ไขข้อสงสัย “เลิกเรียนบ่ายสองโมง” หลังจากนั้นเด็กทำอะไร ?!





เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังการแถลงนโยบายด้านการศึกษา  เกี่ยวกับนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Mordorate Class More Knowledge” ซึ่งจะเริ่มต้นนำร่องในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อม 3,500 แห่งในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2558

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นแนวทางดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อต้องการจะตอบโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เด็ก ผู้ปกครอง และครู มีความสุขในการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้พิจารณาเรื่องเวลาเรียนของเด็กในปัจจุบันด้วย โดยแต่เดิมเด็กจะต้องเลิกเรียนเวลา 16.00 น. ก็จะเปลี่ยนเป็นเลิกเรียนในชั้นเรียนเวลา 14.00 น. เพื่อนำเวลา 2 ชั่วโมงนั้นไปจัดกิจกรรมเพิ่มเติมความรู้ให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ ไม่มีความเครียด และไม่มีการบ้านเพิ่ม ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น และผู้ปกครองก็จะมีความสุขเมื่อเห็นลูกมีความสุข และเชื่อว่าคุณครูก็คงจะมีความสุข

ทั้งนี้ เมื่อเลิกเรียนแล้ว ครูจะต้องดูแลเด็กในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย แต่หากผู้ปกครองท่านใดต้องการให้เด็กกลับไปบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว เช่นอาจจะเพื่อช่วยเลี้ยงน้องหรือช่วยทำงานบ้าน ก็สามารถกลับบ้านได้

พลเอก ดาว์พงษ์ กล่าวย้ำว่า นโยบายการลดเวลาเรียน ไม่ใช่เพิ่งจะมาดำเนินการ หรือมีการบังคับให้ลดเวลาเรียนแต่อย่างใด แต่ สพฐ.ได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา มีการหารือเกี่ยวกับการลดวิชาเรียนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อหลักสูตร ตลอดจนมีการวางแนวทางการดำเนินงานไว้เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำลังจัดทำแนวทางกิจกรรมเพื่อส่งไปยังโรงเรียนนำร่องจำนวนประมาณ 3,500 โรงเรียน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั้งหมด เพื่อทดลองใช้เป็นแนวทางดำเนินการ ตั้งแต่ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 เป็นต้นไป จากนั้นจะมีระบบประเมินผล หากพบว่าส่วนใดยังบกพร่อง ก็จะแก้ไขปรับปรุงเสียก่อนที่จะขยายผลต่อไป

[ads]

ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนว่า จะกำหนดรูปแบบตัวอย่างประมาณ 5-6 รูปแบบ เพื่อให้โรงเรียนนำร่องนำไปปรับใช้ตามบริบทและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน โดยใช้แนวคิด “สอนน้อย แต่เรียนรู้มาก : Teach Less Learn More” อาทิ

  • การทำการบ้านในโรงเรียน
  • การเรียนกับเพื่อนที่เก่งกว่า
  • การช่วยสอนเสริมเด็กที่เรียนไม่ทัน
  • การจัดกิจกรรมดนตรี กีฬา ศิลปะ 
    เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระดับสถานศึกษา ก็คงต้องรอประกาศแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง.

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.moe.go.th/websm/2015/aug/281.html

รูปประกอบจาก Kapook.com

 

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: