา 6 สัปดาห์แล้ว เช่นมีการปิดร้านอาหาร(แบบนั่งรับประทานในร้าน) และผับ-บาร์ แต่โรงเรียนและร้านค้ายังเปิดให้บริการได้ แต่บางพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาก ก็อาจมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านั้น นายมาร์คุส เซอเดอร์ ผู้ว่าการรัฐบาวาเรียให้ความเห็นว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบาะๆ หรือเบาๆ มีผลบ้างก็จริง แต่ไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงเกินควบคุม ส่วนคำถามที่ว่าหลังจากวันที่ 10 ม.ค. 2564

เยอรมนีจะกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งเลยหรือไม่ ทั้งนางแมร์เคิลและนายเซอเดอร์ตอบว่า ยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงหรือไม่

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกในเยอรมนีและหลายประเทศยุโรปเกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.ถึงเม.ย.ที่ผ่านมา แต่โรคก็กลับมาแพร่ระบาดอีกเป็นรอบสองและทุกประเทศต่างก็พยายามรับมือ สถาบันโรเบิร์ต โค้ค หรือ RKI ในเยอรมนีเปิดเผยว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอีก 20,200 รายเมื่อวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) ทำให้ยอดรวมขยับขึ้นเป็น 1,320,716 รายทั่วประเทศ ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเยอรมนีเพิ่มขึ้น 321 ราย กลายเป็นยอดเสียชีวิตรวม 21,787 ราย

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ, Germany to impose stricter lockdown to battle Covid-19

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: