ราชกิจจาฯ ประกาศเปลี่ยน “ส.ป.ก.4-01” เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร”มีผลบังคับใช้แล้ว





เว็บไซต์ ‘ราชกิจจานุเบกษา‘ เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) และให้ระเบียบฯฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป

ระเบียบฯฉบับนี้มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ และให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถนำเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของตนเอง ไปยื่นขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้ โดย ส.ป.ก. จะต้องพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และหากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ให้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

พร้อมกันนั้น ให้เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแค่บางส่วนต่อ ส.ป.ก.จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ แต่ต้องได้รับการยินยอมจาก ส.ป.ก. ที่เป็นนายทะเบียนก่อน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566

ระเบียบฯฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาที่ให้ทายาทเกษตรกร ซึ่งถึงแก่ความตาย ไปยื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ พร้อมทั้งกำหนด “ลำดับทายาท” ของเกษตรกรซึ่งถึงแก่ความตาย ที่มีสิทธิได้รับการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในกรณีที่มีทายาทเกินกว่าหนึ่งรายและเป็นกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในระหว่างทายาท

นอกจากนี้ ระเบียบฉบับนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ ส.ป.ก. ได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้มาดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินกับ ส.ป.ก.จังหวัด ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามที่กำหนดในระเบียบนี้ ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับสิทธิโดยการเช่าที่ดิน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ทั้งนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 โดยระเบียบฉบับนี้ ได้ปรับปรุงแนวทางเกี่ยวกับการให้เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

โดยในข้อ 4 ของระเบียบฯ ระบุว่า เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับมอบที่ดินให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินมีหน้าที่ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเต็มความสามารถ และไม่นำที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนไปให้บุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยการขาย ให้เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ หรือโดยพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นในลักษณะนั้น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจาก ส.ป.ก. ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีการโอนให้เป็นไปตามที่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอน หรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อและการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 กำหนดห้ามมิให้ผู้ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรเปลี่ยนมือ สละสิทธิ หรือกระทำการอื่นใด เพื่อให้บุคคลอื่นได้รับสิทธิในโฉนดเพื่อการเกษตรแทนตน ภายในสองปี นับแต่วันที่ออกโฉนดเพื่อการเกษตร เว้นแต่เป็นการจัดที่ดินแทนที่แก่คู่สมรส บุตร เครือญาติหรือทายาท

(2) ยินยอมทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจัดให้ โดยมีค่าชดเชยและต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว

(3) ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน จนเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมสภาพความเหมาะสมแก่การประกอบเกษตรกรรม

(4) ไม่ขุดบ่อเพื่อการเกษตรกรรมเกินร้อยละห้าของเนื้อที่ที่ได้รับมอบ

(5) ไม่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใด ๆ เว้นแต่การปลูกสร้างตามสมควรสำหรับโรงเรือนที่อยู่อาศัยยุ้งฉาง หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรนั้น

(6) ดูแลรักษาหมุดหลักฐานของ ส.ป.ก. และหลักเขตที่ดินในที่ดินที่ได้รับมอบมิให้เกิดชำรุดเสียหายหรือเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิม

(7) ไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างในโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรอื่นและสภาพแวดล้อม

(8) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด รวมทั้งคำสั่งของเลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย

(9) ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมที่ทำกับ ส.ป.ก. และปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่กับสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ดำเนินงานร่วมกับ ส.ป.ก

อ่านฉบับเต็ม (คลิก)

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: