“ผู้สูงวัย” มีเฮ ททท.ชง ศบศ.หนุนรัฐจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์40% ให้เที่ยววันธรรมดา





ททท.ชงศบศ.หนุนรัฐจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ 40% ไม่เกิน 5 พันบาทต่อคน ให้ผู้สูงวัยเที่ยววันธรรมดา ทั้งปลดล็อกเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ระลอกใหม่ ทั้งหารือการนำร้านค้าในโครงการคนละครึ่ง เข้ามาอยู่ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.) จะชงศบศ.ไฟเขียว 2 เรื่องหลักเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยขอให้รัฐบาล สนับสนุนค่าแพ็คเกจทัวร์ 40% ให้กลุ่มผู้สูงวัย เดินทางเที่ยวในประเทศ ในวันธรรมดา และปรับเงื่อนไขในโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” ระลอกใหม่

ทั้งยังจะมีการหารือถึงเรื่องการนำร้านค้าในโครงการคนละครึ่งที่มีกว่า 8 แสนร้านค้าเข้ามาอยู่ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ จะมีข้อเสนอในการพิจารณากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อขอมติศบศ. ใน 2 เรื่อง

เรื่องที่ 1 จะเป็นโครงการสนับสนุนผู้สูงอายุ เดินทางเที่ยวในประเทศ โดยจะรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40%   สำหรับการซื้อแพ็คเกจทัวร์ สำหรับ ผู้สูงวัย ที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป  สูงสุดไม่เกินคนละ 5,000 บาท เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดาของกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 1 ล้านคน-ครั้ง  ซึ่งจะใช้งบอยู่ที่ 5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ททท.จะขอใช้เงินจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่มีวงเงินอยู่ 20,000 ล้านบาท กันออกมา 5,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการดังกล่าว  เราย้ำว่าต้องเป็นการซื้อแพ็คเกจทัวร์ผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ มัคคุเทศก์,รถเช่า,ร้านอาหาร 

ทั้งนี้บริษัทนำเที่ยวที่จะเข้ามาลงทะเบียนขายแพ็คเกจในโครงการนี้ได้ จะต้องเป็นบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563  ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทนำเที่ยวที่ทำเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ครอบคลุมบริษัทนำเที่ยวทั้งระบบทั้งอินบาวด์ และเอ้าท์บาวด์ ก็สามารถขายแพ็คเกจได้

โดยจะต้องเป็นแพ็คเกจเดินทางเที่ยวในประเทศ เดินทางข้ามจังหวัด ไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาเท่านั้น  ส่วนรูปแบบการจองก็เหมือนกับโครงการกำลังใจ ที่เปิดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)จองผ่านบริษัทนำเที่ยว 

เรื่องที่ 2 จะเสนอให้ปลดล็อกเงื่อนไขของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การขออนุญาตให้นำแพ็กเกจทัวร์เข้าสู่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐสนับสนุน 40%  การขออนุญาตให้นักท่องเที่ยวจองและจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน 60% ได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนและนำมาขอส่วนต่าง 40% คืนในภายหลังเหมือนปัจจุบันซึ่งไม่สะดวก การขออนุญาตให้โรงแรมที่อยู่ในฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากรเข้าร่วมโครงการได้ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบโรงแรมตามกฎหมาย

รวมไปถึงขออนุญาตให้สามารถวางจำหน่ายบัตรกำนัล (gift voucher) โรงแรม ที่พัก สปา และร้านอาหารได้ การขออนุญาตให้ขยายสิทธิการเข้าพักจากสูงสุดต่อคน จาก 10 คืนเป็น15 คืน การเพิ่มสิทธิ์การเข้าร่วมของโรงแรมขึ้นอีก 1-2 ล้านรูมไนท์

เนื่องจากปัจจุบัน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนห้องพักโรงแรมเหลือเพียง 1,155,068 สิทธิ์เท่านั้น โดยหลังจากเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน การใช้สิทธิ์ได้เพิ่มจาก 1 หมื่นสิทธิ์ต่อวันเป็น 6 หมื่นสิทธิ์ต่อวัน คาดว่าหากยังคงอยู่ในอัตรานี้จำนวน 5 ล้านสิทธิ์จะหมดภายในเดือนธันวาคมนี้

การขอเพิ่มห้องพักอีก1-2 ล้านรูมไนท์ ไม่ได้เป็นการขอวงเงินเพิ่ม เพราะขณะนี้โครงการนี้ได้ใช้วงเงินไปราว 4,954 ล้านบาท โดยราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนที่ประชาชนจองอยู่ที่ 2,784 บาท จากสูงสุดวางไว้3,000 บาท จึงมีวงเงินเหลือ

อีกทั้งททท.จะหารือกับศบศ.ขอให้พิจารณาเอาร้านค้าในโครงการคนละครึ่งที่มีกว่า 8 แสนร้านค้าเข้ามาอยู่ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าอยู่ 64,790 ร้านค้า เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะได้รับแจกอี-เวาเชอร์ ใช้จ่ายค่าอาหารหรือค่าแหล่งท่องเที่ยววันละ600-900 บาทต่อห้องพักต่อคืน สามารถนำไปใช้ในร้านค้าของโครงการคนละครึ่งที่มีจำนวนมากกว่าได้ด้วย

ข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: