กรมราง ดันสินค้าโอท็อปขายบนสถานีรถไฟฟ้า เร่งปั๊มรายได้ให้ชุมชน





กรมการขนส่งราง เร่งผลักดันให้มีการนำ สินค้า “โอท็อป-คนพิการ” วางจำหน่ายบนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน และกลุ่มคนพิการ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP บริเวณสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้(4 ธ.ค.)ว่า ได้หารือร่วมกับ ตัวแทนจาก สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน , การรถไฟแห่งประเทศไทย , การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OT0P) ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมภูมิปัญญา หรือบริการของชุมชน วิสาหกิจ กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ในพื้นที่สถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาส สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการ

เบื้องต้นมอบหมายให้หน่วยงาน ได้แก่ รฟท. รฟฟท. รฟม. และ BEM พิจารณาสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการหารือร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาสินค้า หรือบริการ ที่จะจัดจำหน่ายภายในพื้นที่สถานีต่อไป

โดยให้เร่งหารือรายละเอียด เกี่ยวกับทำเลศักยภาพหรือพื้นที่ที่จะเสนอให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายสินค้าโอทอป ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ของที่ระลึก ฯลฯ บริการจากภูมิปัญญา เช่น การนวดแผนโบราณจากคนตาบอด เป็นต้น

เงื่อนไขการเช่า เช่น อัตราค่าเช่า ข้อปฏิบัติในการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ การคิดอัตราค่าเช่าที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น กรณีที่ผู้เช่าเป็นหน่วยงานรัฐ มูลนิธิ สมาคม/องค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ,มาตรการด้านความปลอดภัยหรือข้อห้ามในเข้าใช้พื้นที่การจัดหาสินค้าและบริการภายในพื้นที่ของสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า

และข้อสรุปเกี่ยวกับประเภทสินค้าหรือบริการที่จะให้มีการเข้าจำหน่ายในสถานีรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟทั่วประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุปเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาต่อไป

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: