เปิดระเบียบชัดๆ! ‘น้องแบม’ สามารถเข้ารับราชการด้วยวิธีไหนได้บ้าง!





 

น้องแบม หรือ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา กำลังได้บรรจุเป็นข้าราชการสังกัด ป.ป.ท. หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จากสัญญาที่มีผู้ใหญ่ใจดีเคยให้ไว้
 
น้องแบม เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ช่วงฝึกงานได้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส โครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น จนนำไปสู่การสอบสวนในที่สุด
 
การบรรจุในครั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ถามว่าอยากทำงานหน่วยงานไหน ก่อนจะบรรจุเป็นข้าราชการสังกัด ป.ป.ท. เขต 4 ขอนแก่น ซึ่งจะยื่นเรื่องต่อสำนักงาน ก.พ. ให้อนุมัติและบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนภายในปีนี้ 
 
โดยวิธีการเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ของ สำนักงาน ก.พ. ระบุว่า ต้องมีคุณสมบัติ ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คือ
 

  1. มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี  เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  2. ไม่มีตําแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นคนวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่เป็นล้มละลาย และเงื่อนไขอื่นๆ 

 
แล้วต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยการวิธีเข้ารับราชการทำได้ โดย
 

  1. การสอบแข่งขัน 
  2. การคัดเลือก ในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบแข่งขัน

 
ในเกณฑ์ของน้องแบม อาจจะบรรจุในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ว่า
 
“มาตรา 55 ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 อาจคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งโดยไม่ต้องดําเนินการสอบแข่งขันตามมาตรา 53 ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ. กําหนด”
 
โดยกรณีพิเศษที่อาจคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งได้ มีดังนี้
 

  1. ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาวิชาในประเทศ หรือต่างประเทศ ที่สําเร็จการศึกษาแล้ว
  2. สําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่ ก.พ. อนุมัติให้ส่วนราชการจัดให้มีการศึกษาขึ้นเพื่อเข้ารับราชการในส่วนราชการใดส่วนราชการนั้นโดยเฉพาะ
  3. สําเร็จการศึกษาในวุฒิที่ ก.พ. จะกำหนด
  4. สอบแข่งขันได้ แต่ไม่สามารถมารับการบรรจุได้ เพราะอยู่ระหว่างรับราชการทหาร
  5. ผู้สอบแข่งขันได้ซึ่งถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบได้โดยได้มารายงานตัวเพื่อขอรับการบรรจุแล้ว แต่มีเหตุที่ไม่อาจเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งที่สอบได้ตามเวลาที่บรรจุและแต่งตั้ง
  6. กรณีอื่นที่ ก.พ. อนุมัติ 

 
กรณีข้อ 6 นั้นเปิดช่องให้สามารถรับคนเข้ารับราชการไว้กว้างมาก ตั้งแต่ เคยประกอบคุณงามความดีทำประโยชน์ให้รัฐ มีคุณวุฒิที่หาผู้สำเร็จการศึกษาได้ยาก เป็นทายาทของข้าราขการที่เสียชีวิต ทุพพลภาพจนต้องออกจากราชการ จากงานในหน้าที่ หรือปฎิบัติตนเป็นพลเมืองดี

โดยในหนังสือ โลกนี้คือละคร ของ วิษณุ เครืองาม หน้า 353 เขียนเอาไว้ว่า “ในซีกราชการพลเรือนก็นำวิธีบรรจุข้าราชการรุ่นใหม่มาใช้ เช่นบรรจุคุณรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งเคยอยู่ตลาดหลักทรัพย์จนเก่งมากและไม่เคยรับราชการเลยในชีวิต แต่ให้กระโดดมาเป็นซี 9 กระทรวงยุติธรรม (เท่ารองอธิบดี) โดยไม่เคยผ่านการเป็นซี 3-ซี 8”
 
ซึ่งเกณฑ์ทั้งสามารถรับคนทื่มีคุณสมบัติที่ตรงความต้องการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างรวดเร็ว และเป็นทางลัดในการรับคนไม่มีประสิทธิภาพ หรือเด็กเส้น เพื่อสร้างระบบอุปภัมภ์ได้ในเวลาเดียวกัน 
 
ที่มา :
https://www.ocsc.go.th/civilservant
https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/law/act_law2551.pdf
https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/circular/w16-2551.pdf
https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/circular/w14-2559.pdf
https://books.google.co.th
https://gmlive.com/Bam-Civil-Service-Special-Circumstances

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: