กาง15หน่วยงานที่ได้รับงบกลาง1.7หมื่นล้านสู้โควิด พบ “สธ.”5.4พันล้าน ขณะที่“ก.ศึกษาฯ”ขอ 2.5หมื่นล้าน โดนปัดตก!





ตามดู 15 หน่วยงาน รับงบกลาง 1.7 หมื่นล้าน สู้โควิด-19 พบ “สธ.” 7 หน่วยงาน รับมากสุด 5.4 พัน ล. เฉพาะ “สปสช.” ได้งบเพิ่ม 3.26 พันล้าน หลังได้ก้อนแรก 1.2 พันล้าน “กรมควบคุมโรค” ได้รับจัดสรร 520 ล้าน สำนักงานปลัด สธ.ได้รับ 1.5 พันล้าน ส่วน “การท่าอากาศยาน” 150 ล้าน “กองทัพเรือ” 115 ล้าน “กทม.” 50 ล้าน “บขส.” 53.1 ล้าน “รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” 104.7 ล้าน ส่วน “ศธ.” ยื่นขอ 2.5 หมื่นล้าน แต่ไม่ได้รับจัดสรร “ก.เกษตรฯ” ขอ 927 ล้าน ได้แค่ 45 ล้าน

21 มี.ค.63 มีรายงานจากทำเนีบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการการระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเป็นรายการงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรณีหน่วยงานรับงบประมาณมีภารกิจ จำนวน 15 หน่วยงาน 1 โครงการ ยื่นคำของบประมาณ 46,194.88 ล้านบาท ได้รับอนุมัติในกรอบวงเงิน 15,304.8506 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจ้างงาน 2,700 ล้านบาท



ทั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข 8 หน่วยงาน ยื่นคำขอ 6,573.6287 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 5,488.5096 ล้านบาท ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยื่นคำขอ 1,700.1440 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 1,551.4 ล้านบาท กรมการแพทย์ ยื่นคำขอ 84.38 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 84.38 ล้านบาท กรมควบคุมโรค ยื่นคำขอ 572.3975 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 520.3096 ล้านบาท กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยื่นคำขอ 88.6228 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 65.2950 ล้านบาท

กรมสุขภาพจิต ยื่นคำขอ 80.5460 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 7 ล้านบาท กรมอนามัย ยื่นคำขอ 15.15 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยื่นคำขอ 3,629 ล้านบาท ได้รับจัดสรรเต็มจำนวน 3,260 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลางไปแล้วก้อนหนึ่ง จำนวน 1,233 ล้านบาท และสุดท้าย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ขอรับจัดสรร 403.388 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรร

กระทรวงคมนาคม 1 หน่วยงาน กรมท่าอากาศยาน ยื่นคำขอ 500 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 159 ล้านบาท

กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสาตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3 หน่วยงาน ยื่นคำขอ 9,915.3085 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 143.5036 ล้านบาท ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสาตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยื่นคำขอ 9,197.2108 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำขอ 35 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรร

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยื่นคำขอ 56.7592 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 47.8463 ล้านบาท มหาวิทยาลัยมหิดล ยื่นคำขอ 626.3385 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 95.6573 ล้านบาท

กระทรวงกลาโหม 2 หน่วยงาน ยื่นคำขอ 122.3073 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 115.411 ล้านบาท ได้แก่ กองทัพเรือ ยื่นคำขอ 115.411 ล้านบาท ได้รับจัดสรรเต็มจำนวน 115.411 ล้านบาท กองทัพอากาศ ยื่นคำขอ 6.8963 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรร

กระทรวงพาณิชย์ 1 หน่วยงาน กรมการค้าภายใน ยื่นคำขอ 157.9650 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 108 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 หน่วยงาน ยื่นคำขอ 927.83 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 45.0372 ล้านบาท ได้แก่ กรมส่งเสริมการสหกรณ์ ยื่นคำขอ 414.2 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 45.0372 ล้านบาท ขณะที่ กรมวิชาการเกษตร ยื่นคำขอ 42.76 ล้านบาท กรมประมง ยื่นคำขอ 59 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ ยื่นคำขอ 411.87 ล้านบาท แต่ทั้ง 3 หน่วยงาน ไมได้รับการจัดสรรงบกลาง

กระทรวงอุตสาหกรรม 1 หน่วยงาน สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยื่นคำขอ 55 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 35 ล้านบาท

“ยังพบว่า กระทรวงศึกษาธิการ 3 หน่วยงาน ยื่นคำขอ 25,140.6347 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับการจัดสรร ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยื่นคำขอ 2,102.0572 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยื่นคำขอ 15,778.5950 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ยื่นคำขอ 7,259.9825 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับจัดสรรงบกลาง”

เช่นเดียวกับ อีก 2 หน่วยงาน ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ยื่นของบกลาง 1,252.1862 ล้านบาท ก็ไม่ได้รับการจัดสรร ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว ยื่นคำขอ 1,162.1862 ล้านบาท และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ยื่นคำขอ 90 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับการจัดสรร

นอกจากนี้ หน่วยงานเช่น “กรุงเทพมหานคร” ยื่นคำของบกลาง 90.0986 ล้านบาท ได้รับการจัดสรร 50.0656 ล้านบาท

ด้าน รัฐวิสากิจ 4 หน่วยงาน ยื่นคำขอรวม 1,354.9 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรเพียง 53.1 ล้านบาท โดย บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพียงหน่วยงานเดียวที่ได้รับการจัด 53.1 ล้านบาท โดยยื่นคำขอ 54.9 ล้านบาท ขณะที่อีก 3 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ยื่นคำขอ 200 ล้านบาท การยางแห่งประเทศไทย ยื่นคำขอ 600 ล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยื่นคำขอ 500 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 รัฐวิสาหกิจไม่ได้รับการจัดสรรงบกลาง

“ขณะที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยื่นคำขอ 105.0210 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 104.7983 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการอนุมัติงบกลาง เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจ้างงาน ระยะเวลาจ้างไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างเดือนละไม่เกิน 9,000 บาท โดยรับการจัดสรร 2,700 ล้านบาท”

เมื่อวันอังคารที่ 17 มี.ค. ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง สำหรับการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะของ กระทวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรร 108 ล้านบาท สำหรับชดเชยโรงงาน ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงงาน ที่ต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมาก

ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: