หนุ่มป่วย ฝืนทำงานจนไม่ไหว หัวหน้าให้ออก บอกจะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น





กำลังเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์ เมื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6 ได้โพสต์ภาพข้อความแชต พร้อมข้อความว่า

“ความเจ็บป่วยมันห้ามกันได้ไหมมันรู้ล่วงหน้าหรือไม่..ทางออกที่ดีที่สุดคือ??
ป่วย = บีบให้ออกหรือตกงาน ?

ที่ผมออกมาแชร์ประสบการณ์นี้เพราะอยากฝากไปถึงหัวหน้างานทุกที่ว่า บางทีก็ต้องใจเขา ใจเราบ้าง ครั้งนี้ผมจะไม่เอ่ยชื่อบริษัทนะครับ

ก่อนหน้านี้ผมเองก็เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้บริษัทเอกชนทุน จดทะเบียนยี่สิบกว่าล้านบาท สองแห่ง อาศัยอยู่บ้านทางเหนือก็ใช้ชีวิตปกติสุขดี แต่พอนั่ง ๆ นอน ๆ ไปวัน ๆ ก็รู้สึกว่าอายุขนาดนี้แล้วจะมาปล่อยว่างแบบนี้ไม่ได้เลยตั้งใจว่าจะกลับมาอยู่กรุงเทพเพื่อสมัครเรียนต่อเนติฯ ในรุ่น 77 และสอบตั๋วให้จบ ๆ ไป จึงตัดสินใจ ย้ายมาอยู่กรุงเทพก็หางานที่เบาสมองเพื่อเอามาเรียน ส่วนที่ปรึกษาบริษัทฯ ก็ไม่ได้ทำแล้วเพราะงานหนักสมองมากพอสมควรและมีปัญหาภายในบริษัทฯ ก็เลยไม่ได้ทำต่อ

ก็เลยมาหางานในห้างฯ เงินเดือนหมื่นบาททำเอา ทำ OT ทำอะไรก็น่าจะพออยู่ได้ จะได้มีเวลาเอาสมองไปเริ่มเรียนเพราะก็ทิ้งมานาน เหนื่อยกายไม่เป็นไร ขอให้มีสมองเรียนเถอะ ส่วนตัวก็ป่วยเป็น MDD อยู่แล้ว เลยใช้วิธีนี้เอา อีกอย่างโตขนาดนี้แล้วจะมานั่งขอเงินที่บ้านเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ตัดสินใจเคลียร์เรื่องการเงินที่บ้านเสร็จปรากฏว่าติดลบก็ไม่เป็นไร ยังไงทำงานไปเรียนไปเดี๋ยวก็หมด

ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์เริ่มงาน 17 เมษายน 2567 ทำงานได้ประมาณสามวันเริ่มไม่สบายไปหาหมออีกประมาณ 4 วันตรวจโควิดผลเป็นบวกรักษาตัว 5 วัน ที่ทำงานจัดวันที่หกเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แต่หัวหน้าทักมาคุยว่าถ้ามาไหวก็มา ก็เลยไม่ได้หยุด ก็ทำมาตลอดทั้งที่เพลีย ไม่มีแรง ก็อดๆ ทำมาตลอด สภาพแบบป่วย จนวันนี้ไม่ไหวจริง ๆ เลยไปหาหมอ แต่ตอนเช้าไปช่วยเปิดร้านก่อนด้วยซ้ำทั้งที่เพลีย หายใจไม่อิ่ม พอไป รพ. X-ray พบว่าปอดมีจุด น่าจะมาจากที่ตรวจโควิดช้า เชื้อลงปอด ติดเชื้อในปอด ก็รายงานไปที่หัวหน้า แต่ปรากฏว่าหัวหน้าก็ตอบมาแบบนั้นตามภาพประกอบข้อความเลย

คือ หัวหน้าคนนี้เพิ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าและผมก็ได้ทำงานร่วมไม่กี่วันเอง แต่ระหว่างที่ทำงานร่วมกันโดนเหวี่ยงใส่อารมณ์หลายครั้ง โดนถูกใช้คำพูดที่ไม่ให้เกียรติกันประหนึ่งทาสท่านหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สวนอะไรก็ทำ ๆ ไป ถือว่าเราผู้น้อย มีโอกาสได้คุยก็แค่ถามว่าผมขอเข้าเช้าไปก่อนได้มั้ย ช่วงนี้ป่วย พอได้คำตอบว่าไม่ได้ ผมก็ไม่เถียงไม่งอแงอะไรใส่ สาเหตุที่ผมอยากเข้าเช้าเพราะอยากมีเวลาพักผ่อนที่เป็นเวลา

เอาตรง ๆ นะ ผมเองไม่ได้อยากป่วยหรอก รู้มั้ย ผมไม่ได้เรียนเนติฯ รุ่น 77 เพราะเอาเงินที่จะสมัครเรียนไปจ่ายค่าหมอค่ายาหมดแล้ว ถ้าอยากหยุดแล้วได้เงินผมไม่อดทนไปทำงานหรอก ไปหาหมอแบบเปลี่ยนที่ขอใบรับรองแพทย์เอาก็ได้

สุดท้ายแล้ว ตอนนี้ MDD กลับมาอีกแล้ว เพราะเหตุการณ์นี้ แต่จริง ๆ ที่ออกมาโพสต์เพราะอยากให้คนที่เป็นหัวหน้าเข้าใจคนอื่นบ้าง บางทีการที่เขาป่วยเขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ยิ่งคุณเองก็เป็นลูกจ้างเหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งคุณเองโดนแบบนี้จะเป็นยังไง

“ไม่มีไรมากหรอก โพสต์ระบายไปงั้น เพราะก็ไม่รู้หรอกว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อไป ..แย่จังชีวิตตอนนี้ซึมเศร้ากลับมาอีกแล้ว อดทนหน่อยนะเราตัวคนเดียว มีชีวิตอยู่ต่อให้ได้นะนายหวาย
ขอให้ทุกคนมีรอยยิ้มออกมาจากข้างในนะ สู้ ๆ งับ”

โดนคนต่างเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย อาทิ

“ก็เข้าใจอีกฝ่ายนะ
เริ่มงานไม่นาน ก็เริ่มมีอาการป่วย ฝืนจน ปอด มีจุด ก็ต้องใช้เวลาในการรักษา ให้หายใจคล่องเหมือนเดิม ไม่มั่นใจว่างานเกี่ยวกับอะไร แต่ ถ้าร่างกายไม่ไหว ทั้งๆที่ยังเป็นช่วงดูงานๆอยู่ด้วย ก็ควรหางาน ที่เหมาะสมแก่ร่างกายตัวเอง ฝืนไป ก็ทรมาณตัวเองไปเปล่าๆ แล้วก็ กลับมาทุกข์เองว่าจะทนทำงานแบบนี้ทำไม”
“หัวหน้าก็พูดถูกของเขาแล้ว”
“โลกของการจ้างงาน เอาแรงไปแลกเงินก็แบบนี้ , , , โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเท่านั้น”
“ทำงานห้าง ถ้าเจอหัวหน้ามีวุฒิภาวะบริหารจัดการงานเป็นก็โชคดีไป เคยเจอแบบให้สลับกะแทบจะวันเว้นวันมั่วไปหมด ร่างกายรวน ลูกน้องเลยออกเป็นว่าเล่น”
“หัวหน้าที่บอกแบบนี้คืองานที่ไม่สามารถจัดงานได้ดีพอ ถึงได้ไปกระทบทุกคนค่ะ พอคนนึงขาดงานก็กระทบทุกคน? ไม่ใช่อ่าเตง”
“ไม่เห็นใจเพื่อนร่วมงานบ้างหรอ ที่ต้องมาทำงานแทนตัวเอง”
“ก็ถูกของหัวหน้า โปรไฟล์ขนาดนั้นน่าจะหางานที่เหมาะกับตัวเอง ทุกสังคมย่อมมีกฎมีระเบียบของเขา เราอยู่ที่ใหนควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมนั่นๆ
จริงอยู่ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ในเมื่อเคยเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรใหญ่ขนาดนั้นมาเเล้ว ลองให้คำปรึกษาตัวเองดูบ้างว่า เราเหมาะกับสังคมเเบบใหน
ทุกคนในองค์กรอยู่ภายใต้เงื่อนไของค์กรทุกคน เราจะให้ทุกคนในองค์กรยอมรับเงื่อนไขของตัวเองที่เสนอให้องค์กรพิ’นาได้ยังไง”
“ทำงานยังไม่ถึงเดือน ทดลองงานยังมีปัญหาแบบนี้ ป่วยก็ไปหางานที่เหมาะสมเอาเถอะ”

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: