วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี 2559





   ทุก ๆ ปี คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจะต้องยื่นแสดงรายได้และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร โดยในปีภาษี 2559 (ที่จะยื่นแบบในช่วงต้นปี 2560) ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิมอยู่ คือเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% วันนี้จึงมาแนะนำวิธีคำนวณภาษี ลองไปอ่านกันเลย

 

 

[ads]

 

 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 – ภ.ง.ด.91)

          สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า แบบภาษี ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะไปคิดคำนวณภาษีกันลองมาทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน เมื่อรูัแล้วก็ลองไปดูวิธีคิดภาษีกันได้เลย

                –  ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ

                –  ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น

 

          เงินได้ที่ได้รับในปี 2559 ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิม คือ เงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% ดังตารางนี้…

tax2559

          จากตารางนี้แสดงว่าหากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 240,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 90,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี

          แต่หากใครมีรายได้สุทธิมากกว่า 240,000 บาท แสดงว่าเราต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีดังนี้

tax1

 

ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว

          นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ

ตัวอย่างที่ 1

          หากนาย A มีรายได้ทั้งปี 400,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

              – หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 340,000 บาท

 

ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน

   จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 340,000 บาท

              เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ต้องเลี้ยงดู 1 ท่าน, ซื้อ LTF ไป 50,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในประเทศ 10,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 710,000 บาท ดังนี้

  •               – หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
  •               – หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 30,000 บาท
  •               – หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
  •               – หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
  •               – หักค่าซื้อ LTF ไป 50,000 บาท
  •               – หักค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว 10,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 181,000 บาท

 

ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี

          ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2559 เป็นดังนี้

          อัตราภาษีแบบขั้นบันได

  •                 –  รายได้ 0-150,000 ยกเว้นอัตราภาษี   
  •                 –  รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
  •                 –  รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
  •                 –  รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
  •                 –  รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
  •                 –  รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
  •                 –  รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
  •                 –  รายได้ 4,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

     

          กรณีของนาย A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 181,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (181,000-150,000) = 31,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 1,550 บาท

 

ตัวอย่างที่ 2

          นางสาวบี ยังไม่ได้แต่งงาน ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 600,000 บาท ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 40,000 บาท ได้ใช้บริการเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ เป็นเงิน 10,000 บาท คำนวณภาษีได้ดังนี้

  •               – หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท
  •               – หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
  •               – หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
  •               – หักค่าซื้อประกันชีวิต 40,000 บาท
  •               – หักค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ 10,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 451,000 บาท

              มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 451,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 10% เราสามารถคำนวณภาษีแต่ละขั้นได้ดังนี้

              – 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี

                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (451,000-150,000) = 301,000 บาท

              – 150,000 บาทต่อมา เสียภาษี 5% คิดเป็นเงิน 7,500 บาท

                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (301,000-150,000) = 151,000 บาท

              – เงินส่วนที่เหลือ 151,000 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 15,100 บาท

            นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+15,100) เท่ากับนางสาวบีต้องเสียภาษี 22,600 บาท

 

          ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับวิธีคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือถ้าหากใครไม่อยากเสียเวลากับการนั่งคิดเลขที่ละตัว ก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่นี่ >>> http://rdserver.rd.go.th/publish/sample/download.php?type=91

 

[ads=center]

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: