ครม.ไฟเขียว แก้ไขร่างกฎหมาย ให้อายุเด็กที่ต้องรับโทษอาญา จาก10ปี เพิ่มเป็น12ปี





เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยสาระสำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่อายุไม่เกิน 10 ปี จะมีการแก้ไขเป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญา จากเดิมที่กำหนดไว้เกินอายุ 10 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี แก้เป็นเกินอายุ 12 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งหลักเกณฑ์อายุดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ สอดคล้องกับเหตุผลทางการเมืองที่เห็นว่าเด็กอายุ 12 ปีไม่มีความแตกต่างจากเด็กอายุ 10 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงอายุเด็กที่มีความอ่อนด้อยทางความนึกคิด ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

อีกทั้งยังเป็นช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซึ่งไม่สมควรที่จะให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี แต่สมควรที่จะให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อให้เด็กได้ฟื้นฟูกลับไปสู่สังคมได้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเรียนรู้การกระทำผิดจนนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำได้จึงสมควรที่จะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในส่วนนี้

ทั้งนี้การกำหนดอายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาของเด็กเป็น 12 ปีนั้น จะทำให้จำนวนของเด็กที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้การใช้งบประมาณ การบริหารจัดการในการจับกุม การคุมขัง การจำคุกลดลงด้วย โดยจะมีการใช้มาตรการอื่นๆมาทดแทน เช่น การควบคุม การดูแล การฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสในการเติบโตเป็นคนดีสู่สังคม จะส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทุนของมนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: