มารู้จักยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ที่พัฒนามาเพื่อให้เป็นตัวเปลี่ยนเกม และเป็นความหวังสำคัญในการเอาชนะโควิดที่ทำคนทั่วโลกบอบช้ำมานาน
นับเป็นข่าวดีเมื่อโลกกำลังจะมียารักษาโควิดตัวที่ 2 ชื่อว่า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ที่ทางบริษัทไฟเซอร์เคลมว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด 19 ในระดับที่น่าพึงพอใจ และยังมีผลข้างเคียงน้อยอีกด้วย เอาเป็นว่าเราลองมาดูข้อมูลยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) กันเลยดีกว่า
ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) คืออะไร
ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) คือ ยาเม็ดรักษาโควิด 19 จากบริษัทไฟเซอร์ Pfizer ซึ่งนับเป็นยารักษาโควิดตัวที่ 2 ของโลก ถัดจากยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค (Merck)
โดยยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2563 จากยาเดิมที่ใช้รักษาโรคซาร์ส (SARS) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด 19 แต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน โดยยาจะทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนไม่ได้ และยังเป็นยาในกลุ่มที่ได้ผลดีในการต้านไวรัส HIV อีกด้วย
ยาแพกซ์โลวิด กับ ยาโมลนูพิราเวียร์ ต่างกันอย่างไร
ต้องอธิบายก่อนว่า ยาที่ใช้รักษาโควิด 19 ที่เคยใช้กันมาเป็นยารักษาโรคอื่น ๆ แล้วนำมาใช้รักษาอาการในผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และเคยใช้รักษาโรคอีโบลา หรือแม้แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ ก็เป็นยาที่พัฒนาขึ้นมาจากยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ซึ่งยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็มีสรรพคุณยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้
แต่สำหรับยาแพกซ์โลวิด เป็นยาตัวแรกที่ถูกคิดค้นมาเพื่อรักษาโควิด 19 โดยเฉพาะ และมีสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส SARS-CoV-2-3CL จึงทำให้ไวรัสไม่สามารถแบ่งสารโปรตีนเพื่อเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้ เรียกได้ว่าตัดกลไกสำคัญที่จะทำให้ไวรัสมีวัตถุดิบชั้นดีที่ช่วยในการเจริญเติบโตนั่นเอง ทางบริษัทผู้ผลิตจึงเชื่อมั่นว่ายารักษาโควิดตัวนี้จะเข้ามาเปลี่ยนเกมและพลิกสถานการณ์โรคระบาดให้กลับมาดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแพกซ์โลวิดรักษาโควิด 19 ต้องใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV เนื่องจากยาตัวนี้จะช่วยชะลอการละลายของยาแพกซ์โลวิด ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
ยาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพอย่างไรกับโควิด 19
จากผลทดลองในเฟส 2/3 ที่บริษัทไฟเซอร์เปิดเผยออกมา ทำให้เห็นประสิทธิภาพของยาแพกซ์โลวิด ดังนี้
– ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอาการป่วยหนักที่ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และลดโอกาสเสียชีวิตภายใน 28 วัน ได้ประมาณ 85-89% เมื่อให้ยาแพกซ์โลวิดร่วมกับยาริโทนาเวียร์ ภายใน 3 วันแรกหลังติดเชื้อ เท่ากับว่ายาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ราว 50%
– สามารถต้านโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์ (ในหลอดทดลอง)
– ไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวียร์
นอกจากนี้ทางบริษัทไฟเซอร์ยังเคลมว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยาแพกซ์โลวิดมีน้อยมาก โดยอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงพบได้ประมาณ 10% กว่า ๆ และอาการข้างเคียงที่รุนแรงพบได้ราว ๆ 1% เท่านั้น อีกทั้งยังระบุด้วยว่า อาการข้างเคียงที่พบจากการใช้ยายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากตัวโรคหรือเกิดจากยาแพกซ์โลวิดด้วย
ยาแพกซ์โลวิดกินอย่างไร และคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร
สำหรับการรักษาโควิดด้วยยาแพกซ์โลวิด ผู้ป่วยจะต้องกินยาแพกซ์โลวิด ขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ด และยาริโทนาเวียร์ ขนาด 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งเท่ากับว่าในผู้ป่วย 1 คน จะต้องใช้ยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ด และยาริโทนาเวียร์ 10 เม็ด ในการรักษาต่อครั้ง
โดยยาตัวนี้ทางไฟเซอร์ตั้งเป้าจะยื่นขออนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ภายในเดือนธันวาคม 2564 และคาดว่าคงได้เริ่มใช้ในต้นเดือนมกราคม 2565 ส่วนในไทยก็คงต้องรอดูว่าทาง อย. จะขึ้นทะเบียนยาแพกซ์โลวิดและเริ่มอนุมัติให้ใช้ได้เมื่อไร
ยาแพกซ์โลวิด ราคาเท่าไร ไฟเซอร์แจกสูตรยาให้ 95 ประเทศ
ยังไม่มีการกำหนดราคายาแพกซ์โควิดที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะมีราคาใกล้เคียงกับยาโมลนูพิราเวียร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทไฟเซอร์อนุญาตให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางรวม 95 ประเทศ สามารถผลิตและจำหน่ายยาแพกซ์โลวิดตามสูตรของทางไฟเซอร์ได้โดยไม่เก็บค่าสิทธิบัตรตามข้อตกลงกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม ดังนั้น ทั้ง 95 ประเทศจะได้ใช้ยาแพกซ์โลวิดในราคาถูกกว่าปกติ โดยในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ได้สิทธิผลิตและจำหน่ายยาดังกล่าว แต่ไร้รายชื่อประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเอามาก ๆ เพราะเท่ากับว่าเราพลาดโอกาสได้ใช้ยารักษาโควิดตัวนี้ในราคาถูกนั่นเอง
ก็ต้องยอมรับว่าการมาถึงของยาแพกซ์โลวิดเป็นความหวังที่น่าสนใจในการอยู่ร่วมกับโควิดของทุกคนทั่วโลก แต่ทั้งนี้ยารักษาก็เป็นเพียงกำลังเสริมที่ช่วยลดโอกาสเสียชีวิตหลังจากติดโควิดได้มากขึ้น แต่คงดีกว่าถ้าเราจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และเข้ารับวัคซีนโควิดเพื่อเป็นเกราะป้องกันที่ดีอีกชั้น
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ