ที่ประชุมคณะรมต.เศรษฐกิจ เผย ไทยยังสามารถส่งสินค้าไปขายที่อเมริกาได้ แต่ต้องรับภาระด้านภาษี1,500-1,800ล้านบาท





ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เศรษฐกิจ เห็นตรงกันว่า ไทยยังสามารถส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐอเมริกาได้ แต่จะต้องรับภาระด้านภาษี 1,500-1,800 ล้านบาท 

29ต.ค.62 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีความเห็นตรงกันว่าไทยยังสามารถส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐอเมริกาได้ เพียงแต่เมื่อถูกตัด gsp จะทำให้มีภาระด้านภาษี ประมาณ 1,500 – 1,800 ล้านบาท โดยผลจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งนี้ยังมีช่องทางที่จะให้สหรัฐฯทบทวนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสานไปยังทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันและทูตแรงงาน เพื่อหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา USTR ซึ่งคงจะมีคำตอบกลับมาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรในเร็วๆ นี้ โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วันนี้ได้มอบหมายให้ 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ หาลู่ทางยื่นให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องนี้

สำหรับทางออกในระยะยาว กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน(กรอ.) ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาคมผู้ส่งสินค้าออกทางเรือ ได้มีการเตรียมการสำหรับบุกตลาดต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งได้ข้อสรุปไปก่อนหน้านี้แล้วว่าเราจะร่วมกับภาคเอกชนในการเร่งรัดการส่งออกบุกตลาดใน 10 กลุ่มตลาดใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ เอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งตุรกี เยอรมนี อังกฤษ และอีกหลายตลาดในสหภาพยุโรป สำหรับประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา จะลงลึกไปถึงรายรัฐ เพราะมีศักยภาพและความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยจะต้องพยายามเจรจาให้สหรัฐอเมริกาเกิดความเข้าใจว่า บางเรื่องเราทำได้หรือไม่ได้ เช่น การเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย ก็เป็นหน้าที่กระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้ไปชี้แจงทำความเข้าใจ ว่าเราอยู่ในสถานะที่ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร หรือเรื่องอื่นๆ ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละกระทรวงที่จะทำความเข้าใจ

ข่าวจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: