ผ่อนบ้านรับดอกเบี้ยขาขึ้น ให้ใช้เงินก้อนโปะ ลดต้น ลดดอก





กรณีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ประสบการณ์ผ่อนบ้านกับธนาคาร ซึ่งมียอดชำระต่อเดือนอยู่ที่ 10,900 บาท แต่หักเงินต้นแค่ 5.50 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ย ซึ่งมีเงินต้นอยู่ที่ 2,140,425.84 บาท นั้น

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยบ้านขึ้นอยู่กับสัญญาที่ลูกหนี้ทำกับสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารจะมีอัตรากู้คงที่เฉลี่ย 3 ปี โดย 2 ปีที่ทำการชำระเงินนั้นจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยจะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว (Floating Rate) อีกทั้งขณะนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลให้ลูกหนี้ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยที่เงินต้นจะถูกตัดชำระน้อยลง และดอกเบี้ยถูกตัดชำระมากกว่า

“จะเห็นว่าลูกหนี้มีการชำระเงินแต่ละงวดเท่าเดิม แต่ช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้นจำนวนเงินที่ชำระจะเหลือไปตัดเงินต้นได้ไม่เยอะ จากเดิมใน 2 ปีแรกจะเป็นดอกเบี้ยขั้นต่ำ แต่พอเข้าช่วงปีที่ 3 แล้วจะมีการปรับอัตราใหม่ และเมื่อไปเจอช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงเป็นระยะการผ่อนบ้านที่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเกิดภาวะที่ยอดผ่อนเท่าเดิม แต่เงินที่ชำระไปถูกตัดเป็นเงินต้นได้น้อยลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น” น.ส.กาญจนากล่าว

น.ส.กาญจนากล่าวว่า การคิดอัตราดอกเบี้ย เช่น ธนาคารหนึ่งมีอัตราดอกเบี้ยจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 7% สมมุติสัญญาระบุเงื่อนไขมีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยช่วง 3 ปีอยู่ที่เฉลี่ย 3% หรือมีการทำนโยบายดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 จะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% โดยอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% หรือมากกว่านั้น หลังจากทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นลอยตัว

ขณะเดียวกัน หากลูกหนี้ชำระเงินตรงกำหนดทุกเดือน ตามปกติในระยะแรกจะจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น แต่ผ่อนต่อเนื่องเงินต้นเริ่มลดลง รวมถึงการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยจะน้อยลงตามที่เงินต้นลดลงจากการจ่ายในงวดที่แล้ว ขณะเดียวกัน การตัดเงินต้นในงวดถัดไปจะเพิ่มขึ้น ซึ่งการชำระเงินทั้งหมดถูกคำนวณไว้ตามระยะการทำสัญญาแล้ว

“โดยปกติแล้วผู้ผ่อนบ้านเมื่อมีเงินก้อนจะนำไปจ่ายสินเชื่อบ้าน เพื่อต้องการให้เงินต้นลดลง จะส่งผลให้การชำระดอกเบี้ยลดลงตาม และเปอร์เซ็นต์ของเงินต้นที่ผ่อนงวดถัดไปจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนี้จะทำให้ปิดหนี้บ้านได้เร็วขึ้นกว่าระยะสัญญาที่ทำไว้” น.ส.กาญจนากล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มปรับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4/2565 จาก 0.50% ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% แม้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย MRR จะปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี สำหรับประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) แต่เมื่อดอกเบี้ยมีการขยับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ลูกหนี้บ้านได้รับผลกระทบจากการตัดดอกเบี้ยจำนวนมากขึ้น แต่เงินต้นถูกตัดได้น้อยลง

น.ส.กาญจนากล่าวว่า สำหรับการแนะนำเรื่องการผ่อนชำระของลูกหนี้ ควรมีวินัยต่อการชำระหนี้ ถ้ามีเงินก้อนก็ควรโปะ เพราะสินเชื่อบ้านถ้าโปะมากจะช่วยลดเงินต้น และลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น รวมถึงจบสัญญาได้เร็วขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าพบปัญหาควรปรึกษากับสถาบันการเงินก่อน

“และถ้าพ้นช่วงดอกเบี้ยคงที่และต้องเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยลอยตัว ระยะนี้ควรมองหาสถาบันการเงินใหม่เข้ามาเพื่อรีไฟแนนซ์ คือการขอย้ายเพื่อที่จะไปผ่อนกับสถาบันการเงินที่ใหม่ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าสถาบันการเงินเดิม” น.ส.กาญจนากล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: