ทำอย่างไร…เมื่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ?





 ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน( Sudden Cardiac Arrest, SCA) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือป้องกันทั้งผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด จัดเป็นเสี้ยววินาทีชีวิตจริงๆเพราะจะเกิดแบบไม่เตือนกัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักจะไม่ได้รับการช่วยชีวิตได้ทันท่วงที

 

[ads]

 

 

 จะป้องกัน SCA อย่างไร

      SCA เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งที่มีและไม่มีโรคหัวใจอยู่ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่เดิมจะมีความเสี่ยงมากกว่า มาตรการต่างๆที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด SCA และเป็นมาตรการป้องกันการเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่ทำให้เกิด SCA ทั้งในคนปกติและคนที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว

 

 1.Healthy life style ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว ทานอาหารให้เหมาะสม

2.งดการสูบบุหรี่

3.ตรวจสุขภาพและรักษาโรคอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน

4.ตรวจสอบประวัติในครอบครัวว่ามีประวัติ โรคหัวใจหรือเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพบมีพันธุกรรมโรคใหลตายได้บ่อย

5.ผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลัง หัวใจทำงานล้มเหลว ท่านเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด SCA ควรเข้ารับการรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

6.ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เนื่องจากอาจตรวจพบสาเหตุของ SCA ได้จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะได้ป้องกันไว้ก่อน

7.สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดปกติ ควรรักษาให้ถูกต้อง ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดถ้าใช้ไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิด SCA ได้

8.สอบถามแพทย์เรื่องแรงบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย ทางการแพทย์เรียกค่านี้ว่า Ejection Fraction (EF) เนื่องจากการบีบตัวของหัวใจถ้าอ่อนกำลังมากเท่าไหร่ จะมีโอกาสเกิด SCA ได้มากขึ้น เราสามารถตรวจวัดค่าแรงบีบตัวของหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

9.ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงสูงหรือเคยรอดชีวิตจาก SCA แพทย์จะทำการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่าเครื่องกระตุกหัวใจ (AICD) ไว้ที่หน้าอก เครื่องนี้จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแพทย์ประจำตัวที่จะทำการกระตุกหัวใจให้กลับมาเป็นเป็นปกติโดยอัตโนมัติ เมื่อเกิด SCA สำหรับท่านที่มีโรคหัวใจอ่อนกำลัง ควรปรึกษาแพทย์ว่าท่านควรได้รับเครื่องตัวนี้หรือไม่

 

ทำอย่างไรเมื่อถ้าประสบเหตุพบผู้ป่วย SCD


   ระลึกไว้เสมอว่าเราอาจเป็นเทวดา นางฟ้าของใครก็ได้ตลอดเวลา ชีวิตของคนอาจอยู่ในมือเราโดยไม่คาดฝัน อาจเป็นคนไม่รู้จักที่พบในรถไฟฟ้า ตลาด เพื่อนๆที่โรงเรียน ที่ทำงานหรือแม้แต่คนในครอบครัวเราเองก็ได้  ดังนั้นควรฝึกเตรียมพร้อมรับมือไว้จะดีกว่า

ควรฝึกปฏิบัติการกู้ชีวิตพื้นฐานไว้บ้าง เช่น การปั้มหัวใจ สามารถหาความรู้ได้จากเอกสารของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือสมัครเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน หาข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน www.niems.go.th

เรียนรู้การใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator, AED) ซึ่งเริ่มมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานบริษัทใหญ่ๆ ต่อไปอาจจะมีการฝึกอบรมให้กับชุมชนต่างๆ และเริ่มมีการติดตั้งอุปกรณ์นี้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆมากขึ้น เครื่องนี้จะช่วยแนะนำการกู้ชีวิตและกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นเป็นปกติได้เองแบบอัตโนมัติ

จัดเตรียมเบอร์โทรศัพท์ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินเช่น 1669  หรือของโรงพยาบาลต่างๆที่เราเป็นคนไข้อยู่หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้สามารถกดเรียกได้ง่าย สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

เมื่อประสบเหตุพบคนหมดสติที่สงสัยว่าจะเสียชีวิต ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้ประเมินหาสัญญาณชีพ จับชีพจร ตะโกนเรียกคนช่วย เรียกคนมาช่วยหลายๆคน อย่าอายที่ต้องตระโกนเรียกคนช่วย คนผ่านไปมาอาจมีประสบการณ์ในการกู้ชีวิตมากกว่าเรา หรืออย่างน้อยก็ช่วยเราโทรศัพท์ฉุกเฉินได้ เริ่มปั้มหัวใจ ไม่ยาก อาจเลียนแบบที่เห็นในภาพยนตร์ ปั้มหน้าอกอย่างเดียวหรือช่วยหายใจด้วยก็ได้ ถ้าไม่สะดวกเป่าปากช่วยหายใจ ก็ปั้มหัวใจอย่างเดียว ปั้มให้ถูกตำแหน่งบริเวณช่วงล่างของกระดูกกลางอก ปั้มเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที แต่ละครั้งให้กดหน้าอกให้หนักพอให้ทรวงอกยุบลง 5-6 เซนติเมตร

หมั่นฝึกฝน ทบทวน จนมั่นใจ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปแถมยังมีโอกาสทำบุญช่วยชีวิตคนได้อีกด้วย

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: