“โฟร์โมสต์” ประกาศขายโรงงานหลักสี่ 12ไร่ ติดรถไฟฟ้าสีชมพู วาละ3แสน





19 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” ได้ปิดโรงงานที่หลักสี่ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ล่าสุดได้ติดป้ายประกาศขายที่ดินพร้อมโรงงาน เนื้อที่รวมกว่า 12 ไร่

นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทปิดโรงงานพาสเจอไรซ์ที่หลักสี่มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนการจำหน่ายอุปกรณ์ ตัวโรงงาน และพื้นที่ เพื่อนำเงินกลับมาจัดสรรการขาดทุนของโรงงาน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ากำหนดราคาขายอยู่ที่เท่าไหร่

“อย่างที่เคยได้แจ้งไปก่อนหน้านี้ พื้นที่หลักสี่กลายเป็นพื้นที่เมืองไปแล้ว ไม่ได้เหมาะสำหรับตั้งโรงงานอุตสาหกรรม รวมกับที่ธุรกิจพาสเจอไรซ์ ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัท และไม่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันขององค์กร ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน” นายโอฬารกล่าว

นายโอฬารกล่าวต่อว่า โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นโฟกัสในปี 2566 คือ นมพร้อมดื่มยูเอชที ซึ่งมีทั้งนมเด็ก โฟร์โมสต์ โอเมก้า, นมโฟร์โมสต์ รสจืด และนมโฟร์โมสต์ รสชาติสำหรับทุกวัย และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโปรเฟสชันแนล ล่าสุดบริษัทได้มีกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าบิสซิเนสยูนิตนี้ว่า ฟรีสแลนด์คัมพิน่า โปรเฟสชันแนล มีหลากหลายแบรนด์ภายใต้กลุ่มนี้ อย่างนมข้น ฟอลคอน หรือ เดบิค วิปปิ้งครีมจากเบลเยียม นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวพื้นที่ที่จะให้ผู้ประกอบการ (Happiness Corner) สามารถเข้ามาพูดคุยโปรเจ็กต์ ความเป็นไปได้ของการใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโปรเฟสชันแนลในการประกอบอาชีพ ที่สำนักงานใหญ่ อารีย์ เร็วๆ นี้

นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานกรรมการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทตัดสินใจขายที่ดินและโรงงาน เนื่องจากสภาพพื้นที่เปลี่ยน ไม่เหมาะจะเป็นโรงงานผลิต มีห้างสรรพสินค้าและที่อยู่อาศัยเข้ามาอยู่ใกล้ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินบริเวณรั้วโรงงาน เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งแนวโครงสร้างพาดผ่านหน้าโรงงานพอดี มีผลทำให้การเข้าออกลำบาก จากเมื่อก่อนยังเป็นที่โล่งๆ ซึ่งโรงงานนี้เป็นโรงงานแรกของบริษัทและเปิดมาร่วม 66 ปี

“เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เมื่อแอสเสทไหนไม่ได้ใช้ ไม่ทำประโยชน์ก็ต้องขาย เก็บไว้ก็มีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ว่าบริษัทเจ๊ง เป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินมากกว่า ซึ่งผลประกอบบริษัทยังเป็นบวก แต่เติบโตน้อยลง จากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับสินค้าของบริษัทเป็นสินค้าควบคุม การจะปรับขึ้นราคาก็จะลำบาก เพราะต้องขออนุมัติจากภาครัฐ ขณะที่ภาพรวมตลาดรวมนมสดพร้อมดื่มการแข่งขันค่อนข้างสูง” นายอาณัติกล่าว

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาที่ดินโรงงานโฟร์โมสต์ อยู่ที่ 300,000-330,000 บาทต่อตารางวา รวม 12 ไร่อยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท (ยังไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง) ทั้งนี้ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม (พ.1) มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินหรือ FAR อยู่ที่ 5:1 สามารถพัฒนาอาคารพักอาศัยรวมหรือคอนโดมิเนียมได้ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) อาคารพาณิชยกรรมหรือสำนักงานไม่เกิน 10,000 ตร.ม. ส่วนโรงแรมและบ้านจัดสรรพัฒนาได้ทุกประเภท

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: