งานที่ชอบ เริ่มไม่ใช่ รู้จักภาวะ Great Gloom เมื่อพนักงานไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทอีกต่อไป





โลกการทำงานได้พลิกโฉมไปมา กระทั่งเกิด Great Resignation ที่ผู้คนต่างหมดไฟกับงานที่มี และเลือกออกไปหางานที่ใช่มากกว่า หาก Great Resignation เป็นปรากฏการณ์ที่คนลาออกจากงานครั้งใหญ่ Great Gloom ก็คือเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน เมื่อคนที่ยังอยู่กลับมีความสุขในการทำงานลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ

BambooHR ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านทรัพยากรบุคคลเบอร์ใหญ่ของโลก ได้เผยตัวเลขที่น่าสนใจจาก Employer Net Promoter Score (eNPS) แบบวัดความพึงพอใจในการทำงาน พบว่าความสุขในการทำงานของเหล่าคนทำงาน ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2020 และลดลงมากขึ้น 10 เท่าในปี 2023 นี้

พบอีกว่าอาชีพในด้านสุขภาพ มีความสุขน้อยที่สุดจากทุกหมวดอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจจาก Gallup บริษัทให้คำปรึกษายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน พบว่าความพึงพอใจด้านการทำงานของคนทำงาน ลดลงกว่า 8% จากปี 2019 นั่นหมายความว่า

ความสุขในการทำงานที่ลดลง อาจไม่ใช่แค่ความเบื่อหน่ายในแต่ละวัน อย่างที่เราคิดไปเองเสียแล้ว

นับตั้งแต่ปี 2020 ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ความสุขของชาวอเมริกันลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาด้านการใช้ชีวิตประจำวัน สุขภาพ และการเว้นระยะห่างทางสังคม จนต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างภาวะซึมเศร้าและความหงุดหงิดใจ เรื่อยมาจนถึงปี 2023 ที่เหมือนอะไรจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่ความสุขในด้านหน้าที่การงาน กลับไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ความสุขในการทำงานของคนทำงานลดลงต่ำสุดในช่วงหลายปีให้หลัง เจน ลิม (Jenn Lim) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงาน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ผ่านบทความบนเว็บไซต์ Fast Company ว่าปัญหาที่แท้จริงของเหล่าคนทำงานนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการหมดไฟ แต่เป็นปัญหาใหญ่กว่านั้น อย่างความต้องการของบริษัทและพนักงานไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดความรู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร แต่พนักงานก็หมดแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นมาทำงานให้หนักขึ้น เพื่อแสวงหาความหมายในการทำงาน พวกเขากลับเลือกจะนั่งจมอยู่กับปัญหานั้นแทน

ปัญหาความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานที่บ้าน (WFH) เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานเปลี่ยนไป จากพื้นที่ที่ทุกคนมารวมตัวกัน เพื่อทำงานเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน แม้จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกลับกลายเป็นปัญหาที่ตามมา ในช่วงนั้นหลายบริษัทพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ตราบใดที่ผู้คนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงก็เป็นไปได้ยาก เมื่อผู้คนเริ่มชินกับการทำงานด้วยตัวเอง จึงทำให้ออกห่างจากองค์กรไปเรื่อยๆ

สิ่งนี้จะสามารถแก้ไขได้อย่างไร? เจนแนะนำว่า สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน สามารถช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นได้ อย่างแนวคิด Psychological Safety พื้นที่ปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน เป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนกล้าเสี่ยงที่จะเสนอไอเดียความคิดเห็น ตั้งคำถาม ไปจนถึงการยอมรับความผิดพลาด โดยยังไม่ต้องกังวลถึงผลเสียที่จะตามมา เพื่อให้เหล่าพนักงานรู้สึกว่าความคิดเห็นและไอเดียของตน มีส่วนสำคัญและถูกรับฟังอย่างแท้จริง

นอกจากฝั่งองค์กรจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ดึงเอาเหล่าคนทำงานกลับมาอยู่ในเป้าหมายเดียวกับองค์กรแล้ว ฝั่งพนักงานเองก็อาจจะต้องลองถามตัวเองดูอีกครั้งว่า การทำงานในตอนนี้ เรากำลังมีความสุขน้อยลงเพราะปัจจัยอื่นๆ หรือเพราะเราไม่มีความสุขกับมันตั้งแต่แรกกันแน่ โดยอาจจะเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองว่า

เรากำลังหมดไฟ หรือแค่เบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่?

อาการหมดไฟ เกิดจากงานที่มีมากเกินไป งานล้นมือ มีเรื่องต้องรับผิดชอบมากมาย หรืองานที่สะสมความเครียดไว้กับตัวเองมากเกินไป จนเราเกิดความเครียดที่ไม่สามารถจัดการกับงานที่กองพะเนินอยู่ได้ทั้งหมด ไม่สามารถทำงานให้ดีดั่งใจ และกลายเป็นว่าเราไม่อาจจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้เลย

ส่วนความเบื่อนั้นเป็นเหมือนฝั่งตรงข้ามของอาการหมดไฟ ความเบื่อในงานเกิดจากงานที่น้อยหรือไม่ท้าทาย เราเชื่อว่าเรามีความสามารถมากกว่านี้ แต่กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่มันสมน้ำสมเนื้อกันเลย ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถอะไร ชนิดที่ว่าทำงานไป เปิดโหมดควบคุมอัตโนมัติไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แม้การหมดไฟและความเบื่อจากการทำงานจะมีอาการคล้ายกัน แต่ที่มากลับต่างกัน การแก้ไขจึงต่างกันไปด้วย เราเลยจำเป็นต้องเข้าใจตัวเองอย่างถูกต้อง เพื่อเจอทางออกที่ตรงกับปัญหา

หากแก้ปัญหาให้ถูกจุด เราอาจได้งานที่เรารักกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เคยไม่มีความสุขกับมันมาก่อนก็ตาม

 

ข้อมูลจาก : thematter

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: