เวิลด์แบงก์-IMF แนะไทยใช้เกณฑ์แบงก์พาณิชย์คุม “สหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน” ลดความเสี่ยงของระบบการเงิน





นิตยสาร ‘BOT MAGAZINE’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ยกระดับการกำกับดูแลภาคการเงินไทย ด้วยการประเมินสุขภาพทางการเงิน FSAP’ ตอนหนึ่งว่า ผลการประเมินภาคการเงินของไทย เช่น ภาคการธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคธุรกิจประกันภัย และโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สำคัญ ตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ในปี 2561-62 พบว่า “ภาพรวมสุขภาพการเงินของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก”

โดยผลการประเมินด้านการกำกับดูแลภาคการธนาคาร พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงเข้มแข็ง มีเงินกองทุน และสภาพคล่องสูง การกำกับดูแลของ ธปท. มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรการการดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบด้านต่างๆ รวมถึงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ และอยู่ในระดับดีมากเทียบเคียงกับสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย

เช่นเดียวกับผลการประเมินระบบบาทเนต (BAHTNET) หรือ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินและสถาบันที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท. ในลักษณะ Real-Time Gross Settlement (RTGS) พบว่า มีความมั่นคงปลอดภัย มีการดำเนินการและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลในระดับสูง และการทำทำหน้าที่ความรับผิดชอบของ ธปท. อยู่ในระดับดีมาก

ส่วนการประเมินด้านการกำกับดูแลตลาดทุนและการประเมินด้านประกันภัยที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับดีถึงดีมาก และเทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ สะท้อนให้เห็นถึงการกำกับดูแลที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ผลประเมินที่ออกมาจะเป็นที่น่าพอใจและสะท้อนการทำหน้าที่ของผู้กำกับดูแลได้เป็นอย่างดี แต่ผู้ประเมินได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การพัฒนากรอบกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝากให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้พิจารณานำกฎเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้กับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ผู้ประเมินยังเสนอว่า ไทยควรพิจารณาขยายการใช้มาตรการเชิงป้องกัน ( macroprudential policy) ไปยังสถาบันการเงินอื่น เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมถึงพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งก็สอดคล้องกับการดำเนินการของ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน

สำหรับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP ปี 2561-62 ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ได้เข้ามาประเมินและทบทวนผลการประเมินพัฒนาการของระบบการเงินไทยในหลายด้าน หลังจากเข้ามาประเมินตามโครงการดังกล่าวครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปี และปัจจุบันประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ต้องเข้ารับการประเมิน FSAP ทุก 5 ปี และประเทศอื่นๆ ทยอยสมัครเข้ารับการประเมินอย่างต่อเนื่อง

“ในระยะต่อไป ธปท. จะติดตามและประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้ามากขึ้น เพื่อสามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต และเห็นถึงความเชื่อมโยงของความเสี่ยงใหม่ๆ เพื่อกำหนดนโยบายรองรับได้อย่างเท่าทัน ซึ่ง ธปท. จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล เรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆให้เหมาะสม” บทความระบุ

บทความฉบับเต็ม : https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256206theknowledgeFsap.aspx

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: