“เทวัญ” จัดงบ1,300ล้าน เยียวยาพระสงฆ์3เดือน





เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดการเยียวยาพระภิกษุสงฆ์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า หลังจากมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกว่า 3,000 ราย รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ รวมถึงการล็อกดาวน์ประเทศ ปิดห้างสรรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ รวมถึงสั่งห้ามและขอความร่วมือไม่ให้จัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมคน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้วัดงดจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมถึงวันพระ และวันสงกรานต์  หากประชาชนจะเข้าไปทำบุญก็ให้เว้นระยะห่าง วัดบางแห่งปิดชั่วคราว ด้วยมาตรการต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ฆราวาสไม่กล้าตักบาตร และเมื่อไม่มีคนเข้าวัด เงินทำบุญลดลง อีกประการหนึ่ง คือการมีเคอร์ฟิวซึ่งทำให้การออกบิณฑบาตของพระพระสงฆ์และการที่ญาติโยมจะไปซื้ออาหารมาถวายพระแต่เช้าล้วนเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ หลังจากที่ปิดประเทศ ไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทำให้วัดต่างๆที่มีชื่อเสียงซึ่งเดิมเคยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขาดรายได้ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือ วัดโพธิ์ , วัดระฆังโฆษิตารามฯ, วัดอรุณราชวรารามฯ, วัดยานนาวา, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดไตรมิตรวิทยารามฯ เป็นต้น

“นอกจากไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว การที่ทางวัดไม่ได้จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งส่งผลให้ไม่มีคนเข้าไปทำบุญ วัดต่างๆ จึงเดือดร้อน ภิกษุทำเฉพาะกิจของสงฆ์คือการสวดมนต์ อยู่ด้วยปัจจัยที่โยมทำบุญ แต่ในขณะเดียวกัน ทางมหาเถรสมาคมมีมติให้วัดจัดกิจกรรม มีการสวดพระรัตนสูตร ซึ่งเป็นบทสวดเก่าแก่ เวลาบ้านเมืองเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ก็ใช้บทสวดนี้เพื่อให้ขวัญและกำลังใจ ให้สติกับประชาชน สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้จัดตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชน โดยขณะนี้มีราว 1,100 แห่ง สามารถแจกจ่ายอาหารได้วันละ 300,000 คน ดำเนินการมาแล้วราว 2 เดือน คิดเป็นเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นศูนย์กลางของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตอนนี้มี ‘ตู้พระทำ นำสุข’ คือ พระออกไปบิณฑบาต ได้ของมาเท่าไหร่ก็นำไปใส่ตู้ พระหยิบเฉพาะส่วนที่พอฉันในมื้อเช้าและมื้อเพลเท่านั้น ที่เหลือประชาชนสามารถมาหยิบไปได้ นอกจากนี้ยังร่วมนำของมาใส่ในตู้ได้เช่นกัน นอกจากตู้พระทำ นำสุข ยังมีโครงการสวนครัวในวัด แบ่งที่ดินในวัดให้ประชาชนมาปลูกพืชผักผลไม้ แล้วสามารถนำกลับมาขายให้วัด วัดก็นำไปใช้ในโรงทาน พระเองก็มีกองทุน วัดช่วยวัด ซึ่งเป็นเงินมาจากเงินนิตยภัตซึ่งเป็นเงินช่วยค่าอาหารที่ได้เป็นประจำทุกเดือน โดยบริจาคเงินนิตยภัตปีละ 1 เดือนให้กองทุนดังกล่าว ปัจจุบันมีการนำเงินจากกองทุนนี้มาช่วยในสถานการณ์โควิด แต่ช่วยได้ไม่มากนัก ราว 20 กว่าล้านบาท

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อประชาชนเดือดร้อน ก็อยู่กับประชาชนมาตลอด เมื่อผมลงพื้นที่หลายแห่งได้เห็นว่าวัดมีความเดือดร้อน จึงมีแนวคิดว่าพระภิกษุสงษ์ควรได้รับการเยียวยา เพราะรัฐบาลก็เยียวยาประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วน พระก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงคิดว่าจะต้องเยียวยาอย่างไร” นายเทวัญกล่าว

นายเทวัญกล่าวว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ เคยมีมติครม. เมื่อพ.ศ.2552 จากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระภิกษุโดนยิงขณะบิณฑบาต จึงให้พระงดออกบิณฑบาต โดยรัฐบาลให้การช่วยเหลือรูปละ 100 บาทต่อวันสำหรับเป็นค่าภัตตาหาร จึงนำแนวทางนี้มาใช้ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ยังสามารถบิณฑบาตได้ เพียงแต่น้อยลง จึงจะช่วยเหลือรูปละ 60 บาทต่อวันเป็นเวลา 91 วัน คือราว 3 เดือน นำยอด 60 บาท คูณด้วย 91 วัน เป็นเงิน 5,460 บาทต่อรูป เงินจำนวนนี้ จะถูกส่งไปที่วัด ไม่ได้ให้พระสงฆ์แต่ละรูปโดยตรง ซึ่งได้กราบเรียนมหาเถรสมาคมและพระผู้ใหญ่แล้วเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว สำหรับงบประมาณที่คาดการณ์ไว้ราว 1,300 ล้านบาท โดยเบื้องต้น ครม. รับหลักการแล้ว

“สมมติวัดนี้มีพระ 10 รูป วันละ 60 บาทต่อรูป ก็ได้เงิน 600 บาท 91 วัน เป็นเงิน 5 หมื่นกว่าบาท วัดนี้จะนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร โรงครัวกลาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีพระสังฆาธิการหรือเจ้าอาวาสดูแลบริหารจัดการ การคำนวณเงินใช้จำนวนพระสงฆ์ในวัด ไม่ได้แบ่งแยกวัดยากจน หรือวัดร่ำรวยแต่เราให้ทุกวัด แนวคิดนี้ มีการเสนอเข้าครม.แล้ว ครม.รับหลักการแล้ว ให้มาลงรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งเราประชุมกับทางสำนักงบประมาณ ทางสภาเศรษฐกิจ และอีกหลายภาคส่วน กำลังหาข้อสรุป” สำหรับช่วงเวลาที่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้นั้น ต้องไปดูเงินก่อนว่าจะใช้จากก้อนไหน ถ้าใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านได้ ก็อาจจะเร็ว แต่ถ้าเป็นงบกลาง ต้องรอ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ก็คงเป็นช่วงเดือนหน้า” นายเทวัญกล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: