เด็กน้อยไอหนัก2-3เดือน ไม่มีไข้ หมอพบ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นต้นตอ เหตุพ่อเด็กสูบเพื่อหวังเลิกบุหรี่มวน





14 ก.ย.2566 เพจเฟซบุ๊ก “Ped Chest น่ารู้ PICU น่าเรียน” ซึ่งเป็นเพจของสมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย (สรวท) ได้เผยแพร่คลิป “คุณหมอนักสืบ” เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีพบคนไข้เด็กน้อยไอหนัก รักษาเท่าไรก็ไม่หาย และสืบจนเจอสาเหตุ โดยภายในคลิป พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ สวรท ระบุว่า จริงๆ แล้วอาชีพหมอไม่ต่างจากนักสืบ เพราะเราต้องสืบค้นจากหลักฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วโยงใยไปเรื่อย ๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

พญ.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า เช่น กรณีเด็กคนหนึ่งมากับคุณแม่ มีอาการไอ น้ำมูก มา 2-3 เดือน แต่ไม่มีไข้ จึงสืบเพิ่มจากสภาวะแวดล้อมในบ้าน ถามว่ามีคนสูบบุหรี่ในบ้านหรือไม่ พบว่าคุณพ่อเคยสูบบุหรี่แต่เลิกแล้วเมื่อมีน้อง สัปดาห์ต่อมากลับมาหาหมอว่า อาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการไอน้ำมูก แต่คุณแม่เล่าให้ฟังว่า คุณยายไปเข้าห้องน้ำแล้วได้กลิ่นหอม ๆ เลยถามว่าคุณแม่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ หรือคุณพ่อเปลี่ยนจากบุหรี่ธรรมดาไปเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ คุณแม่ก็ไม่รู้จัก

พญ.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า เมื่อมีการนัดมาติดตามเราก็เจอว่า คุณพ่อเคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าจริงๆ โดยมักสูบในห้องน้ำ เพราะคิดว่าไม่อันตราย และพยายามเลิกจากบุหรี่มวน จึงไปหาข้อมูลและเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยได้ ความร้อนมาจากแบตเตอรี ไม่ได้มาจากเผาไหม้ ควันที่ออกมาจึงคิดว่าไม่อันตราย แต่จริง ๆ แล้วควันหอม ๆ อันตรายมากกว่า เพราะออกมาลักษณะเหมือนไอน้ำ อนุภาคเล็กกว่าควันบุหรี่ธรรมดา เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็เข้าไปถึงปอดส่วนล่างได้เลย

“พอพูดคุยคุณพ่อเขาก็ตั้งใจที่จะเลิกทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า อยากจะทำเพื่อเป็นของขวัญให้ลูก การที่คนเราจะเลิกบุหรี่ได้เป็นเรื่องยาก คีย์เวิร์ดสำคัญคือ ตั้งใจก่อนว่าจะเลิก หาจุดมุ่งหมายจะเลิกเพื่อใคร ตัวเองจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น คนรอบข้างที่เรารักจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพียงแค่นี้ก็เป็นเป้าหมายที่เพียงพอแล้วในการเลิกบุหรี่” พญ.พิมพ์ชนก กล่าว

พญ.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า มีอีกเคสหนึ่งที่รักษาโรคหอบหืด ควบคุมอาการได้ดีมาก อยู่ ๆ อาการกำเริบขึ้นมา ก็ไปเช็กวิธีการใช้ยา เขาก็ใช้ยาตามปกติ ไม่เคยขาด ไม่มีหวัดเป็นตัวกระตุ้น จึงถามเรื่องบุหรี่ คุณแม่บอกว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนรถ โดยเอารถของพี่ชายเขาที่มีประวัติว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า แม่เอามาใช้รับน้องคนนี้ จึงคิดว่าน่าจะได้รับผลกระทบตรงนี้ เพราะพี่ชายใช้บุหรี่ไฟฟ้าขณะขับรถ ทำให้สารตกค้างอยู่ในรถ

พญ.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า อันตรายของบุหรี่จะมากขึ้นทันทีในห้องปิดหรืออากาศไม่ถ่ายเท เพราะสารพิษจะถูกปิดกั้นอยู่ในบริเวณนั้น พร้อมกันนี้ยังแนะนำให้ผู้ปกครองเก็บบุหรี่ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็ก เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศที่เด็กเล็กนำขวดเติมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเข้าปาก ทำให้ท้ายที่สุดเด็กเสียชีวิต ซึ่งในน้ำยาดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ ฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นสารใช้ฉีดศพ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต


ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: