น่าสนใจ! ‘ผ้าอนามัย’กับการวิเคราะห์บทบาททางสังคมของผู้หญิง





   ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ “ผ้าอนามัย” ในบทความเรื่อง “ผ้าอนามัย ยาคุมกำเนิด เครื่องยนต์ นวัตกรรมเปลี่ยนบทบาททางสังคมของผู้หญิง” ตีพิมพ์ในหนังสือ “พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี : ความจริงและภาพแทน” ซึ่งเป็นเอกสารประกอบงานเสวนาชื่อเดียวกัน จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

[ads]

 

   ขนิษฐา คันธะวิชัย นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนบทความดังกล่าว ระบุว่า ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์อันเป็นนวัตกรรม สรีระทางชีวภาพเป็นตัวกำหนดบทบาททางสังคมของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สรีระแบบสตรี ซึ่งมีมดลูกและเต้านม ก็เพื่อทำหน้าที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเผ่าพันธุ์รุ่นต่อไป ในขณะที่สรีระแบบบุรุษซึ่งมีเซลล์กล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่า ต้องเป็นผู้ออกไปหาอาหารมาจุนเจือ ข้อจำกีดด้านสรีระของผู้หญิงนี้เอง ทำให้ความสามารถด้อยกว่าผู้ชาย ไม่เพียงเท่านั้น หลายสังคม มีการลดคุณค่าและจำกัดสิทธิของผู้หญิง โดยอ้างว่าผู้หญิงมี “ประจำเดือน” อันเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ จึงถูกทำให้ด้อยค่าในสังคมที่ผู้ชายถือว่าตนเป็นใหญ่ แม้แต่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ก็ยังเหลือร่องรอยของการจำกัดสิทธิของผู้หญิงที่ “ห้าม” ทำสิ่งต่างๆ เนื่องจากจะไม่เป็นมงคล เช่น ทางภาคเหนือ พื้นที่บางแห่งของวัด ห้ามผู้หญิงเข้า เพราะเชื่อว่าหากผู้หญิงมีประจำเดือนจะทำให้อาคมเสื่อม เป็นต้น

   ขนิษฐา ยังระบุอีกว่า ผู้หญิงคงยอมรับว่า การมีประจำเดือนสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นทั้งกายและใจ บางคนปวดท้อง สภาพจิตใจไม่ปกติอันเกิดจากฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังต้องคอยระวังไม่ให้เลอะเปรอะเปื้อน อย่่างไรก็ตาม แม้จะมีความยุ่งยากก็สามารถจัดการได้ด้วย “ผ้าอนามัย” หากพิจารณาโฆษณาผ้าอนามัยทั่วโลก จะพบว่ามักเป็นภาพผู้หญิงทำกิจกรรมหนักๆกลางแจ้ง เช่น เล่นกีฬา หรือการผจญภัย แน่นอนว่า สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงทำกิจกรรมเหล่านี้ได้แม้ใน “วันมามาก” คือ ผ้าอนามัย ซึ่งมาช่วยแก้สถานการณ์ด้วยการซึมซับอย่างหมดจด

“ในสมัยที่โลกยังไม่มีผ้าอนามัย ผู้หญิงใช้วัสดุซึมซับต่างๆกันไปในท้องถิ่น เช่น ผ้าเก่า ผูกเอวคล้ายกางเกงใน หรืออาจเป็นขนสัตว์ หญ้า สาหร่าย ซึ่งมีความยุ่งยาก รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ ต่อมาในยุคที่เริ่มมีการประดิษฐ์ผ้าอนามัยโดยปรับปรุงจากผ้าซับเลือดทหาร เมื่อ ค.ศ.1888 แต่ยังมีราคาแพง กระทั่งบริษัทโกเต็กซ์ ผลิตผ้าอนามัยที่ใช้สำลีซึมซับได้มาก และราคาถูกลง การประดิษฐ์ผ้าอนามัยจนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชีวิตผู้หญิงไม่ถูกจำกัดเฉพาะพื้นที่ครัวเรือน หรือหมู่บ้านแคบๆ อีกต่อไป แต่ยังสามารถออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางไปเรียนหนังสือ ทำงาน และทำกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น เมื่อสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้อย่างปกติโดยไม่มีวันมามากมาเป็นเครื่องกีดขวาง ผลที่ตามมาคือ ผู้หญิงสามารถหารายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ต้องพึ่งพาการออกไปาหาอาหารของผู้ชายอีกต่อไป และส่งผลต่อเนื่องไปอีกว่าบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมสมัยใหม่ ไม่แตกต่างกันมากนัก” นักวิจัยกล่าว

   ทั้งนี้ ขนิษฐายังยกตัวอย่างถึงข่าวในสังคมออนไลน์ เรื่องการขอบริจาคผ้าอนามัยให้เด็กสาวบนดอยที่ อำเภออมก๋อย  จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเมื่อมีประจำเดือน ต้องไปนั่งริมห้วย เพราะไม่มีผ้าอนามัย แสดงให้เห็นถึงผลเสียต่อโอกาสของผู้หญิง ซึ่งแทนที่จะไปโรงเรียนหรือทำงานบ้าน แต่กลับต้องนั่งริมห้วย จึงขาดโอกาสในการทำงานเลี้ยงชีพนั่นเอง

 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: