ขายแล้ว!! KFC ประกาศขายกิจการ 244 สาขาทั้งหมดในไทย ตามนโยบายของบริษัทแม่





นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา หาผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการสาขาของร้านเคเอฟซีในไทยทั้งหมดที่บริหารโดยยัมฯ ขณะนี้มีอยู่อีก 244 สาขา โดยได้แต่งตั้งให้บริษัท ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย คาดว่าทั้งกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีนี้

 


       
       อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้แจ้งให้พนักงานออฟฟิศกว่า 270 คน และพนักงานร้านอีกกว่า 10,000 คน รวมทั้งซัปพลายเออร์พันธมิตรต่างๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว โดยที่ยัมฯ ได้ปรับกลยุทธ์มาสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ 100% มุ่งเน้นการบริหารและพัฒนาแบรนด์และสนับสนุนแฟรนไชส์


       
       ปัจจุบันเคเอฟซีในไทยมีทั้งหมด 586 สาขา แบ่งเป็นของยัมฯ 244 สาขา สัดส่วน 42% ซีอาร์จี 219 สาขา สัดส่วน 37% และอาร์ดี 123 สาขา สัดส่วน 21% (จะเป็น 130 สาขาตามสัญญาเดิมในอีก 4 เดือนนี้) ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้วยัมฯ เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการสาขาเดิมกว่า 130 สาขาให้กับแฟรนไชส์รายใหม่คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลลอปเม้นต์ จำกัด หรืออาร์ดี ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่จะใช้กลยุทธ์ให้แฟรนไชส์เป็นผู้ดำเนินการแทน 

 

 “เคเอฟซียังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก จึงต้องหาพันธมิตรมาช่วยขยายธุรกิจตามเป้าหมายให้มีร้านเคเอฟซีในไทยครบ 800 สาขาภายในปี 2563 ซึ่งเราก็เชิญทางพันธมิตรเดิมคือ ซีอาร์จี และอาร์ดี เข้ามาร่วมด้วยหากสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์เพิ่มอีก” นางแววคนีย์กล่าว
       
       ในต่างประเทศที่ดำเนินการตามรูปแบบนี้ก็เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จดีธุรกิจเติบโตมากขึ้น ล่าสุดคือที่จีน ก็เพิ่งเปลี่ยนแปลงเสร็จปลายปีที่แล้ว โดยแยกออกไปเป็น ยัมส์ไชน่า เพื่อดูแลร้านกว่า 7,000 สาขาทั้งหมด ส่วนยัมฯ เองก็ไม่ได้ลงทุนและบริหารแล้วจะเป็นเจ้าของแบรนด์


       
       ทั้งนี้ ตามแผนงานปี 2560 แบรนด์เคเอฟซีทั้งหมดจาก 3 รายจะลงทุนร่วมกันประมาณ 1,035 ล้านบาทในการขยายสาขารวม 52 แห่งปีนี้ แบ่งเป็นไดรฟ์ทรู 15 แห่ง และจะคงสัดส่วนการบริการดีลิเวอรีครอบคลุม 50% ของสาขาเคเอฟซีทั้งหมด และอีก 700 ล้านบาทเป็นงบการตลาด แต่เมื่อการขายแฟรนไชส์ให้ผู้ที่สนใจเสร็จตามแผนแล้ว ทางยัมฯ ก็จะหยุดการลงทุนขยายสาขาเพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางแฟรนไชส์


       
       การทำงานจากนี้ไปเรามี Brand Advisory Council ซึ่งประกอบไปด้วย แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล, จีเอ็มของ ซีอาร์จี, จีเอ็มของอาร์ดี และผู้บริหารจากยัมฯ ที่ดูแลเคเอฟซี 244 สาขา เพื่อเป็นคณะทำงานการวางนโยบาย ทั้งขยายสาขา การตลาด การพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแฟรนไชส์จะเป็นผู้ลงทุนสาขา ส่วนงบการตลาดนั้นจะมาจากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของแต่ละรายเพื่อเข้ากองกลาง โดยมีทีมการตลาดของยัมฯ เป็นผู้ดูแลบริหาร

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.manager.co.th

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: