สภาพัฒน์เปิดช่อง สธ.ขอขยายเงินพิเศษให้ อสม. ด้าน “อนุทิน” ลั่นพร้อมตัดงบด้านอื่นช่วยเต็มที่





สภาพัฒน์เปิดช่อง สธ.ขอขยายเงินพิเศษให้ อสม. ด้าน ‘อนุทิน’ ลั่นพร้อมตัดงบด้านอื่นช่วยเต็มที่

กรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มีแผนตัดงบประมาณการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอไป 19 เดือน เหลือเพียง 6 เดือน และล่าสุด อสม.ทั่วประเทศได้ออกมาเคลื่อนไหวเตรียมจะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในวันที่ 29 กรกฎาคมนั้น

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แจ้งถึงกรณีข่าวระบุว่า สภาพัฒน์พิจารณาตัดเงินช่วยเหลือ อสม.จาก 19 เดือน เหลือ 6 เดือนนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 เมษายน 2563 เรื่องการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษรายเดือน

และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุดที่ กค 0408.5/ว102 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำหนดอัตราการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษระยะแรกดังกล่าวไว้ที่เดือนกันยายน 2563 ประกอบกับกรอบวงเงินด้านสาธารณสุขของพระราชกำหนดกำหนดไว้ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับภาพรวมวงเงินของแผนงานสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ในวงเงิน 51,985 ล้านบาท (เกินจากกรอบวงเงินของพระราชกำหนดคิดเป็นจำนวน 6,985 ล้านบาท)

รวมถึงพิจารณาปัจจัยความไม่แน่นอนของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการระบาดซ้ำในช่วงต่อไปหรือไม่ หากเกิดการระบาดในวงกว้างในประเทศไทยอีกครั้ง กรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นเม็ดเงินหลักในการแก้ไขปัญหาการระบาด

คณะกรรมการกลั่นกรองจึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้ เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม.และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563

ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้นก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีเสนอให้รัฐบาลจ่ายค่าตอบแทนแก่ อสม.เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563-กันยายน 2564 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานแก่ อสม.ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวัง ส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ว่าเรื่องนี้รัฐบาลควรจะสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั่วไป ได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ทุกคนคือด่านหน้าที่ทุ่มเท ต่อสู้ ป้องกันโรคโควิด-19 ตนจะสนับสนุนในทุกส่วนที่ทำได้ หากต้องตัด หรือปรับลดงบประมาณของ สธ.ในด้านอื่นที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ก็จะทำ

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: