เตรียมแก้กฎหมาย”บัตรทอง”ครั้งสุดท้าย 29มิ.ย.นี้-รับความคิดเห็นจากทางออนไลน์เข้าพิจารณาที่ประชุมด้วย!!





 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ…หรือกฎหมายบัตรทอง กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมประเด็นความเห็นทางออนไลน์ เวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค และเวทีปรึกษาสาธารณะเรียบร้อยแล้ว รวมๆมีประมาณ 17 ประเด็น ทั้งเห็นด้วย เห็นต่าง แต่ทั้งหมดนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อพิจารณาและรับรองรายงาน ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายบัตรทองซึ่งมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานพิจารณาปรับแก้ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบของสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า การแก้กฎหมายบัตรทอง ในเรื่องการจัดซื้อยาของ สปสช.คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ระบุชัดว่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งหน้าที่นี้ควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากผู้ใช้จะทราบดีว่ายาชนิดไหนเหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วย ส่วนที่เอ็นจีโอบางกลุ่มออกมาพูดให้รัฐบาลตรวจสอบ ตนมองว่ารัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ไม่ใช่แค่งบส่งเสริมกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม แต่ควรตรวจสอบงบทั้งหมด อย่างงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับท้องถิ่น ก็ควรตรวจสอบด้วยว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง แต่เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อย่างประเด็นที่ค้านเรื่องคำนิยามสถานบริการ เนื่องจากหลักการของกฎหมายบัตรทอง นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น ซึ่งขอให้เพิ่มนิยามองค์กรชุมชน เอกชนและภาคเอกชนที่ไม่ดำเนินการแสวงหาผลกำไร ซึ่งไม่ได้เอื้อพวกพ้อง แต่เป็นเพราะจากประสบการณ์การทำงานทำให้ทราบว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะทำแค่ในโรงพยาบาลไม่ได้ เนื่องจากภาระงานในการรักษาเต็มมือ การจะส่งคนมาทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพยิ่งเป็นไปได้น้อย เช่น งบป้องกันเอดส์ที่ให้ผ่าน รพ.เป็นคนทำ พบว่าเมื่อ รพ.รับงบไป ก็ไม่มีความพร้อมในการทำ จึงไม่ไว้ใจ รพ.และต้องคัดค้าน ซึ่งหากจะตรวจสอบเอ็นจีโอตรวจได้เลย แต่ต้องตรวจสอบ รพ.ที่รับงบส่งเสริมสุขภาพด้วยว่ามีการใช้อะไรบ้าง.

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: