“วิษณุ” ยอมรับ การโหวตนายกฯ ล่าช้า กระทบต่อการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง





ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมา ครม. รักษาการ มีนโยบายที่จะไม่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายในตำแหน่งที่เป็นข้าราชการระดับสูง เนื่องจากคาดว่าในเดือน ส.ค. 66 จะมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศ

แต่ล่าสุดการเลื่อน โหวตนายกฯ จากการที่ยังไม่ได้ข้อยุติในเดือน ก.ค. 66 ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ในเดือน ส.ค. 66 ครม. ชุดใหม่ก็ยังไม่ได้เข้ามาทำงานใน ทำเนียบรัฐบาล

โดยล่าสุด “นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี” ได้ให้นโยบายแกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ครม. ว่าให้สามารถบรรจุเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง รวมทั้งหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้

โดย ครม. จะพิจารณาให้ จากนั้นจะส่งไปที่ กกต. เพื่อพิจารณาให้ ซึ่งก็มีโอกาสมากขึ้นที่ กกต.จะพิจารณาเห็นชอบตามที่ ครม.เสนอ เพราะที่ผ่านมาในกรณีที่ กกต.ไม่เห็นชอบเป็นเรื่องของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของคนเดิมที่ยังไม่หมดวาระ

แต่หากใกล้ระยะเวลาที่คนเดิมจะหมดวาระหรือเกษียณอายุราชการแล้ว ก็คาดว่า กกต.จะอนุมัติให้เพื่อให้มีคนที่สามารถทำงานในตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานได้

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงขึ้นไปรัฐบาลรักษาสามารถทำได้ โดยให้หน่วยงานเสนอให้สำนักเลขาคณะรัฐมนตรีเสนอ ครม. เนื่องจากใกล้สิ้นปีงบประมาณแล้ว จะไม่มีคนเข้ามาทำงาน เพราะประเทศต้องเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่ง ครม. แต่งตั้งและเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. หาก กกต. เห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองมีสิทธิ์ที่จะไม่อนุมัติก็ได้

ขณะที่ด้านนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการ ครม. ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงขณะที่อยู่ในช่วง ครม.รักษาการ ครม.ต้องเสนอไปให้ กกต.พิจารณา ซึ่งตอนนี้ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการ ซี 9 – ซี 10 ในบางตำแหน่งสามารถทำได้เมื่อผ่านที่ประชุม ครม. แล้ว กกต. ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา หรือตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นระดับ 10 ส่วนใหญ่ กกต. จะเห็นด้วยทั้งหมดเนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้มีความชัดเจน เช่น รองเลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวบุคคล เพราะเป็นข้าราชการที่มีการทำผลงานทางวิชาการขึ้นมาต่อเนื่องซึ่ง กกต. ก็อาจอนุมัติให้

ส่วนตำแหน่งในการบริหาร กกต.ก็มีการอนุมัติให้ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยการพิจารณา กกต.จะฟังเหตุผล และความจำเป็นของแต่ละตำแหน่ง

ซึ่งจะมีการสอบถามถึงความจำเป็นของการแต่งตั้งตำแหน่งบริหาร โดยต้องยืนยันกับ กกต.ว่าหากไม่มีตำแหน่งตามที่ ครม. อนุมัติไปแล้วจะส่งผลต่อการบริหารงานอย่างไรซึ่งต้องอธิบายเหตุผลให้ กกต. เข้าใจ

 

ข่าวจาก : ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: