ก.ดิจิทัลฯ ปิ๊งไอเดีย “Thaiflix” สู้ “Netflix” ดันไทยเป็นผู้นำดิจิทัลในภูมิภาค





รมว.ดิจิทัล เปิดไอเดียสร้าง “แพลตฟอร์มไทย – Thaiflix” สู้ “Netflix” หวังดันไทยเป็นผู้นำโลกดิจิทัลในภูมิภาค 

“ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีแพลตฟอร์มของคนไทย ทั้งโซเชี่ยลมีเดียและบริการทางออนไลน์ต่างๆเราต้องไปใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมโฆษณา หรือ การค้าขายทางออนไลน์ก็ไหลไปต่างประเทศหมด” 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวถึงแนวความคิดของเขาที่จะสร้าง “แพลตฟอร์มไทย” ขึ้นมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่คนไทยนิยมใช้อยู่ ในระหว่างการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era” ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เปิดเผยแนวคิดใหม่เป็นครั้งแรกในการประชุมครั้งนี้ คือ แนวคิดจะสร้างช่องทางขายคอนเทนต์ของไทยไปสู่ต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อมี Netflix ได้ ก็สามารถทำให้มีช่องทางในลักษณะเปรียบเทียบเป็น Thaiflix ได้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาแพลตฟอร์มขายคอนเทนต์จากต่างประเทศ ซื้อคอนเทนต์ของเราไปในราคาที่จ่ายเงินครั้งเดียว แต่สามารถนำไปฉายในประเทศอื่นๆ

 

“เช่นประเทศจีนจนทำกำไรได้มหาศาล แต่ผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทยไม่ได้เงินเพิ่มเลย จึงเห็นว่า หากประเทศไทยสามารถรวบรวมคอนเทนต์ดีๆไว้ด้วยกันได้ ก็สามารถสร้างช่องทางนำออกไปขายในต่างประเทศได้เช่นเดียวกับคอนเทนต์ของเกาหลีใต้ โดยเอกชนในธุรกิจนี้ต้องรวมตัวกันเป็นทีมไทยแลนด์ และรัฐบาลเป็นผู้ให้การสนับสนุน” 

นายพุทธิพงษ์ เชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีของไทย สามารถทำให้มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์มของไทยที่ทำโดยภาครัฐไม่ได้รับความนิยม เช่น แพลตฟอร์มการค้าปลีกออนไลน์ 3 รายใหญ่ที่คนไทยใช้อยู่เป็นของต่างประเทศทั้งหมด ทั้งที่มีทั้งแพลตฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์ ไปรษณีย์ไทย และกระทรวงมหาดไทย

นั่นก็เป็นเพราะแพลตฟอร์มที่รัฐทำขึ้นมาเองยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ดังนั้นจึงมีความคิดว่า ภาครัฐควรมีบทบาทเพียงการเป็นเจ้าภาพสนับสนุนงบประมาณและรวบรวมเอกชนที่มีความสามารถเข้ามาช่วยสร้างแพลตฟอร์มทำวิจัย ทำตลาด สร้างแคมเปญ นำของไปขายต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มเดียวกันของประเทศไทย และเมื่อขายในประเทศไทยได้แล้ว เชื่อว่าในไม่เกิน 1 ปี จะทำให้แพลตฟอร์มของไทยขยายไปได้ในระดับภูมิภาค 

 

ที่มา Living with COVID-19: ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era”

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: