เตือน!เที่ยวปีใหม่โต้ลมหนาว กับภัยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส





   ใครที่เดินทางขึ้นไปรับลมหนาวทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเรื่องต้องระวังกันสักนิด?? เพราะขึ้นเหนือไปเที่ยวปลายปีแบบนี้ อากาศก็เย็นกว่ากรุงเทพฯ อย่างแน่นอน บางคนขี้หนาวก็อยากอาบน้ำอุ่นๆ สิ่งนี่แหละที่จะเตือน…“เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐาน”

 

[ads]

 

   จากข้อมูล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 9 ปี (2551-2559) มีรายงานทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ ผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งเกิดในช่วง ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่มีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคน และผู้ป่วยหรือเสียชีวิตเป็นผู้ที่อาบน้ำ “ในลำดับหลังๆ”

   นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้หลายจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีอากาศหนาวเย็น หมอกลงจัดตามภูเขาสูง เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็น และเดือนธันวาคมก็มีวันหยุดยาวหลายครั้ง จึงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัย??

   เราควรระมัดระวัง “ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส เพราะนักท่องเที่ยวที่ไปสัมผัสอากาศหนาว มักต้องการอาบน้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่น โดยเฉพาะตามที่พักหรือรีสอร์ทต่างๆ ที่อาจมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้แก๊สแทนระบบไฟฟ้า”

   รายงานทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ ที่มีผู้ป่วย 27 ราย และเสียชีวิต 6 รายนั้น ปรากฏอายุระหว่าง 2-54 ปี เกิดเหตุในช่วงหน้าหนาว ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบตามสถานที่พักต่างๆ เช่น รีสอร์ท 12 ราย โรงแรม ที่พักราชการ และสถานที่ปฏิบัติธรรม สถานที่ละ 4 ราย นอกจากนี้ยังพบในบ้านและในโรงเรียนด้วย

   โดยเฉพาะช่วงต้นปี 59 ที่ผ่านมา ได้รับรายงาน 3 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 4 ราย แต่โชคดี “ไม่มีผู้เสียชีวิต” จากการสอบสวนทุกเหตุการณ์นั้น พบว่าเกิดจากการใช้ “เครื่องทำน้ำอุ่นที่ไม่มีมาตรฐาน (มอก.)” และมีการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เหมาะสมกับสภาพและขนาดห้องน้ำ มีช่องระบายอากาศขนาดเล็ก ไม่มีหรือไม่เปิดพัดลมดูดอากาศ“จากการตรวจวัดปริมาณแก๊สใน 6 เหตุการณ์ พบว่ามีปริมาณแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้แก๊สไม่สมบูรณ์ มีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทดลองวัดทุก 10 นาที”

   หลายคนอาจสงสัยว่าเพียงแค่นี้ จะทำให้เป็นสาเหตุป่วยและเสียชีวิตได้อย่างไร?? คำอธิบายจาก นพ.เจษฎา ไขสงสัยให้ฟังว่า เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเผาไหม้ออกซิเจน จะทำความร้อน ในขณะเดียวกันก็สร้าง “คาร์บอนไดออกไซด์” และ “คาร์บอนมอนอกไซด์” ขึ้นมา ดังนั้นหากห้องน้ำมีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดี ก็จะเกิดการสะสมของ “แก๊สพิษ” เหล่านี้ขึ้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่ “สูดดม” คาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป จะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากได้รับแก๊สพิษ มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูงด้วย…!!

 

   รู้เช่นนี้แล้ว…มาฟังคำแนะนำเบื้องต้นในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส อันดับแรกสุด “เจ้าของกิจการ” หรือ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ควรมีการตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยติดตั้งในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นไว้อย่างชัดเจน

   ถัดมาจะเป็นหน้าที่ของ “ผู้เข้าพัก” ควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างอาบน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที!!

   ควรเปิดพัดลมดูดอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ หรือแง้มประตูให้พอมีช่องลมผ่านเข้าออกได้บ้าง หากห้องน้ำไม่มีพัดลมดูดอากาศหรือประตูห้องน้ำเป็นประตูทึบ ควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างอาบน้ำ

   สำหรับคนที่มี “โรคประจำตัว” ย้ำเลยว่า ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะหากได้รับแก๊สที่ว่ามานี้ โอกาสเสี่ยงมีมากกว่าคนที่มีร่างกายปกติ แต่หากจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หากสถานที่พักติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องอาบน้ำนั้นด้วย และแนะนำให้ความรู้เรื่องการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สอย่างต่อเนื่องแก่ประชาชนที่เข้าพัก

   เพียงเท่านี้ก็สามารถ “ลดความสูญเสีย” ที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนได้ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีหรือสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นจากมันสมองของคน เพราะ “มนุษย์เป็นผู้สร้าง” แต่ “มนุษย์ก็เป็นผู้ทำลาย” จากความประมาทของตัวเองได้เช่นกัน

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก:www.dailynews.co.th

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: