แก้คนล้นคุก! ครม.ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ของการปล่อยตัวชั่วคราว โทษเกิน10ปี ค่อยวางเงินประกัน!!

Advertisement   Advertisement ครม.เห็นชอบยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขหลักเกณฑ์ การปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายไว้ว่าสังคมไทยชอบให้ข้อมูลในทำนองตัดพ้อว่าคนจนติดคุกแต่คนรวยรอดนั้น ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะตอบสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีโดยจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้น โดยมีหลักการเพิ่มเติมในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้ปรารภข้างต้น และยังเพิ่มเติมอีกสองเรื่อง คือการให้ศาลมีอำนาจในการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปจับผู้หนีประกัน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่างก็จะมีตำรวจศาลให้ดำเนินการได้เอง นอกจากนี้เรื่องที่เพิ่มขึ้นคือกำหนดให้ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องก่อนการไต่สวนมูลฟ้องได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีราษฎรจะมาฟ้องคดีแล้วฟ้องโดยที่ไม่มีรายละเอียดในเชิงอรรถคดีแต่หวังผลในลักษณะให้เกิดความวุ่นวายแก่ผู้ถูกฟ้อง Advertisement พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า จากเดิมตัวกฎหมายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวกำหนดไว้ว่า หากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป ถ้าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องวางหลักประกัน จะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่เดือดร้อนเรื่องเงินประกันต้องอยู่ในคุก ทำให้เกิดปัญหาจำนวนพื้นที่ในการคุมขังที่มีน้อย ดังนั้นเกิดการล้นคุกโดยไม่จำเป็น วันนี้จึงมีการขยายเพดานขึ้นไปว่าถ้าจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในประเภทที่ต้องวางเงินประกันก็ต้องมีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป ดังนั้นผู้ที่มีโทษ 5-9 ปีนั้นก็จะต้องมีพันธะประเภทอื่นกับศาล เช่น จะต้องมารายงานตัว แต่ไม่ต้องวางเงินประกัน ส่วนกรณีที่ขอให้ศาลมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาลทำหน้าที่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองให้จับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีคดีโดยหลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วไม่ได้เห็นชอบ เนื่องจากให้สำนักงานกฤษฎีกาไปดูในรายละเอียดแล้วพบว่าจะกลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าพนักงานศาลโดยที่ไม่มีเหตุอันควร อีกกรณีหนึ่งที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องก่อนการไต่สวนข้อมูลในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์แล้วใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ทางกฤษฎีกาไปพิจารณามาแล้วพบว่าในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดไว้แล้วว่าในกระบวนการตรวจสอบคำฟ้องและการไต่สวนมูลฟ้องให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการฟ้องคดีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องให้ศาลระบุว่าไม่ประทับรับฟ้องโดยที่ไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้อง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เพียงข้อเดียว ส่วนอีกสองประเด็นนั้นให้เอาไว้ก่อน ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

error: