ราชาเงินผ่อนสะอื้น! แบงก์เตรียมเบรก “ผ่อน0% หลายเดือน” ผ่อนมือถือ-เที่ยวก็โดน!





สมาคมธนาคารไทย เตรียมทยอยลดโปรโมชั่นผ่อน 0% โดยเฉพาะเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง 0% ผ่อนมือถือ 0% สกัดการสร้างหนี้เกินตัว…

 

จากกรณีที่หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยของรายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าใช้จ่าย และด้วยสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีและความทันสมัยของนวัตกรรมต่างๆ จึงทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

 

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักถึงการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยล่าสุด ได้มีการลงนามระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับนโยบายการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบไปแล้ว และจะร่วมกันไม่สนับสนุนสร้างหนี้โดยไม่มีความจำเป็น

 

“โดยเฉพาะโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อความสุขสำราญ เช่น การเที่ยวก่อนจ่ายทีหลัง โดยให้ผ่อน 0% 6 เดือน และการผ่อนโทรศัพท์มือถือ 0% 10 เดือน และ 24 เดือน ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น” นายปรีดี กล่าว

 

“ธนาคารพาณิชย์จะอนุมัติสินเชื่อโดยดูวัตถุประสงค์ของการใช้เงินมากขึ้น หากเป็นการก่อหนี้เพราะมีความจำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ธนาคารก็พร้อมที่จะอนุมัติเพื่อช่วยเหลือลูกค้า โดยเชื่อว่าการคัดกรองเช่นนี้ น่าจะเป็นผลดี และสามารถลดภาวะการก่อหนี้ครัวเรือนได้ ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ใดมีความพร้อมก็สามารถทำได้ทันที” นายปรีดี กล่าว

 

นายปรีดี เปิดเผยกับทีมข่าวว่า “สินเชื่อบางประเภทที่ให้อัตราดอกเบี้ย 0% ยังสามารถทำได้ตามปกติ เพราะการให้อัตราดอกเบี้ย 0% ของสินเชื่อบางประเภท ถือเป็นการช่วยเหลือลูกค้าและลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อความจำเป็น”

 

ขณะที่ แนวทางในเรื่องนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสินเชื่อแต่ละประเภท ส่วนในแง่ผลกระทบในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อนั้น อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนลดลงได้

 

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ 78.7% ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยแบ่งเป็น กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 34% หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 33% หนี้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 18% หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 12% และหนี้บัตรเครดิต 3%

 

“ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่ายังเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ แต่หากหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 84% จะถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบค่อนข้างมาก” นายปรีดี กล่าว.

ข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: