รัฐเตรียมปรับค่าไฟแพงขึ้น! เหตุจากต้นทุนเชื้อเพลิงปรับราคาสูงขึ้น





นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงทุกๆ 4 เดือนมีทิศทางขยับขึ้นจากปัจจัยสำคัญได้แก่ ต้นทุนราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่จะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือนเพิ่มขึ้น รวมถึงการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เดิมในปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 21 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 23 สต. ต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นอัตราเท่าใดยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ นอกจากนี้ในปีนี้ กพพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราค่าบริการส่งทางท่อก๊าซธรรมชาติ หลังไม่ได้ปรับมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2552 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาแต่ถือว่าเป็นอัตราไม่สูงนัก

ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมส่งคำตอบ 200 ข้อ ต่อข้อสังเกตในกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จ.กระบี่ กลับไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับ สผ.ว่าจะมีความเห็นอย่างไรต่อกระ-บวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งถ้า สผ.มีข้อคิดเห็นมาว่าให้เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบใหม่ก็ต้องปฏิบัติตาม

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก กฟผ. กล่าวว่า หาก สผ.ให้เดินหน้าต่อโดยปรับแก้ไขอีไอเอและอีเอชไอเอเพียงบางส่วน กฟผ.ก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่หากต้องทำรายงานอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่ทั้งหมด กฟผ.ต้องเริ่มจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานใหม่พร้อมเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ตั้งแต่ต้น ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ก่อนส่งรายงานให้ สผ.พิจารณาคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี 6 เดือน ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไปอีก.

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: