จิตแพทย์แนะ 2 กลุ่มเสี่ยงหลัง ‘บุพเพ’ ลาจอ เหตุพลัดพรากจากสิ่งที่ประทับใจ





   แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ละครบุพเพสันนิวาส ถือเป็นละครที่น่าสนับสนุน เพราะเป็นละครที่ทำให้เรายอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งยังเป็นความคิดเห็นเชิงบวก ซึ่งถือเป็นอีกรูปแบบที่ใช้ละคร ทำให้คนหันมาคิดบวก ทำบวก ดังนั้น น่าที่จะสนับสนุนให้สร้างละครลักษณะนี้ เพราะช่วยสอนสังคม ทั้งยังเป็นละครที่คนไทยชอบเพราะมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมดีๆของไทย

[ads]

   แต่อย่างไรก็ตามเมื่อละครใกล้ถึงตอนจบ ก็มักจะทำให้ผู้ที่ชื่นชอบละครเรื่องนี้ มีภาวะเหมือนขาดหายอะไรบางอย่างในชีวิต เหมือนพลัดพรากจากสิ่งที่เราประทับใจ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เวลาเราประทับใจอะไรมากๆ มีความรักความผูกพัน ทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่เจริญของประเทศเราก็จะมีภาวะนี้ได้ แต่เราก็สามารถแปรเปลี่ยนความผูกพันนั้นได้ ด้วยการหันมาอนุรักษ์หรือพูดคุยกันแบบไทยๆ หรืออาจจะไปดูย้อนหลังในตอนที่ชอบ หรือไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นงานอดิเรกก็ได้ แต่หากทำวิธีดังกล่าวแล้วยังไม่ดีขึ้น ยังมีอาการเบื่อๆเซ็งๆ ก็ให้เราดูว่า นอกจากการดูละครแล้ว ยังมีอะไรอีกหรือไม่ที่ทำให้เรามีความสุขได้อีก เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ค่อยไปรับตัวได้ และที่สำคัญช่วงนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ก็ให้หันมาใส่ชุดไทย ทำอาหารไทยๆรับประทานกันก็จะช่วยได้ เป็นต้น

   พญ.มธุรดา กล่าวว่า ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ที่ติดละครบุพเพสันนิวาสก็อาจจะมีอาการมากกว่ากลุ่มอื่น โดยมี 2 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่พอดูละครก็จะมีความสุข แต่พอละครจบก็อาจจะรู้สึกเหมือนมีอะไรหายไป และ 2.กลุ่มคนที่ติดโซเชียลมีเดีย ที่เพื่อนเป็นคอเดียวกันจะหายไป ก็อาจจะอินมากเป็นพิเศษพอละครจบ อาจจะเหมือนอะไรบางอย่างในชีวิตหายไป ดังนั้นเราจะต้องมาสร้างความสุขให้ตัวเองโดยการคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อเสริมกำลังใจ และที่สำคัญ คือ สารแห่งความสุขนั้น เราสามารถสร้างด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องดูละครเพียงอย่างเดียว แต่หันทำในสิ่งที่ชอบ เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย เพราะละครจะสร้างความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราวมีเริ่มต้นก็ต้องมีตอนจบ แต่สิ่งที่อยู่กับตัวเราอย่างสารแห่งความสุขที่ไม่มีขาย เราสร้างขึ้นมาเอง และที่สำคัญที่สุด คือการหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ในกลุ่มผู้ป่วยก็อย่าลืมรับประทานยาด้วย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: