อย่าเพิ่งชอบหรือเกลียดที่ผมเป็นหลานอภิสิทธิ! เปิดใจ ‘ไอติม พริษฐ์’ ทิ้งเงินเดือน3แสน มาเป็นนักการเมืองเลือดใหม่





 

บทความโดย : ไทยรัฐออนไลน์

เป็นอีก 1 บุคคลที่ถูกจับตา ในฐานะ “นักการเมืองหน้าใหม่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สาวๆ หลายคนกำลังกรี๊ด เพราะท่าทาง ลีลา แม้แต่หน้าตาละม้าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นอย่างยิ่ง

เขาคนนั้นคือ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NEW DEM ของพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศ และวันนี้ “การเมือง The Series” จะเข้ามาเจาะลึกแก่นความคิดของเด็กหนุ่มวัย 25 ปี ผู้กล้าเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

 

 

หนุ่มนักเรียนนอก แต่นอนร้องไห้คิดถึงบ้าน โชคดีสอบชิงทุนได้ ไม่งั้นคงไม่ได้เรียนที่อังกฤษ

ก่อนจะเข้าเรื่องการเมืองอย่างเต็มตัว เราจะพาไปรู้จักเด็กหนุ่มวัย 25 ปี ที่ชื่อ พริษฐ์ วัชรสินธุ กันก่อน โดยหนุ่มไอติม ได้ย้อนเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็ก และจุดหักเหในชีวิตที่ทำให้สนใจเรื่องการเมืองว่า

พ่อแม่ผมเป็นหมอจุฬาฯ จึงให้เราเรียนที่สาธิตจุฬาฯ ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะต้องไปเรียนต่างประเทศ แต่ช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่ส่งไปเรียนซัมเมอร์ที่อังกฤษ ผมร้องไห้มาก คิดถึงบ้าน ภาษาก็ไม่ได้.. ภาษาเดียวที่คุยกันรู้เรื่องคือภาษาบอล ต่อมาก็ได้รับคำแนะนำให้ไปลองสอบชิงทุนดู ผมก็ลองไป..ไม่เคยคิดว่าจะได้ เพราะหลักสูตรที่เรียนต่างกัน เพราะคนอื่นๆ มาจากโรงเรียนในอังกฤษหมด เขาเรียนทั้งอังกฤษ ละติน ฝรั่งเศส แต่ที่น่าสนใจคือ เขาให้ทุน 15 คน/ปี

“โรงเรียนนี้ (Eton College) เขาไม่ต้องการให้คุณเก่งปานกลางทุกอย่าง แต่เขาอยากให้คุณฉายแสงเก่งด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมีข้อสอบเชาวน์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเราเข้ามาได้ยังไง ซึ่งถือเป็นความโชคดีมากที่ได้เรียน เพราะหากไม่ได้ทุนก็ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง”

หนุ่มไอติม เล่าต่อว่า ต่อมาเราไปเรียน ด้านปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ (มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด) ส่วนตัวชอบวิชานี้ เพราะวันหนึ่งอาจจะเรียนปรัชญา เช่นรู้ได้ยังไงว่าคุณไม่ได้ฝัน หรือยกตัวอย่าง เช่น คุณไปขโมยเงินคนรวยเพื่อช่วยคนจน คุณทำสิ่งที่ถูกหรือผิด เป็นต้น แต่พออีกวัน ก็มาเรียนเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วมีความชอบด้านนี้ และสนใจในบ้านเมืองตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนั้นเรียนที่อังกฤษ เราเห็นว่าประเทศไทยกับอังกฤษมีความคล้ายกันมาก ทั้งประชากร พื้นที่ ประวัติศาสตร์ ระบบการปกครองเหมือนกันเลย แต่สิ่งที่แตกต่างมากคือ “ความเหลื่อมล้ำ”

หากถามคนในอังกฤษ ว่าจะเรียนที่ไหน คำตอบคือ เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ในประเทศไทย พอโรงเรียนมีชื่อเสียงเปิดรับสมัคร คนแห่มาจำนวนมาก เวลาไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ จะพบคนจำนวนมากที่ยอมเสียเงินเพื่อมารักษาที่โรงพยาบาลนี้

เราจะเห็นว่า โอกาสทางการศึกษาของ 2 ประเทศนี้แตกต่างกันมาก หากคุณเกิดในครอบครัวร่ำรวย หรือในกรุงเทพฯ โอกาสในชีวิตคุณอาจจะมากกว่าคนอื่น

 

 

ทิ้งเงินเดือน 3 แสน มาทำงานการเมือง เผยปรัชญาชีวิตคือคำถามว่า ทำไม!?

หนุ่มนักเรียนนอก ดีกรีปริญญาโท สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงช่วงชีวิตหลังเรียนจบว่า ที่ผ่านมา เคยไปทำงานบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ในต่างประเทศ และมีโอกาสได้ไปทำงานหลายประเทศ โดยเราไปช่วยเขาคิดนโยบายแก้ปัญหาให้ประเทศต่างๆ เช่น บางประเทศช่วยเขาคิดเรื่องการรณรงค์ทำยังไงให้คนขึ้นรถเมล์ บางประเทศช่วยเขาคิดเรื่องการท่องเที่ยว ดังนั้น ทุก 2 เดือน ผมจะเปลี่ยนโปรเจกต์ เราก็มาคิดว่าทำไมเราไม่กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมกลับมาโดยเงินเดือนสุดท้ายที่ได้คือ 3 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ชีวิตผมไม่เคยตัดสินใจอะไรเพราะเรื่องค่าตอบแทน

เมื่อกลับมาเมืองไทย สิ่งแรกที่ทำคือ การไปทำรายการทีวี ซึ่งเป็นรายการเจาะอาชีพคนในสังคม ซึ่งทำให้เราทราบถึงปัญหาของอาชีพต่างๆ เช่น คนขายลอตเตอรี่ คนขับวินมอเตอร์ไซค์ แม่ค้า อดีตนักโทษ ซึ่งก็เป็นพรหมลิขิตของผม ที่ได้ไปเกณฑ์ทหาร ทำให้เราไปเจอกับเพื่อนหลายๆ คนจากหลายภูมิภาคทำให้เราได้เรียนรู้ปัญหา

คำที่สำคัญที่สุดในปรัชญาชีวิตผมคือ คำว่า “ทำไม” อะไรที่ไม่เข้าใจต้องถาม เช่น ทำไมต้องมีการเกณฑ์ทหาร ทำไมชายไทยต้องเกณฑ์ทหาร แต่คนที่ไปเป็นทหารกลับไปตกกับคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อย ทำไมฝึกทหารต้องรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทำไมต้องดึงเยาวชนออกไป 2 ปี ทำให้เขาเสียรายได้หรือเปล่า เราต้องการกำลังพลเยอะขนาดนั้นจริงหรือเปล่า ส่วนหนึ่งทำไมถูกดึงไปเป็นทหารรับใช้ซึ่งไม่เกี่ยวกับความมั่นคง

“การที่ผมกล้าถามว่า ทำไมกับทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องเกณฑ์ทหาร หากเราปรับมาในระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะไม่กระทบความมั่นคง ทหารก็ไม่ได้เสีย เพราะผมเสนอเพิ่มสวัสดิการ ลดความรุนแรงออกจากค่าย ประชาชนที่ไม่อยากเป็นทหารก็ไม่ได้เสีย คืน 2 ปีให้เขาไปอยู่กับคนที่รัก”

 

 

ชงรีดไขมันกองทัพ เผยตัวเลขทหารเกณฑ์ไม่ควรเกิน 7 หมื่นคน ทหารรับใช้ ความรุนแรงในค่ายต้องไม่มี

คนหนุ่มไฟแรง จากพรรคประชาธิปัตย์ เน้นย้ำว่า แม้จะบอกว่า หน้าที่ชายไทยต้องเกณฑ์ทหาร คนรวยคนจนต้องเกณฑ์ทหารจริงหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่า “ไม่จริง” บางคนได้เรียน รด. บางคนได้ใบดำ ไม่ใช่เพราะ “โชค” ด้วยเหตุนี้ภาระรับราชการทหารจึงไปตกกับคนที่มีโอกาสน้อยว่า

ปัจจุบันทหารรับสมัครปีละมากกว่า 100,000 ราย จริงๆ แล้ว แต่จากที่ได้ศึกษาตัวเลข โดยนับอัตราทหารคำนวณกับจำนวนประชากร ซึ่งประเทศเรามีตัวเลขทหารสูงเทียบเท่ากับเกาหลีใต้ แต่เกาหลีใต้เขามีเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม เทียบเท่ากับสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ดังนั้น อัตราทหารจึงจำเป็นต้องมีมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอัตราใกล้เคียงกับไทยที่มีภัยคุกคามไม่มาก เราพบว่าประเทศไทยมีอัตราทหารสูงกว่าความเป็นจริง 30-40%

ดังนั้นตัวเลขความเป็นจริงของทหารในประเทศเราควรจะอยู่ที่ 60,000 – 70,000 คน หากจะลดเราก็ควรเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เช่น พลทหารรับใช้ พบว่ามีอยู่จริง ผมไม่รู้ว่ามีตัวเลขเท่าไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในอนาคตภัยคุกคาม อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในสนามรบเป็นส่วนใหญ่อีกแล้ว มันจะเกิดในรูปแบบการเมือง เศรษฐกิจ

ไอติม เปรยว่า ตอนเป็นทหารมีผู้กองคนหนึ่งพูดกับผมว่า “ไม่รู้จะฝึกวิ่งถือปืนไปทำไม เดี๋ยวนี้ผมกดปุ่มเดียวพวกคุณก็ตายหมดแล้ว” ซึ่งมันก็จริง การสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง ซึ่งตรงนี้สำคัญกว่าเรื่องเกณฑ์ หรือไม่เกณฑ์ทหารอีก อาจจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงกว่าการมีทหารเยอะ ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะมีทหารที่สมัครใจกว่า 50,000 คน ซึ่งก็ยังไม่พอ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตพลทหาร

“ถ้าเอาทหารสมัครใจเข้ามา ควรจะได้รายได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ได้สวัสดิการครอบคลุม ถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะให้ความสำคัญ ในอนาคต สมมติว่าเอาทหารทุกคนมาเรียงแถวกัน ก็ไม่ควรจะมีแต่คนที่มีโอกาสในชีวิตน้อย แต่ต้องเป็นคนในทุกสถานะ”

 

 

ทายาททางการเมือง กับ คำนำหน้า “หลานนายอภิสิทธิ์”

การเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ เป็นทายาททางการเมือง สร้างความกดดันให้กับนายไอติม บางไหม นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ตนเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ ไม่เคยมีผลกระทบกับชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ไปเรียนที่อังกฤษ ทำงานที่บริษัทต่างประเทศ ไม่เคยมีใครรู้ว่าเป็นลูกหรือหลานใคร

“แต่สำหรับการเมือง การเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ บางครั้งทำให้คนชอบ หรือไม่ชอบเราเร็วเกินไป ผมอยากจะบอกว่าของแบบนี้ต้องพิสูจน์ด้วยเวลา ผมไม่เคยพูดเลยว่าผมเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ ไม่เคยใช้เป็นเครื่องมือผลักดันตัวเองเลย ถามว่าอยากให้จำผมยังไง คือ อยากให้จำว่าผมคือ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” นักการเมืองหน้าใหม่คนหนึ่งของประเทศ ที่อาสาเข้ามา ไม่ต้องจำด้วยซ้ำว่าผมเป็นใคร นามสกุลอะไร อยากให้จำผมจะทำอะไรให้กับประเทศ ผมจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความหลากหลาย พัฒนาระบบการศึกษา”

แต่ไม่ว่าวิธีการพูด หรือแม้กระทั่งหน้าตา ก็คล้ายคุณอภิสิทธิ์ มากเลย นายพริษฐ์ (อมยิ้ม) พร้อมบอกว่า “ผมเปลี่ยนหน้าตาตัวเองไม่ได้”

หนุ่มไอติม เล่าพลางใบหน้าเปื้อนยิ้มก่อนบอกว่า “ผมจะเล่าเรื่องตลกให้ฟังเรื่องหนึ่ง ผมเป็นคนสายตาสั้นมาก มีวันหนึ่งมีอาการเคืองตามากก็เลยใส่แว่น บังเอิญไปเจอคุณอภิสิทธิ์ ก็ทัก 
“อ่าว..สายตาสั้นเหรอ” 
“อ๋อ..ครับ สายตาสั้นมานานแล้ว” 
“น่าจะใส่แว่นตั้งนานแล้วนะ จะได้ไม่โดนหาว่าหน้าเหมือน” 
นายพริษฐ์ เล่าพลางหัวเราะ..

“มันไม่กดดันหรอก จะขอเวลาพิสูจน์ บางคนชอบผมเร็วไปแต่ผลงานที่ทำไม่ดี เขาก็หยุดชอบ หรือคนที่ไม่ชอบผมเพราะไม่ชอบคุณอภิสิทธิ์ แต่เห็นผลงานผมดี เขาอาจจะหันกลับมาชอบเราก็ได้ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อยากให้คนจำผมในสิ่งที่ผมจะทำ”

ประชาชนจะได้อะไร จากที่เขาเป็นลูกหลานใคร.. ไม่ได้นะครับ สิ่งที่เขาจะได้คือ เราจะเสนอนโยบายอะไร จะสู้เพื่อคุณยังไงต่างหาก

 

 

ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แก้เศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มหลากหลาย

เมื่อถามหนุ่มนักการเมืองหน้าใหม่ ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศในขณะนี้ควรแก้เรื่องใดก่อน เขาจำแนกออกเป็นข้อๆ คือ 3 ข้อ คือ 1. ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ 2. แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3. เพิ่มความหลากหลายในสังคม

ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

ที่ผ่านมาเราไม่เคยไปถึง มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยฟังสิทธิ์และเสียงของประชาชน แทนที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้ง ถึงแม้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบจะเริ่มต้นที่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่มันไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่เราต้องเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้วย สิ่งที่ประชาชนขัดข้องใจ คือ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้เลือกตั้ง แต่เขาไม่พอใจอะไรเขายังแสดงออกอย่างเสรีไม่ได้เลย

อำนาจกระจุกอยู่ที่ศูนย์รวม หากมีประเด็นอะไรที่ขัดข้องใจ อาจจะไม่ต้องพูดว่าคดีอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนาฬิกา..ก็ว่าไป คนรู้สึกว่าระบบการตรวจสอบไม่เพียงพอ ดังนั้น ควรจะกลับไปที่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง ต้องเคารพเสียงข้างมาก รักษาสิทธิมนุษยชนของทุกคนและมีกลไกการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน

แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ

“ต้องยอมรับว่า นอกจากที่เราเสียประชาธิปไตยไปแล้ว รัฐบาลนี้ยังล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ อย่างแรกคือ เกษตร เราต้องกลับไปประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยที่ไม่ได้ประกันราคาหรือเป็นการทำลายกลไกตลาด

แนวคิดของรัฐบาลนี้มีการแก้ปัญหาคนจนที่แปลกอยู่ อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผมถามง่ายๆ ถ้าคุณแคร์คนที่ยากจนจริงๆ คุณจะออกแบบโครงการที่บังคับให้เขาซื้อบางร้านทำไม ถ้าใช้ไม่หมดเก็บออมไม่ได้ทำไม คุณออกแบบโครงการที่ต้องเสียงบประมาณ เช่นการสร้างบัตร เสียเงินไปกับเครื่องอ่านบัตรทำไม

“การลดความเหลื่อมล้ำนอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว จำเป็นต้องปรับโครงสร้างในอนาคต โดยโครงสร้างที่สำคัญตัวหนึ่งที่ฟังดูไกลตัว แต่จริงๆ แล้วใกล้มาก คือ ตัวชี้วัดที่เรียกว่า GDP พูดง่ายๆ คือ การบวกรายได้ของคนในประเทศมารวมกัน รัฐบาลภูมิใจมาก GDP ขึ้น 3-4% แต่เมื่อลงไปคุยกับคนทั่วไป บอกว่าขายไม่ค่อยดี เงียบกว่าหลายปีที่ผ่านมา แบบนี้เรียกว่าต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง.."

 

 

นายพริษฐ์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สมมติว่า “คนรวยที่สุดในประเทศไปขโมยเงินคยจนที่สุดในประเทศ 1,000 บาท ซึ่ง GDP จะยังคงเหมือนเดิม เพราะ GDP ไม่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ หรือ มลพิษทางอากาศแย่มาก จนต้องไปซื้อหน้ากากมาปิดหน้า แบบนี้ GDP ดีขึ้นนะ เพราะมีการใช้จ่าย แต่คุณภาพชีวิตผมจะเป็นอย่างไร

“GDP ไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของคน ตราบใดที่รัฐบาลที่เลือกจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการตาม GDP เราก็จะไปเป้าหมายผิดตลอดเวลา”

แพ้มาตลอด ประชาธิปัตย์ ถูกปรามาส นักการเมืองรุ่นใหม่วิเคราะห์พรรคเก่าแก่

ในฐานะของคนรุ่นใหม่ จะมีส่วนช่วยยังไงในการปรับภาพลักษณ์ ที่ผ่านมามักถูกมองว่าแพ้ไม่ได้ หรือแพ้เลือกตั้งมาตลอด “ไอติม” เด็กหนุ่มไฟแรง ตอบว่า เราต้องวิเคราะห์ตัวเอง ไม่มีใครปฏิเสธว่าผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราคาดหวังเกินกว่าสิ่งที่เราได้รับ

ทุกพรรคการเมืองต่างก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากจะได้รับคะแนนเสียงข้างมาก หรือเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่เมื่อเราไม่ไปถึงจุดนั้น เราก็ต้องย้อนมองดูตัวเองเพื่อจะปรับปรุง การที่ตนเข้ามาใช่ว่าจะมาซึมซับสิ่งที่เคยเป็นอยู่แล้วดำเนินการต่อไป แต่เราต้องการมาช่วยทั้งตัวเอง คนรุ่นใหม่ และคนที่เคยอยู่มาก่อน มาช่วยกันปรับ ประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคใหม่

1. ต้องหนักแน่นเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย คือ ประชาธิปไตยที่มาจากเสรีที่เป็นธรรม เคารพเสียงข้างมาก โดยมีกระบวนการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

2. สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วม ก้าวแรกที่สำคัญมากของ ประชาธิปัตย์ เปิดให้สมาชิกทั่วประเทศ เลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง ตอนนี้เป็นพรรคแรกในประวัติศาสตร์และพรรคเดียวที่ทำแบบนี้ได้

“7 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งปี 2554 ประเทศแทบจะไร้พรมแดน การแข่งขันระหว่างประเทศสูงขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพิ่มทั้งโอกาสและความเสี่ยง สังคมกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้น ปัญหาที่เคยมันอาจจะแตกต่างจากในอดีต เราต้องแข่งขันกันที่นโยบายว่าของใครจะตอบโจทย์คนยุคใหม่มากกว่ากัน ซึ่งทางประชาธิปัตย์ ได้ตั้งองค์กรชื่อว่า สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมด้วย เป็นเหมือนองค์กรที่เชื่อมโยงกับนักวิชาการ เพื่ออิงหลักวิชาการมากขึ้น”

 

 

หัวหน้าพรรคคนเก่า ประชาธิปัตย์จะแตกต่างจากเดิมจริงหรือ?

ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มีการเลือกหัวหน้าพรรค แต่คนที่ได้ก็ยังเป็นคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นคนเดิม แบบนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในพรรคได้แค่ไหน..

ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NEW DEM กล่าวว่า หากคุณเป็นนักประชาธิปไตย คุณก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่ได้นายอภิสิทธิ์กลับเข้ามา ต้องเคารพเสียงสมาชิกที่สะท้อนมาแล้ว

ถามว่าใหม่ยังไง เชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์ ที่ผ่านกระบวนการเลือกหัวหน้า แตกต่างจากสมัยก่อน เพราะสมาชิกเลือกให้เขามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ฉะนั้น เขาต้องมีการพบปะพูดคุยกับสมาชิก ซึ่งมีการแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งมีความแตกต่างจากสมาชิกคนอื่น ซึ่งถือว่ามีความชอบธรรมที่วาระที่เขานำเสนอมา เป็นวาระหลักของพรรคในทิศทางที่เขาอยากจะพาพรรคไป

ที่ผ่านมา มีคนปรามาสหรือไม่ที่มีการนำเสนอนโยบาย เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ หรือกัญชา นักการเมืองหนุ่ม หน้าใส ตอบอย่างหนักแน่นว่า ถ้าผมพูดแค่ว่า อยากยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วจบแค่นั้น เชื่อว่าคนในพรรคก็ไม่เอา

แต่ถ้าบอกว่ายกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ แล้วนำเสนอตัวเลขที่ชัดเจน เสนอรายละเอียดว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างไร ใครจะได้ ใครจะเสีย ผมเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายพรรคจะเอาไปพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันไปเป็นนโยบายหลักของพรรค การนำเสนอ นโยบายหนึ่ง ถึงแม้จะพูดเหมือนกัน พาดหัวเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ที่รายละเอียด

สำหรับตน ตนใช้ 2 เกณฑ์ในการวัดนโยบาย คือ 1. ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างไรบ้าง 2. ทำได้จริงหรือไม่

ทุกครั้งที่จะร่างนโยบาย เราจะคิด 2 เรื่องนี้ก่อน ทุกนโยบาย ไม่ว่าเรื่องเกณฑ์ทหาร สิทธิสตรี หรือกัญชา ถ้าผมไม่มีคำตอบ ในหลักเกณฑ์การวัดนโยบาย ตนจะไม่กล้าไปนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการนโยบายแน่นอน เพราะผมรู้ว่างานทางการเมือง เป็นงานที่มีความรับผิดชอบสูง เราแบกรับภาระของชีวิต 60-70 ล้านคน มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มาพูดอะไรเกาะกระแสเพียงอย่างเดียวมันไม่ได้ แบบนี้มันเป็นการไม่รับผิดชอบ

เราจะตอบคนที่เข้ามาคอมเมนต์อย่างไร.. ว่า “อย่าดีแต่พูด..” นายพริษฐ์ ตอบว่า “ผมจะทำให้ดู การร่างนโยบายขึ้นมาก็คือการทำ แต่ถ้ามีโอกาสรับเลือกเข้าไปก็จะทำให้เป็นจริง”

 

 

“ความจริงเราเห็นคนรุ่นใหม่เยอะมาก เราจึงตั้งใจตั้งองค์กรคนรุ่นใหม่ (NEW DEM) ภายในพรรคเดียวกับคนรุ่นอื่นๆ และที่ผ่านมามักจะโดนคำถามว่า “คุณยังเด็กอยู่เลย คุณพูดขึ้นมาจะทำจริงได้หรือ” ผมเลยบอกว่า ขอพิสูจน์วัดใจกันไปเลยว่า ถ้าผมบอกว่าผมทำได้ภายใต้สถาบันที่เก่าแก่ หรือถูกมองว่าอนุรักษนิยมในประเทศ ก็โปรดเชื่อว่าผมทำได้ในระดับประเทศเช่นเดียวกัน นี่แหละครับเป็นบทพิสูจน์ของผม ผมทำที่นี่ได้ก็เชื่อว่าผมมีวิธีการทำในระดับประเทศเช่นเดียวกัน”

ความฝันของผม คือ อยากเห็นเด็ก 2 คน ที่เกิดในประเทศเรามีโอกาสเท่าเทียมกัน นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ต้น ถ้าเด็กคนไหนจะเก่งกว่า ต้องมาจากปัจจัยที่เขาควบคุมได้ เช่น ความสามารถ ความขยันขันแข็ง ไม่ใช่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ เกิดมาครอบครัวไหน จังหวัดไหน

“ส่วนตัวผมเห็นว่า นักการเมืองที่ดี ควรจะต้องมีความคิดเห็นเกี่ยวกับทุกด้าน หรือสงสัย หรือต้องการเรียนรู้เพื่อเข้าไปแก้ไขในทุกๆ ด้าน ผมว่ามันยากที่นักการเมืองจะดูแค่เรื่องเดียว เพราะปัญหาแต่ละอย่างในแต่ละประเทศมันเชื่อมโยงกัน”

ประชาชนเป็นเจ้านายผม ประชาชนมาก่อนพรรคการเมือง

มีคำพูดว่า “อำนาจ” ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง ทีมข่าวฯ ถามนักการเมืองหน้าใหม่อย่างไอติม ว่า อะไรที่จะทำให้เรายืนหยัดในหลักการของตัวเองได้ นายพริษฐ์ ตอบทันทีว่า ประชาชน เพราะประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าคุณควรจะทำหน้าที่ต่อหรือไม่ เพราะประชาชนเป็นเจ้านายผม ถ้าผมสัญญากับประชาชนว่าผมจะทำนโยบายหนึ่ง ถ้าประชาชนเลือกผม ผมก็ต้องทำนโยบายนั้นให้เป็นจริงให้ได้

ถึงแม้มติพรรคจะไปอีกทางหรือ..? นายพริษฐ์ ตอบว่า แม้จะสังกัดพรรคการเมือง แต่เจ้านายใหญ่ของผมคือ ประชาชน

ถึงแม้มีเรื่องอะไรที่มติพรรคขัดแย้งก็พร้อมจะยืนเคียงข้างหรือ นักการเมืองหนุ่มตอบว่า “ประชาชนต้องมาก่อนพรรคการเมือง”

ในอนาคต ประชาธิปัตย์จะทำงานกับเพื่อไทยได้ไหม นายพริษฐ์ กล่าวว่า มันขึ้นอยู่ที่นโยบาย มีหลายคนชอบตีความว่าประชาธิปัตย์จะไปกับนู้นนี่ แต่ประชาธิปัตย์เรามีนโยบายเสรีนิยมประชาธิปไตย ดังนั้น เราต้องดูที่ตัวตั้ง เราต้องดูแนวทางการทำงานที่ผ่านมา ของเพื่อไทย หรือ พลังประชารัฐ หรือ คสช. ทั้ง 2 ด้านนั้นแตกต่าง เราก็หวังว่าแนวทางที่เราจะเสนอตอบโจทย์

คำถามเบาๆ ทิ้งท้าย.. ไอติม ยังโสด ชีวิตรักเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี 

หลังจากถามเรื่องหนักๆ ความเข้มข้นเรื่องการเมืองไปแล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ก็ไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องหัวใจของหนุ่มนักการเมืองสุดฮอตคนนี้มาฝาก แค่เริ่มเอ่ยถาม เขาก็ตอบติดตลกทันที

“ส่วนตัวเชื่อในพรหมลิขิต ความรักของผมเหมือนประชาธิปไตย อย่างแรกคือ ความเสมอภาค เราจะไม่ทำอะไรกับเขา ในสิ่งที่เขาไม่อยากทำกับเรา คุณอยากจะทำอาชีพอะไร พบปะกับเพื่อนกลุ่มไหน ถือว่าเป็นสิทธิ แต่ที่ผ่านมาก็เหมือนประชาธิปไตยเกินไป ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปี…บางทีคิดว่ามีมาตรา 44 คงสบายกว่านี้” (หัวเราะ)

เมื่อถามสเปกสาว ไอติมถึงกับครุ่นคิด อึกอัก ตอบว่า “มันพูดยากมากเลย ต้องดูภาพรวม ส่วนตัวแล้วเชื่อในพรหมลิขิต ถ้าหากเจอคนที่ใช่เดี๋ยวมันจะมาเอง”

หากจะจีบผู้หญิงสักคนจะพูดยังไง นายไอติม ตอบว่า ผมเป็นคนพูดตรงนะ ฉะนั้น (หัวเราะ) ก่อนตอบว่าไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดของเขาหรือเปล่า

คลิกที่นี่เพื่อดูคลิปสัมภาษณ์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: