รู้จัก “พร้อมเพย์ (PromptPay)” ให้มากขึ้น ดีอย่างไร ปลอดภัย ใช้สะดวกไหม ไปดูกันเลย





 ‘บริการพร้อมเพย์’ (PromptPay) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2559 บริการนี้คืออะไรกันน้า? และถ้านำมาผูกหมายเลขที่สำคัญของเราเข้ากับบัญชีธนาคารแบบนี้จะปลอดภัยแค่ไหน? วันนี้เรานำความรู้ดีๆเกี่ยวกับบริการพร้อมเพย์ จาก PANTIP CREW PantipOfficial ที่ได้มาไขข้อสงสัยต่างๆให้อย่างละเอียด ซึ่งหลังจากอ่านบทความนี้แล้วทุกคนจะร้อง อ๋อ กันเลยทีเดียว เข้าใจง่ายมากๆ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย

มาสลัดทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบการชำระเงินแบบ Any ID หรือการเปิดรับบริการรับโอนแบบใหม่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถโอนเงินมาให้เราได้โดยไม่ต้องถามเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารอย่าง บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ผ่านการพูดคุยกับผู้รู้จากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมสรรพากรกัน! เพราะล็อกอินตัวจริงเสียงจริงจากหลากหลายธนาคารในประเทศ จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้เราได้ร้องอ๋อพร้อมๆ กันว่า‘บริการพร้อมเพย์’ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับ ‘บริการพร้อมเพย์’ (PromptPay) กันไปในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะจากการที่ได้เริ่มไปลงทะเบียนและเรียนรู้การใช้งานมาสักระยะ หรือใครที่ยังไม่เคยรู้จักกับบริการพร้อมเพย์มาก่อนเลยล่ะก็ ไม่ต้องข้องใจกันอีกต่อไปจ้า เพราะวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ บุก ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปล้วงลึกถึงการพลิกโฉมระบบการเงินของประเทศอย่าง ‘บริการพร้อมเพย์’ (PromptPay) ทุกซอกมุม

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปฟังจากปาก คุณสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน (ผท.) เพื่อให้เข้าใจระบบการใช้จ่ายที่กำลังจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเรากันเถอะ ว่าแล้วก็ได้เวลาพูดคุยเกี่ยวกับ บริการพร้อมเพย์ ที่พวกเราชาวพันทิปรวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศต่างก็สังสัย ผ่านข้อความที่เรียบเรียงมาให้เพื่อนๆ เข้าใจกันแบบง๊ายง่าย ณ บัดนี้

ที่มาของบริการพร้อมเพย์
พร้อมเพย์เป็น 1 ใน 5 โครงการที่ทางรัฐบาลได้มีแผนกลยุทธในเรื่องของ National e-Payment (ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งภายใต้โครงการใหญ่นั้นจะมี 5 โครงการด้วยกัน ได้แก่

1.โครงการระบบการชำระเงินแบบพร้อมเพย์ : การรับเงินแล้วก็โอนเงินในรูปแบบใหม่ด้านอิเล็กทรอนิกส์

2.โครงการการขยายการใช้บัตร : ขยายการชำระเงินที่ลดการใช้เงินสด เพื่อที่จะขยายการวางเครื่องเพื่อรับบัตรให้ได้ทั่วประเทศ

3.โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ : การปรับปรุงในเรื่องของเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษีให้สะดวกแล้วก็ง่ายในการรับส่ง 

4.โครงการ e-Payment ภาครัฐ : การพัฒนา e-Government ของกรมบัญชีกลาง ส่งเสริมเรื่องสวัสดิการต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ตรงถึงผู้รับ และปรับปรุงระบบการรับจ่ายของภาครัฐด้วย

5. โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ : โครงการให้ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการใช้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้กับประชาชน

บริการพร้อมเพย์คืออะไร

**หากสรุปสั้นๆ ยังไม่ทันใจ… สามารถเลื่อนลงไปอ่านข้างล่างกันต่อได้เลยจ้า!
พร้อมเพย์ คือ การรับเงินและโอนเงินรูปแบบใหม่ที่ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ (Phone Number) หรือ หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชน (Identification Number) ในการรับโอนเงิน แต่เดิมเวลาเราจะรับโอนเงินจากใคร เราต้องบอกเลขที่บัญชีธนาคาร และระบุธนาคารพร้อมสาขาธนาคารในการรับเงิน ซึ่งในความจริงเลขที่บัญชีธนาคารเป็นหมายเลขส่วนตัวของเรา

แต่เมื่อมีพร้อมเพย์ การที่เราผูกบัญชีธนาคารของเราไว้กับ Phone Number หรือ ID No. จะให้การรับเงินของเราสะดวกมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในชีวิตประจำวัน การจ่ายเงินซื้อของหรือเพื่อนสักคนจะโอนเงินมาให้เรา เพียงแค่บอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเพื่อนของเราก็สามารถที่จะโอนเงินมาให้เราได้อย่างง่ายดาย 
ส่วนการลงทะเบียนแบบบัตรประชาชนบางครั้งเราอาจไม่ต้องการเปิดเผย จึงเป็นอีกทางเลือกที่เราจะลงทะเบียนเพื่อใช้บริการกับภาครัฐ เพราะว่าภาครัฐจะรู้ ID No. ของเราอยู่แล้ว แม้กระทั่งเรื่องของการคืนภาษีก็ดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าสบายใจที่จะใช้ทางเลือกใด 

ที่สำคัญก็คือเราเป็นผู้รับ เนื่องจากพร้อมเพย์เป็นเรื่องของการรับเงิน ในฐานะผู้รับเราก็สะดวก เพื่อนที่โอนเงินมาให้เราก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะเขาจะโอนเงินด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงจากเดิม ที่เคยมีการโอนข้ามธนาคารหรือข้ามเขตซึ่งก็จะมีค่าธรรมเนียม แต่พอมีพร้อมเพย์แล้วค่าธรรมเนียมที่ปรับโครงสร้างใหม่ก็จะต่างจากโครงสร้างค่าธรรมเนียมเดิม เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้รับเราก็สะดวก เราเป็นผู้โอนเราก็ได้ประโยชน์ตรงค่าธรรมเนียมถูกลง

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยภาครัฐและเอกชนในการที่ประหยัดต้นทุนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนตั้งแต่เริ่มต้นว่าผลิตธนบัตร การขนส่งธนบัตร การขนส่งธนบัตรมาใส่ตู้ ATM การกดเงิน การซื้อสินค้าและการนำกลับไปใส่ธนาคาร ซึ่งไม่ค่อยประหยัดเท่าไหร่ แต่พร้อมเพย์จะเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในระบบ รวมไปถึงด้านความปลอดภัยและช่วยลดความเสี่ยงทั้งจากการถูกปล้นทั้งจากการไป ATM และการขนเงินสดไปธนาคารที่อาจเกิดขึ้น

พร้อมเพย์เป็นอย่างไร

พร้อมเพย์เป็นเรื่องของการผูกบัญชีธนาคารขารับ ถ้าเราเป็นผู้รับ เราก็ต้องไปลงทะเบียนกับทางธนาคารเพื่อจะแจ้งความประสงค์ว่าเราต้องการจะผูกบัญชีของเรากับ ID No.(หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก) หรือ Phone Number (หมายเลขโทรศัพท์มือถือ)

แต่ ในกรณีที่เราเป็นผู้โอน เราไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนผูกพร้อมเพย์ก็ได้ เพราะถ้าใช้บริการของ  Internet Banking, Mobile Banking, หรือว่า ATM อยู่แล้ว ก็สามารถโอนด้วยพร้อมเพย์ได้เลย โดยเข้าไปที่เมนูก็จะปรากฎปุ่มขึ้นมาว่าเป็นบริการโอนเงิน จากนั้นเราก็เลือกว่าจะโอนเงินแบบไหน ถ้าเราอยากโอนเงินแบบพร้อมเพย์ เราก็จะได้รับประโยชน์ตรงที่ค่าธรรมเนียมจะถูกลง แต่ที่สำคัญที่สุด ฝั่งผู้รับโอนจะต้องผูกพร้อมเพย์ เพราะถ้าเขาไม่ผูกพร้อมเพย์เราก็ก็จะใช้บริการนี้ไม่ได้นั่นเอง

อยากจะลงทะเบียนพร้อมเพย์ต้องทำอย่างไร

การลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้นง่ายมาก เพียงแค่มีบัตรประจำตัวประชาชนPhone Number และ เลขที่บัญชีธนาคาร ที่เราต้องการจะผูกบัญชีพร้อมเพย์ โดยเรา สามารถไปดำเนินการได้ไม่ว่าจะเป็นไปที่สาขาธนาคาร หรือว่าทำได้ที่ Internet Banking, Mobile Banking, หรือว่า ATM ซึ่งการลงทะเบียนก็ง่ายๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 
ยิ่งถ้าเราเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นอยู่แล้วการลงทะเบียนพร้อมเพย์ก็จะเร็วขึ้น เพราะว่าธนาคารได้รู้จักกับเราในฐานะลูกค้าธนาคาร ผ่านกระบวนการที่จะต้องรู้จักตัวตนของลูกค้า หรือ KYC (Know Your Customer) เพราะฉะนั้นเมื่อลูกค้ากับธนาคารรู้จักกันดี
ทั้งนี้การลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้นไม่จำเป็นต้องรีบเพราะทางธนาคารไม่ได้บังคับประชาชนว่าต้องมาลงทะเบียน เนื่องจากพร้อมเพย์เป็นระบบทางเลือกในการรับแล้วโอนเงินรูปแบบใหม่ ที่เราจะสมัครบริการนี้หรือไม่ก็ได้ 

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เปลี่ยนบัตรเดบิตหรือเอทีเอ็มเป็นซิปการ์ด หรือยังไม่มีบัตร หากต้องการสมัครพร้อมเพย์ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะบัตรเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริการพร้อมเพย์แต่อย่างใด 

นอกจากนี้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยสนใจที่จะลงทะเบียน ก็ต้องดูว่าสามารถเปิดบัญชีธนาคารที่ประเทศไทยได้หรือไม่ เนื่องจากระบบพร้อมเพย์นั้นยังทำในประเทศไม่ได้ขยายออกไปไหน แต่ถ้าทำงานอยู่เป็นเวลานานจนสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ ก็สามารถใช้บริการพร้อมเพย์ได้เช่นกัน

การผูกบัญชีพร้อมเพย์

หลายคนอาจจะสงสัยว่าในแต่ละบัญชีเราสามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์ได้สูงสุดกี่หมายเลข ซึ่งการผูกบริการพร้อมเพย์ สำหรับ 1 บัญชีธนาคาร เราสามารถผูก Phone Number หรือ ID No. ของเราได้สูงสุดถึง 4 หมายเลขด้วยกัน แบ่งออกเป็น หมายเลขบัตรประชาชน 1 หมายเลข เนื่องจากเราทุกคนต่างก็มีบัตรประชาชนคนละ 1 ใบ ซึ่ง ID No. เรามักจะนำมาใช้ในการรับโอนจากภาครัฐ

นอกจากการผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนแล้ว เรายังสามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์ผ่าน หมายเลขโทรศัพท์มือถือได้สูงสุด 3 หมายเลข ยกตัวอย่างอย่างเช่น หมายเลขนี้สำหรับเพื่อน สำหรับพ่อแม่ สำหรับแฟน ฯลฯ ทั้งนี้เราจะ ไม่สามารถผูกหมายเลขเดียวกันมากกว่า 1 บัญชีได้ 

ส่วนในเรื่องของการเลือกใช้ธนาคารนั้นควรอยู่ที่ความสบายใจของเราเป็นหลัก คือสามารถใช้บริการผ่านธนาคารใดก็ได้ หรือสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถผูกบัญชีด้วย ID No. ได้

พร้อมเพย์กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

เมื่อเราผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ธนาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเราได้เป็นผู้ลงทะเบียนไว้กับหมายเลขนั้นไว้หรือไม่ ดังนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปนำ Phone Number ของใครมาผูกเข้ากับบัญชีของเราก็ได้

ซึ่งวิธีการเช็คว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้นได้ลงทะเบียนกับชื่อของเราหรือไม่ ก็ง่ายแสนง่าย เพียงกด *179*หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชน# แล้วโทรออก ซึ่งเราจะทราบผลได้ทันที 
ส่วนหมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินก็สามารถนำมาลงทะเบียนได้เช่นกัน ทว่าเราก็ต้องดูแลในฐานะเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขก็ต้องแจ้งกับทางธนาคารทุกครั้ง โดยในตอนนี้ กสทช. กับทางธนาคารพาณิชย์เองกำลังพัฒนาระบบในการติดตามหมายเลขที่เป็นเติมเงินให้ปลอดภัยในกรณีที่มีการเปลี่ยนเบอร์โทรแล้วเกิดหลงลืม

แน่นอนว่าในปัจจุบันก็จะมีครอบครัวที่ให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ลงทะเบียนไว้ให้ลูกใช้ หรือแม้แต่บริษัทเองก็มีการให้พนักงานได้ใช้โทรศัพท์มือถือเหมือนเป็นเบอร์ของตัวเองเช่นกัน และนี่ก็คือกรณีจุดผ่อนผัน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของ หรือผู้ที่ลงทะเบียนว่าเราได้ยินยอมให้คนนี้ได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือนี้ ธนาคารจึงจะอนุญาตให้นำ Phone Number ไปผูกกับบัญชีธนาคารได้ เมื่อตรวจสอบ อย่างระแวดระวังและรัดกุมในระดับหนึ่ง

ค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์

บริการพร้อมเพย์จะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนแบบในสมัยก่อน ที่มีการคิดค่าธรรมเนียมแบบในเขตหรือนอกเขต นั่นเพราะธนาคารไม่ได้ดูอีกต่อไปแล้วว่าจะต้องโอนไปธนาคารใดหรือเขตไหน 

เนื่องจากระบบนี้จะดูเพียงแค่ Phone Number หรือ ID No. เท่านั้น แต่ลิมิตการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะไม่มี ในส่วนนี้ธนาคารจะคอยบอกกับผู้ใช้บริการว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน แต่อย่างที่บอกว่าค่าธรรมเนียมเราทำเป็นช่วง 0-5,000 บาทก็ฟรี ไล่เรื่อยไปตั้งแต่ 2 บาท 5 บาท ไปจนถึงสูงสุดคือ 10 บาท ที่เรียกว่าถูกกว่าการโอนในรูปแบบปกติในปัจจุบันนี้

การรับโอนผ่านพร้อมเพย์
ผู้ที่โอนเงินจะยังสามารถโอนเงินให้กับผู้รับที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร, Internet Banking, Mobile Banking หรือ ATM 

ในปัจจุบัน พร้อมเพย์จะยังมีการใช้การบริการในประเทศเท่านั้น ดังนั้นการโอนเงินจากพร้อมเพย์ไปยังธนาคารต่างประเทศ หรือโอนจากที่นั่นกลับมาจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงแรกที่คนยังกังวลกันอยู่ เมื่อคนในประเทศใช้งานกับอย่างคล่องแคล่วและรู้สึกสบายใจในการใช้งานและมั่นใจในความปลอดภัยอย่างมีความสุขแล้ว เรื่องที่จะเกิดขึ้นตามมาค่อยว่ากัน

ด้านของ นิติบุคคลจะเป็นลำดับถัดไปของระบบการรับโอนแบบพร้อมเพย์ สำหรับธุรกิจที่สนใจก็เริ่มเปิดลงทะเบียนได้เป็นลำดับถัดไป เนื่องจาก ณ เวลานี้ ยังต้องการให้พร้อมเพย์เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานในการในเรื่องของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เสียก่อน เมื่อก้าวแรกมั่นคง ก้าวต่อไปก็จะค่อยๆ ตามมาอย่างมั่นคง

เมื่อลงทะเบียนไปแล้วจะเป็นอย่างไร/ยกเลิกได้หรือไม่

เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้วธนาคารจะคอนเฟิร์มกลับมาหาเราผ่าน SMS หรือ ในกรณีที่เราไม่ได้ไปลงทะเบียนที่ธนาคารก็จะมีรหัสรักษาความปลอดภัยแบบรหัสผ่าน หรือระบบ SMS OTP (One time Password) คืนรหัสกลับมา ให้เรายืนยันรหัสนั้นว่าส่งมาถึงตัวเราแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์เรียบร้อย 

แต่สำหรับใครที่ยังกังวลใจ หรือเกิดลงทะเบียนไปแล้ว เกิดเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือก็สามารถยกเลิก Phone Number ที่ผูกไว้กับบัญชีพร้อมเปลี่ยนเป็นหมายเลขใหม่ได้ แต่หากใครต้องการจะยกเลิกก็ทำได้ง่ายๆ เลย เพียงแค่เข้าไปแจ้งทางธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

พร้อมเพย์ในช่วงแรก
เนื่องจากว่าพร้อมเพย์ได้เปิดใช้ไปแล้วสำหรับประชาชน อีกทั้งก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมก็ได้เปิดใช้สำหรับทางภาครัฐสู่ประชาชนซึ่งเป็นการโอนสวัสดิการนมเด็กแรกเกิด ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้เริ่มต้นให้โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ สำหรับผู้ที่มาแจ้งกับทางกรมบัญชีกลางไว้ว่าจะรับเงินโดยระบบพร้อมเพย์ก็จะได้รับเงินแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมนั่นเอง 

ด้านของสรรพากรก็เริ่มมีการทยอยคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์สำหรับผู้ที่แจ้งไว้ ซึ่งในช่วงแรกในเรื่องของบริการพร้อมเพย์ก็อาจมีขลุกขลักบ้าง หลายคนบอกว่าผูกพร้อมเพย์ไปแล้วยังไม่ได้รับเงิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้บริการลืมว่าผูกกับบัญชีไหน อาจเป็นเพราะพร้อมเพย์ได้รับลงทะเบียนไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 ผ่านมาหลายเดือนก็อาจทำให้ผู้ใช้หลงลืม

ซึ่งในส่วนนี้ฝั่ง Call Center ของกรรมสรรพากรและธนาคารที่รับเรื่อง ก็จะคอยแจ้งให้กับทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทราบ และทำมาปรับปรุงกระบวนการในเเรื่องของการตอบคำถามและการอธิบายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ใช้บริการ ปัญหาในช่วงแรกๆ ก็ค่อยๆ เบาบางลง

ปัญหาเรื่องการลงทะเบียน

ก็มีบ้างในช่วงแรกตั้งแต่สมัย Pre-Register ที่กระบวนการอาจจะยังไม่ครบถ้วน 100% ก็จะมีในช่วงที่การตรวจสอบนั้นหลุดไปบ้าง แต่ในระยะหลังเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เป็น Register อย่างเป็นทางการ ระบบก็พร้อมที่จะตรวจเช็คและดูแลให้บริการพร้อมเพย์สามารถตอบสนองได้ดี ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นธนาคารที่เป็นคู่ค้าของเราจะเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดปัญหาเราที่เป็นผู้ใช้บริการจะต้องติดต่อธนาคารของตัวเอง 

ซึ่งในส่วนของธนาคารต่างๆ ก็ได้มีการซักซ้อมในกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับพร้อมเพย์ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Call Center หรือสาขาของธนาคารผ่านกระบวนการในการที่จะเข้าไปดูแลแก้ไข ทว่าในกรณีที่เซับซ้อนกว่าที่ธนาคารจะสามารถดำเนินการได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกันในระบบ โดยมีข้อตกลงระหว่างธนาคารด้วยกันว่าถ้ากรณีที่ไม่ซับซ้อนจะต้องแก้ไขให้รวดเร็วมากขึ้น อาทิ ถ้ามีการโอนเงินแต่ระบบมีข้อขัดข้องหรือผิดพลาด ไม่เกิน 3 วัน ธนาคารจะต้องแก้ไขให้ลูกค้าเรียบร้อย 

แต่ในกรณีที่เกิดโอนผิดด้วยลูกค้ากดผิด สมมติว่า A จะโอนเงินให้ B แต่ดันกดผิดไปให้ C ถึงแม้ C จะดีใจที่อยู่ดีๆ ก็ได้รับเงินมา แต่ทางธนาคารก็จะเข้าไปติดต่อ C ที่อาจอยู่กับอีกธนาคารหนึ่ง เนื่องจากพร้อมเพย์นั้นเมื่อใช้หมายเลขส่วนตัวของเรา ก็จะไม่มีการดูอีกต่อไปว่าใครใช้ธนาคารไหน จะมีแต่ระบบกลางผู้อยู่ข้างหลังที่รู้ ก็จะทำการติดต่ออีกธนาคารที่ C ใช้บริการอยู่ว่าขอความกรุณาโอนออกเพราะไม่ใช่เงินของเขา ซึ่ง A จะต้องติดต่อธนาคาร เพื่อให้ธนาคารไปติดต่อและเจรจาให้ C ยินยอมโอนเงินออกมา ก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็นทอดๆ ไป 
ดังนั้นทางธนาคารก็จะมีข้อตกลงกันว่าไม่ซับซ้อนใช้กี่วัน ซับซ้อนมากใช้กี่วัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเกิดปัญหาผู้ใช้บริการจะต้องติดต่อที่ธนาคารก่อนเป็นอันดับแรก

คำแนะนำ/ข้อควรระวังเกี่ยวกับพร้อมเพย์


เมื่อเราลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้เรานั่นก็คือตัวเรานั่นเอง โดยเฉพาะพวกรหัสต่างๆ ที่เราใช้ในการที่จะผ่านเข้าสู่ระบบ เราต้องดูแลรักษารหัสเหล่านี้ไว้ให้ดี ไม่นำไปเปิดเผยหรือว่าไปแปะไว้ตรงไหนที่เมื่อเกิดสูญหายไปจะทำให้ใครทราบได้ 

นอกจากนี้ควรจะจดจำให้ได้ด้วยตนเอง ไม่นำไปเล่าให้คนอื่นฟังว่าเรามีรหัสอะไร อีกทั้งยังไม่ควรตั้งรหัสที่คาดเดาง่ายเกินไป เช่น 00000, 99999 หรือเมื่อใช่ไปสักระยะก็ควรจะมีการเปลี่ยนรหัสบ้างไม่ใช้ซ้ำอยู่แค่หมายเลขเดียว เป็นต้น 

อีกทั้งเรายังไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือห้ามนำไปลงโปรแกรมที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดไวรัส และต้องระวังเรื่องของมิจฉาชีพที่ส่ง SMS มาหลอกลวงมาถามข้อมูลส่วนตัวของเรา ซึ่งธนาคารต่างๆ ไม่มีนโยบายเหล่านี้ แต่เมื่อเกิดข้อสงสัยถ้าเกิดปัญหาตามมาอันดับแรกที่เราต้องทำคือการติดต่อธนาคารเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง 

อย่างในกรณีที่มีคนรู้ Phone Number หรือ ID No. ของเรา แล้วกลัวว่าจะถูกขโมยไปผูกก็ไม่ต้องหวั่นใจ เพราะทางธนาคารจะมีขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนที่จะต้องตรวจสอบก่อนลงทะเบียน จากนั้นจึงจะมี SMS เข้ามาว่าลงทะเบียนเรียบร้อย แต่อย่างล่าสุดที่มีคนโดนกรณีนี้คือขั้นตอนของ Pre-Register ในช่วงตอนช่วงต้นเท่านั้น ทว่าหากใครได้รับ SMS แบบในกรณีนี้ก็ต้องรีบติดต่อธนาคารเช่นเดียวกัน

ผู้ดูแลระบบพร้อมเพย์

พร้อมเพย์เป็นระบบกลางที่ดูแลโดยบริษัท National ITMX เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้ว เพียงแต่ว่าทำอยู่หลังบ้านไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใครนอกจากสมาชิกที่เป็นกลุ่มธนาคารเท่านั้น โดย National ITMX คือผู้ที่ทำระบบและดูแลในเรื่องของระบบ ATM ให้ธนาคารมานาน ซึ่งพร้อมเพย์ก็คือการต่อยอดจากระบบเดิมนั่นเอง

พร้อมเพย์กับการขอคืนภาษี

เมื่อพร้อมเพย์เป็นทางเลือก ไม่ได้บังคับ ดังนั้น การจะขอคืนภาษีนั้นเราจะลงทะเบียนพร้อมเพย์หรือไม่ก็ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ ก็สามารถขอกรมสรรพากรรับเงินคืนแบบเดิมได้ เพียงแต่ว่าพร้อมเพย์มีความสะดวกรวดเร็ว ส่วนที่หลายคนบอกว่าถ้ายื่นภาษีต้องไปธนาคารกรุงไทย ตอนนี้ไม่ต้องแล้วเพราะว่าเราสามารถไปสมัครที่ธนาคารไหนก็ได้ เนื่องจากทางสรรพากรจะกระจายออกไป ซึ่งถึงแม้ว่าตอนแรกจะยังขลุกขลัก แต่เมื่อธนาคารรู้ว่าประชาชนกังวลก็มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนั้นๆ

พร้อมเพย์ในอนาคต

เรียกได้ว่านอกจากการรับโอนหรือยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอนาคตอันใกล้จะมีการนำเอาธุรกิจหรือนิติบุคคลเข้ามาในระบบบริการนี้ ซึ่งการรับโอนก็จะง่ายขึ้นทั้งในแง่ของธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับประชาชน ประชาชนกับธุรกิจ หรือประชาชนกับรัฐบาล ถือเป็นการต่อยอดเพื่อเพิ่มความสะดวกให้มากขี้น ซึ่งต่อไปพร้อมเพย์ก็จะ มีการชำระค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และ การซื้อขายใน E-commerce ที่จะจะสามารถที่จะสะดวกมากขึ้น ซึ่งนอกจากนี้จะมีอะไรต่อไปอีก ก็ขอให้ประชาชนติดตามตอนต่อไปไปพร้อมๆ กัน

ฝากถึงพร้อมเพย์

สำหรับใครที่ยังรู้สึกไม่สบายใจหรือว่ายังลังเล แต่อีกใจก็อยากจะรู้ว่าเป็นยังไงล่ะก็ สามารถเปิดบัญชีใหม่ หรือเลือกใช้บัญชีเดิมที่มีเงินน้อยๆ ก็ได้ ลองทดลองดูก่อน หากไม่ชอบใจก็สามาารถยกเลิกได้ เนื่องจากพร้อมเพย์เป็นบัญชีรับ จึงต้องทดลองใช้แล้วจะติดใจ เพราะว่าสะดวกรวดเร็ว และที่สำคัญคือประหยัด นอกจากจะประหยัดเวลาตัวเราเอง ยังช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนให้กับคนที่โอนให้เรา แถมยังช่วยให้ระบบทางการเงินของประเทศประหยัดอีกด้วย

นอกจากนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการตกหล่นเสียหายในการโอนเงินให้เข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ อีกทั้งคนที่อยู่ห่างไกลยังมีโอกาสที่จะเข้าถึงบริการแบบนี้มากขึ้น เพราะถ้าให้ไปให้ติดต่อกับสาขาธนาคารเอง ก็คงไม่ค่อยสะดวกมากนักพร้อมเพย์ก็จะเข้ามาช่วย
รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยที่เราไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็คอยดูแลและกำหนดตรวจสอบกับธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลระบบเหล่านี้อย่างปลอดภัย ตลอดจน บริษัท ITMX ที่เป็นระบบกลาง ธนาคารก็จะคอยตรวจสอบเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

พร้อมเพย์กับการจ่ายภาษี

ต่อไปมาทำความเข้าใจกันต่อเถอะจ้ะว่าการจ่ายภาษีของเรานั้นจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับ บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) กันน้าาาา~ ถ้าเพื่อนๆ พร้อมที่จะไปต่อกันแล้ว ขอเชิญพบกับ คุณพัดชา พงศ์กีรติยุต รองอธิบดีกรมสรรพากร กันต่อเลยดีกว่า (มีคลิปด่านล่าง)

ได้ฟังเรื่องราวจากตัวแทนฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมสรรพากรกันไปแล้ว สำหรับท่านใดที่เลื่อนอ่านหรือดูคลิปข้างบนจบแต่ยังมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในส่วนใด สามารถสอบถามได้จากกระทู้นี้เลยนะคะ https://pantip.com/topic/36111946

เพราะมีล็อกอินตัวจริงเสียงจริงจากหลากหลายธนาคารในประเทศ จะเข้ามาให้คำตอบที่ค้างคาใจเกี่ยวกับ ‘บริการพร้อมเพย์’ (PromptPay) ของ ทุกคนกันอีกครั้งผ่านความคิดเห็นในกระทู้นี้ค่ะ 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : PANTIP CREW PantipOfficial

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: