ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ทำลาย ‘ความเชื่อมั่น’ อุตสาหกรรม-ผู้บริโภค





ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.2567 ลดลงทุกองค์ประกอบปัจจัยหลักมาจากผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และนโยบายการเมือง

อีกทั้งจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2567 จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้จ่ายแต่ก็ยังคงระมัดระวัง ส่วนผู้ผลิตจะต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20% สุดท้ายแล้วก็จะกระทบต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมี.ค. 2567 ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตระดับ 5-20% ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 30-40%

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,268 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ของส.อ.ท. ในเดือนเม.ย. 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลก 79.4%
  • ราคาน้ำมัน 56.6%
  • เศรษฐกิจในประเทศ 56.4%
  • สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.2%
  • อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 39.5%

ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 68.5%

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1. เสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่เอสเอ็มอีรวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

2. ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน ผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

3. ออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการดำเนินการตามแนวคิด ESG ผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงเงินกู้ Green loan ให้ง่ายขึ้น อุดหนุนค่าใช้จ่ายที่นำไปลงทุนเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดค่าธรรมเนียมรับรองคาร์บอนเครดิต 50% ในปี 2567 เป็นต้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย.67 อยู่ที่ 62.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 เป็นต้นมา

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 58.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 71.5 ปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนเช่นกัน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่โดดเด่นมาจาก 3 สัญญาณ คือ

1. ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง และกังวลเรื่องเงินเฟ้อ จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

2.เสถียรภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง คนไม่แน่ใจ กระแสต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งการปรับครม. การลาออกของรัฐมนตรี

3.เศรษฐกิจฟื้นช้า

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะดีขึ้นในระยะต่อไปจากแรงกระตุ้นของนโยบายการคลังโดยเฉพาะงบลงทุน 7 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มลงในระบบเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.หรือส.ค.นี้ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเป็นเดือนละ 5 หมื่นล้านหรือ 1 แสนล้านล้านบาท”

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือน เม.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 55.2 ในเดือนมี.ค. มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมามากขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น เกษตรกรเริ่มมีรายได้ และมีกำลังซื้อ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน เริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ยังคงระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถปรับขึ้นได้จริง 400 บาททั่วประเทศหรือไม่ เพราะในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีวันที่ 14 พ.ค. 2567 มีมติให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดกลับไปพิจารณาอัตราค่าจ้างกันเองในจังหวัดก่อน แล้วกลับมาเสนออีกครั้งในเดือน ก.ค. 2567

จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่าควรขึ้นตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด และแต่ละธุรกิจและไม่ควรจะขึ้นเกิน 370 บาท หรือบางธุรกิจอาจมองว่าต้องต่ำกว่านี้

นอกจากนี้ จากการคำนวณมีกลุ่มแรงงานที่ได้รับประโยชน์จากขึ้นค่าแรงราว 7 ล้านคน เฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันที่ 360 บาท จะมีเงินเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 3,600 ล้านบาท รวมในไตรมาสสุดท้าย จะมีเงินเพิ่มประมาณ 10,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ได้ 0.3-0.4% แต่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งปีเพียง 0.05% เท่านั้น

แต่ในทางกลับกันหากผู้ประกอบการผลักภาระไปยังราคาสินค้า จากการประเมินคาดว่า ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 10-15% กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกำลังแรงงานทั่วประเทศที่ 38 ล้านคน ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์ตรงนี้ทุกคน กระทบต่อการบริโภคหดตัวลง

ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจปีนี้ ให้หดตัวจากที่ควรจะเป็น ประมาณ 0.1-0.2% เป็นต้นจึงมองว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้อาจไม่เป็นประโยชน์โดยรวม

“ในทางวิชาการ การปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแต่ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ภาคเอกชนได้สะท้อนความไม่เห็นด้วยต่อการปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของภาคเอกสูงขึ้นจากพลังงานก็ประคองการจ้างงานด้วยการลดกำไร ลดเงินเดือน หากจะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท จะเพิ่มความลำบากในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลควรมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ“

 

ข่าวจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: