เงิน8แสนกับวาระสุดท้ายของแม่…หมอเล่าเรื่องคนไข้สุดซึ้ง แม่ไตวายระยะสุดท้าย ลูกทั้งสี่ลงขันหาเงินรักษาแม่ ‘แม่เป็นผู้ป่วยก็จริง แต่คนที่ป่วยมากกว่าก็คือลูกทุกคน’





 

27 ต.ค.61 เฟซบุ๊ก Kasiwat Sripradit ระบุข้อคิดจากการรักษาคนไข้รายหนึ่งซึ่งป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย โดยระบุข้อความว่า..

"All for the love of a mom  #BackToDrJeabMemory "หมอครับผมขอพาแม่ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ได้มั้ยครับ"…..เสียงจากโทรศัพท์ของชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยโทรมา ในตอนสายของวันอาทิตย์ปลายปี 2550

ในขณะที่ผมอยู่เวรนอกเวลาราชการ กำลังราวด์ผู้ป่วยในอยู่พอดี  เขาขอนำคุณแม่ของเขามารักษาตัวต่อ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอายุ 60 ปีเศษ ผมจึงแจ้งว่ายินดีรับไว้ เหมือนกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายอื่น ๆ  ประมาณสี่โมงเย็น พยาบาลได้ตามผมมารับดูแลผู้ป่วย ผมได้พูดคุยกับญาติ ที่มีประมาณ 5-6 คน ที่มาพร้อมกับผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยดูเหมือนนอนหลับ ค่อนข้างบวม มีสายระโยงระยางต่อกับขวดน้ำเกลือใหญ่น้อย 4-5 ขวด

บุตรชายที่ติดต่อมา ได้แนะนำตัว และส่งหนังสือส่งตัวของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาให้ ผมสังเกตว่าเขาเป็นกังวล และดูเป็นทุกข์มาก เช่นเดียวกับญาติคนอื่น ๆ ผมก็ได้อ่านหนังสือส่งตัวที่พิมพ์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีสำเนารายงานการรักษาอย่างละเอียด ผมก็พลิกดูเฉพาะที่สำคัญ เพราะว่าถ้าอ่านทั้งหมดคนใช้เวลาเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นผมก็ตรวจร่างกายผู้ป่วย…

พอตรวจเสร็จ ผมเชิญญาติทุกคนเข้ามาหา ผมเริ่มจากถามบุตรชายคนนั้นซึ่งตอนนี้ทราบว่าเป็นบุตรชายคนโต ของพี่น้อง 4 คน ว่า

"ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าต้องการให้ผมดูแลคุณแม่อย่างไร"ผมถามหยั่งเชิงความต้องการของญาติ

เขาก็คงแปลกใจ เพราะคำถามนี้ควรจะเป็นเขาถามผมมากกว่า พอหันไปหาญาติคนอื่น ทุกคนไม่พูดอะไร

"….ก็แล้วแต่คุณหมอก็แล้วกันครับ"เขาตอบกลับมา

ผมถามต่อไปว่า"ทราบใช่มั้ยครับว่า คุณแม่เป็นไตวายระยะสุดท้าย"…ทุกคนพยักหน้า

"ถ้าจะประคับประคองก็คงจะต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม" ผมเสนอทางเลือก

"ฟอกมาได้เกือบสองเดือนแล้วครับ แต่ว่าตอนนี้ครอบครัวคงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เลยขอย้ายออกมา พอดีแม่เคยมาตรวจกับคุณหมอเมื่อหลายปีก่อน เลยคิดว่าอาจจะพอช่วยพวกเราได้"เขาตอบกลับมา

"อ้อเหรอครับ แต่โรงพยาบาลผมไม่มีบริการฟอกเลือดนะครับ"ผมบอกข้อมูลสำคัญ…(โรงพยาบาลบ้านโพธิ์เพิ่งมีบริการจ้างเหมาฟอกเลือดในปี พ.ศ.2558)

พวกเขาก็ดูเหมือนผิดหวังเล็กน้อย ผมก็เลยถามต่อว่า

"แล้วตอนที่ไปโรงพยาบาลโน้น คุณแม่มีอาการเป็นยังไง"

"ก็นอนหลับไม่รู้สึกตัวแบบนี้ละครับ ปัสสาวะแทบไม่ออกเลย หมอที่นั่นเขาบอกว่าต้องฟอกเลือด"

แล้วเขาก็เล่าต่อว่า"ฟอกครั้งนึงก็ 4 พัน วันละ 2 ครั้ง เพราะมีของเสียคั่งมาก….แล้วเขาก็เอาแม่นอนในห้องไอซียู ให้ญาติเข้าเยี่ยมวันละครั้ง ไม่เกินชั่วโมงต้องออกเพราะพยาบาลกลัวว่าจะติดเชื้อ"….(ค่าห้องไอซียูและค่าฟอกเลือดในช่วงเวลานั้นในโรงพยาบาลเอกชนแพงมาก และโรงพยาบาลรัฐบาลส่วนใหญ่ก็เข้าถึงยากมาก โรงพยาบาลชุมชนไม่ต้องพูดถึงไม่มีบริการ)

"แล้วเอาเงินจากไหนมาครับ"ผมถามเรื่องภาระค่าใช้จ่าย?

"พี่น้องก็เอาเงินลงขันกัน แต่ก็ไม่พอเลยตัดสินใจขายที่ดินกองกลาง มาเป็นค่ารักษา รวม ๆ แล้วก็แปดแสนกว่าบาท มันจะเยอะเกินกว่านี้ เลยขอหมอเขากลับบ้าน"

ผมคิดในใจว่าเป็นเงินแปดแสนบาทค่อนข้างมากสำหรับครอบครัวฐานะปานกลางครอบครัวนี้

ผมเลยได้อธิบายว่า "ความจริงคุณแม่เป็นไตวายระยะสุดท้าย คงมีของเสียที่คั่งไปกดสมองมานานแล้ว การฟอกเลือดคงแค่ยืดระยะเวลาของผู้ป่วยออกไปเท่านั้น ที่ผ่านมาคุณแม่เหมือนเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ไม่รับรู้ และถ้าคุณแม่รับรู้ว่าต้องเสียเงินมากมายเพื่อรักษาตัวของเขา ท่านคงเสียใจมาก"…ฟังถึงตอนนี้ญาติหลายคนมีสีหน้ากังวล ผมเลยพูดต่อว่า "ลูก ๆ ก็ไม่ผิดอะไรหรอกครับ เพราะแม่ใคร ใครก็รักและอยากรักษาอย่างเต็มที่ เคสนี้ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่จะเจอเหตุการณ์แบบนี้"…..พอพูดถึงตอนนี้ทุกคนนิ่งเงียบ

พี่ชายคนโตเดินมาไหว้ผมแล้วบอกว่า "ผมน่าจะเจอหมอก่อน จะได้เข้าใจว่าแม่ไม่ไหวแล้ว จริง ๆ ถ้าใช้เงินแปดแสนแล้วแม่ผมหายก็คงคุ้ม….หมอครับ แล้วแม่ผมจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน" ?

ผมบอกว่า "ถ้ายังไม่พร้อมพาแม่กลับบ้านตอนนี้ ผมขอเอาสายน้ำเกลือที่มีอยู่ออก งดยาทุกตัว ให้ญาติทุกคนอยู่กับคุณแม่ให้นานที่สุด แสดงความรักให้เต็มที่ ผมไม่แน่ใจว่ามีเวลาอีกเท่าไหร่ แต่น่าจะภายในคืนนี้"

พวกเขาลงความเห็นว่าไม่ต้องการเคลื่อนย้ายอีกแล้ว ขออยู่ที่นี่ ผมก็พยักหน้า แล้วผมก็ขอตัวจากมา…. ความรู้สึกตอนนั้นบอกไม่ถูก ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่รู้อย่างหนึ่งว่า ถ้าผมเป็นชายคนนั้น ผมก็คงต้องการรับรู้ข้อมูลอย่างนี้เหมือนกัน ผมคิดว่าคุณแม่เป็นผู้ป่วยก็จริง แต่คนที่ป่วยมากกว่าก็คือลูกทุกคน โดยที่การรักษาไม่ใช่ยาแต่เป็นเพียงข้อมูล ความรู้และความเข้าใจต่างหาก คุณแม่ของพวกเขาเสียชีวิตในอีกสองชั่วโมงถัดมา ผมสัมผัสได้ว่าลูกๆ ทุกคนรู้สึกยินดีในความสูญเสีย เหมือนหายจากความทุกข์ เพราะรับทราบว่าคุณแม่ที่เป็นที่รักได้พ้นจากวัฏสงสารอย่างสงบ ญาติทุกคนเข้ามากอดผมทั้งๆ ที่เพิ่งรู้จักกันแค่ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ผมเขียนหนังสือรับรองการตาย ให้รถโรงพยาบาลไปส่งศพที่วัด ไปทอดผ้าบังสกุลในวันเผา

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำหน้าที่ของแพทย์ในลักษณะที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่มีคำสั่งให้ยารักษา ไม่ให้สารน้ำ และอาหาร แต่ผมได้ทำให้ 2 ชั่วโมงนั้นมีค่าสำหรับครอบครัวนี้…..ใช่แล้ว ผมไม่ได้กำลังรักษาโรค แต่ผมกำลังรักษาคน อย่างที่อาจารย์แพทย์ท่านได้สอนไว้เสมอ…"

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Kasiwat Sripradit 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: