หมอแชร์ประสบการณ์! ปมข่าวดังแย่งห้องผ่าตัด เผยพยาบาลน่าเห็นใจ “ส่วนมากยอมเข้าเคส ยืนเหนื่อยๆหลายชม. ดีกว่านั่งรับคิวผ่าตัด” ยอมรับ ปัญหานี้ยังถูกซุกใต้พรม แก้ยาก





จากกรณีข่าวแย่งห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งบทสรุปก็คือ ถูกย้ายทั้ง 2 ฝ่ายนั้น

เพจการแพทย์ชื่อดัง OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด แสดงความคิดเห็นและประสบการณ์ถึงกรณีดังกล่าวดังนี้

หมอ VS พยาบาลห้องผ่าตัด

ตอนแรกกะว่าจะไม่เขียนล่ะ ขอเขียนซะหน่อย เพราะกระแสสังคมต่อเรื่องนี้ค่อนข้างแรงพอสมควร

1. พยาบาลจัดคิวห้องผ่าตัด มีหน้าที่อย่างไร
แต่ละโรงพยาบาลอาจมีระบบไม่เหมือนกัน เช่น โรงพยาบาลที่ผมอยู่ ก็จะมีคิวผ่าตัดประจำแต่ละห้องของหมอแต่ละคน แต่หลายครั้งห้องผ่าตัดไม่พอ โควต้า 1 ห้องมักจะมีหมอหลายคน หรือบางกรณีมีเคสฉุกเฉินเร่งด่วน พยาบาลก็จะทำหน้าที่ประสานงานกับแพทย์ เช่น ขอเอาเคสนี้เข้าก่อน ขอให้หยุดเคสนี้ไว้ก่อน เป็นต้น โดยเฉพาะตอนนอกเวลายิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่ ห้องผ่าตัดเปิดได้ 2-3 ห้อง บางที่หลังเที่ยงคืนเปิดได้ห้องเดียว เกิดมีเคสมาพร้อม ๆ กัน ก็ต้องเรียงลำดับตามความสำคัญ พยาบาลนี่แหละคนรับหน้าเสื่อเลย ทำดีเสมอตัว ไม่ถูกใจใครเมื่อไหร่ก็โดนเละ

2. ในแต่ละวันมีคนอยากมาทำหน้าที่นี้หรือไม่
ตอบเลยว่า “ไม่” เท่าที่ผมเคยถาม เขาจะอาศัยการหมุนวนคนละสัปดาห์ ถามว่าทำไม คำตอบคือ แบ่ง ๆ กับรับความกดดันไป ส่วนใหญ่จะชอบเข้าเคส ต่อให้ยืนเหนื่อย ๆ หลายชั่วโมงก็ยอม ดีกว่ามานั่งรับโทรศัพท์จากแพทย์ โดนกดดันทั้งทางโทรศัพท์และต่อหน้า ทั้งทางวาจาและกิริยา (มีไม่เยอะ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า มี เพราะหมอก็คือปุถุชนธรรมดานั่นแหละ) แต่ที่จริงคือ หมอส่วนใหญ่มักจะดี คุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าวัน ๆ นึงเจอไม่ดีสัก 1-2 ครั้ง ก็นอยด์ไปทั้งวันล่ะครับ

3. ผมเองเคยทะเลาะ ถกเถียงกันหรือไม่
ตอบคือ เคย เพราะเราทำงานด้วยกัน ก็มีความเห็นไม่ตรงกันเป็นธรรมดา เพราะเวลามีเคสมาแล้วห้องผ่าตัดมีจำกัด แต่ละคนก็จะมองว่าเคสของตัวเองเร่งด่วนกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คุยกันด้วยเหตุผล ส่วนมากมักตกลงกันได้ คิดซะว่าที่เรามาเถียงกัน ก็เพราะผลประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก หลัง ๆ ผมจะคิดไว้ในใจเสมอ “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำงานร่วมกันให้ได้กับทุกฝ่าย” หลักสั้น ๆ แต่ใช้ได้ดีเสมอ

4. เคยถูกเคสฝากแซงคิวหรือไม่
ตอบ เคย บางทีก็ต้องแกล้งทำเป็นถามก่อนว่าเคสนี้เคสอะไร ด่วนไหม ทางอีกฝ่ายยืนยันว่าด่วน ผมบอกผมด่วนกว่าเพราะความดันเริ่มตก ขอทำก่อน เดี๋ยวให้ห้องผ่าตัดประสานขอทีมเสริม ก็ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไร งั้นรอได้ (คิดในใจ อ้าว ตอนแรกไหนบอกว่าด่วน กะเอาสะดวกเวลานี้นี่นา)

มีครั้งหนึ่งตอนไปวนสมัยเทรนเฉพาะทาง มีเคสฝาก set ไว้ 6.00 น. บอกด่วนมาก พี่พยาบาลแกเหมือนรู้ว่าคนที่ set จะรีบทำเสร็จแต่เช้าเพื่อไปเปิดร้าน แกบอกเคสผมด่วนกว่า หมอรอสักหน่อยได้ไหม ปรากฏว่าอีกฝ่ายบอก ได้ งั้นมาทำ 2 เคสทีเดียวตอนเที่ยงเลยละกัน (ผมนึกในใจ อ้าววววววววว ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า)

มีครั้งหนึ่งเคยผ่าตัดที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ผม set ผ่าไส้ติ่งพร้อมกับเคสฝากพิเศษ ผู้ช่วยแย่งกันไปเข้าอีกห้อง และมาบอกผมว่า “หมอ คราวหลังหมอดูตัวอย่างหมอคนนั้นสิ ถือน้ำเต้าหู้ ถือของกินมาเพียบ เอามามั่งสิจะได้มีคนอยากไปช่วย” ผมนึกในใจ ก็นั่นมาทีได้ 7-8,000 นี่นา ส่วนผมทำในเวรได้ 800 ค่าข้าวเย็น + เลี้ยงน้อง ๆ ก็จะหมดล่ะ

5. โรงพยาบาลรัฐบาลจะไม่ให้มีเคสฝากได้หรือไม่
ตอบ เป็นไปได้ยาก ตราบใดที่เรายังเชื่อผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นฤกษ์ยาม หรือบางทีคิดไปเองว่าการผ่าคลอดดีกว่าการคลอดธรรมชาติ ไม่ว่าจะมีตำราอ้างอิงอย่างไร ถ้าคนที่ใจอยากจะให้หมอผ่าก็จะพยายามหาเหตุผลต่าง ๆ นานามาเข้าข้างตัวเองสารพัดเพื่อให้ผ่าคลอดกับหมอที่คิดว่าเชื่อใจได้

ผมยังเคยคิดเล่น ๆ อยากทำงานวิจัยสักชิ้น เปรียบเทียบเด็กที่เกิดตามฤกษ์กับเกิดโดยธรรมชาติ ว่า 20 ปีผ่านไป มีความแตกต่างกันใน 2 กลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในแง่ใดบ้าง

6. เคสฝากมีผลต่อเคสปกติหรือไม่
ตอบ มีแน่นอน หลายครั้งเคสที่เคสฉุกเฉินควรจะได้รับการผ่า ก็ถูกเลื่อนออกไป 1 นาทีที่เลื่อนล้วนมีผลต่อชีวิตผู้ป่วยทั้งนั้น

เผลอ ๆ ที่คิดว่าฤกษ์ดีของท่าน อาจจะไปเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ เป็นบาปตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ได้นะครับ

7. จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ตอบ ผมคิดว่าเคสฝากยังไงก็ต้องมี ควรพบกันครึ่งทาง เอาแบบแฟร์ ๆ คือ สมมุติคนไข้จ่ายค่าฝากพิเศษ 7,000 หมอก็รู้อยู่แล้วว่าจะผ่าวันไหน ก็ไป set ทีมมานอกเวลาราชการ และประสานห้องผ่าตัด แบ่งเงินส่วนหนึ่งให้ทีม และส่วนหนึ่งให้โรงพยาบาล จ่ายค่าเช่าสถานที่และอุปกรณ์ตามกฎ หรือไม่ก็ไปเช่าห้องผ่าตัดที่เอกชนไปเลยอันนี้แฟร์สุด ซึ่งต่างจากที่รู้ ๆ กันคือ รับเงินคนเดียวและใช้ทรัพยากรหลวงมาหารายได้ ยังไงก็ไม่แฟร์

หรือถ้าจะเอาแบบถูกกฎหมายจริง ๆ ก็ premium clinic แบบที่นิยมทำกันในหลายโรงพยาบาลเลยครับ นัดวันเวลากันมาผ่านอกเวลา ไม่กระทบใคร รายได้เข้าทั้งหมอ พยาบาล ผู้ช่วย และจ่ายค่าห้องผ่าตัดให้โรงพยาบาล

ปัญหาที่มีมายาวนานแต่ถูกซุกไว้ใต้พรม สุดท้ายเชื่อเถอะครับ ส่วนใหญ่แก้ไม่ได้หรอกครับ

8. ถ้าบางแห่งแถลงว่า ที่นั่นไม่มีการรับฝากพิเศษ
ตอบ สุดแล้วแต่คนจะเชื่อ และอาจเป็นไปได้จริง แต่ส่วนตัวผม ขออนุญาตไม่เชื่อครับ เพราะถือหลักกาลามสูตร

หมายเหตุ ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้เจาะจงที่ไหน หรือที่ที่ผมอยู่ ไม่มีเจตนาพาดพิงใคร แต่เล่าจากประสบการณ์รวม ๆ เพราะกว่าจะถึงวันนี้ ผมผ่านประสบการณ์ทั้งที่ไปวนและไปอยู่ประจำเกือบ 10 โรงพยาบาลแล้วครับ

ส่วนเรื่องในข่าว ขอไม่ออกความเห็นใด ๆ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ขอแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งพยาบาลและหมอรวมถึงผู้บริหาร ขอให้เรื่องจบลงด้วยดี
และที่สำคัญ ข่าวก็คือข่าว ซึ่งความจริงเป็นเช่นไรก็ให้เป็นไปตามกระบวนการครับ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: