สวมเสื้อกาวน์คีบแตะแวะเซเว่นฯ! เชื้อโรคกระเซ็นจาก รพ.สู่ประชาชน?





  ดรามาลุกโชนกรณีมีการรณรงค์ ให้นิสิต นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพทางการแพทย์ทุกแขนง “งดสวมเสื้อกาวน์ในที่สาธารณะ” เพราะหลายคนคงเคยเห็นบุคลากรทางการแพทย์ใส่เสื้อกาวน์คีบแตะเดินซื้อของในตลาดนัด หรือเดินไปมาบริเวณนอกโซนโรงพยาบาล เพราะหลายคนคิดว่ากาวน์คือชุดป้องกันเชื้อโรค มาเดินข้างนอกจะไม่แพร่เชื้อ หรือนำเชื้อกลับสู่วอร์ดเหรอ? แต่อีกฝ่ายก็มองว่าเสื้อกาวน์ก็คือ “ยูนิฟอร์ม” ของ นศ.แพทย์ และประเด็นคือต้องแยกให้ออกระหว่างกาวน์ที่ใช้ในห้องแล็บ กับกาวน์ที่เป็นเครื่องแบบก่อน เพราะไม่มีใครเขาใส่กาวน์ในแล็บเปื้อนเลือดเปื้อนน้ำเหลืองใส่ไปข้างนอกหรอก!

      

 

[ads]

 

       ประเด็นเสื้อกาวน์ระอุขึ้นจากเฟซบุ๊ก Med Sci Smoothies เพจสาระจากชาวเทคนิคการแพทย์ ที่ตั้งคำถามว่า "กาวน์" คืออะไร พร้อมอธิบายต่อว่า เสื้อกาวน์ คือเสื้อที่แพทย์ เทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชฯ ต้องสวมใส่และใช้งานเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกาวน์สั้น กาวน์ยาว หรือกาวน์กึ่งสั้นกึ่งยาว

 “สำหรับท่านแล้ว มันคืออะไร มันมีหน้าที่อย่างไร "เครื่องปกป้อง" หรือ "ยูนิฟอร์ม"?

       กาวน์ทำไมถึงถูกใส่สวมออกไปนอกห้องปฏิบัติการ ทำไมมันถึงยังคงไม่ถูกแก้ไขให้ถูกต้อง ว่าไม่ใช่แค่ "ภายในโรงพยาบาล" ที่ห้ามสวมกาวน์ออกนอกอาณาเขต แต่ต้องเป็น "นอกโซนปฏิบัติการ" เราจะไม่พูดถึงเสื้อของสายงานพยาบาล เพราะนั่นเป็นชุดส่วนเฉพาะของพยาบาล เราจะไม่ก้าวล่วงเสียดีกว่าครับ ไม่งั้น เราจะไม่ได้แก้ไขปัญหาเสื้อกาวน์เลย

       นอกจากนี้ ยังให้ทุกคนที่เป็นแฟนเพจแสดงความคิดเห็นถึงวิธีการจัดการปัญหาเสื้อกาวน์ พร้อมรณรงค์ No Gown In Public(ไม่ใส่เสื้อกาวน์ในที่สาธารณะ 

       “ร่วมรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์ เลิกใช้เสื้อกาวน์ในทางที่ไม่ควรเช่นนี้ และร่วมกันรณรงค์ ให้นิสิต นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพทางการแพทย์ทุกแขนง งดสวมเสื้อกาวน์ในที่สาธารณะ จำกัดให้อยู่เพียงห้องตรวจ ห้องปฏิบัติ การเพื่อป้องกันความสกปรกจากห้องตรวจ/ห้องปฏิบัติการ ไปสู่สาธารณะ และกันความสกปรกจากสิ่งแวดล้อม มาสู่คนไข้ด้วยครับ”

       โดยเน้นเฉพาะกาวน์ยาวมากกว่าที่ไม่ควรสวมใส่ออกมาในที่สาธารณะ เพราะคือส่วนที่ใช้ในการป้องกันมากกว่า ส่วนกาวน์สั้น คือยูนิฟอร์ม มีความเป็นทางการมากกว่ากาวน์ยาว

       ไม่นานนักมีผู้ที่ออกมาคอมเมนต์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพียบ!

      

       กาวน์ = ภาพลักษณ์ความสะอาด

        “เรื่องที่บอกว่าไม่อยากให้ใส่กาวน์ยาวก็เพื่อการป้องกันเชื้อโรคเนี่ย มันพ่วงกับการเป็นสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ด้วยครับผมจะเปรียบเทียบเล่นๆว่าเป็นการสวมถุงมือแล้วกันครับ เวลาทำงานเราสวมถุงมือเพื่อป้องกันเชื้อโรคในแล็บ เวลาเราไม่ทำงานแล้วก็ถอดใช่ไหมครับ ทีนี้ พอเราพบป้าสวมชุดปกติแล้วสวมถุงมือเหมือนกับเราด้วย คำถามคือเรามองถุงมือคู่นั้นยังไงครับ เราก็อาจจะมองว่าถุงมือนั้นเอามาทำความสะอาดพื้นหรือไม่ เป็นป้าภารโรงหรือไม่ คือผูกมันกับเรื่องของการป้องกัน เช่นกันกับเสื้อกาวน์ ผมเลยคิดว่าในสาธารณะ เสื้อกาวน์ยาว ไม่ควรใส่ในที่สาธารณะมากกว่าครับ ถ้าหากว่าจะให้เป็นเชิงเครื่องหมาย หรือเป็นยูนิฟอร์ม ก็น่าจะจัดเป็นกาวน์สั้นอย่างเดียว ให้ชัดเจนไปเลยจะดีกว่าไหมครับ ยังสบายแก่ผู้สวมใส่ด้วยน่าจะดีกว่าครับ ส่วนชุดอื่นๆ ชุดคลุมผ่าตัดอะไรนั่นไม่เกี่ยวครับ เว้นแต่ว่าสวมชุดเตรียมผ่าตัดสวมหมวกรองเท้าแตะจากห้องผ่าตัดมาซื้อไอติมอันนี้ก็คงไม่ไหวมั้งครับ”

       “หากการใส่เสื้อกาวน์เพื่อแสดงความเป็นนักศึกษาแพทย์ เมื่อออกจากห้องเรียนหรือห้องตรวจก็ควรจะถอดออก ถึงแม้ไม่ปนเปื้อนสิ่งส่งตรวจแต่ก็ไม่เหมาะสมกับการใส่ออกนอกหน่วยตรวจหรือสถานที่ที่ต้องการแสดงสถานนักศึกษา เพราะในมุมมองของผู้พบเห็นที่ไม่ใช่ในสาขาวิชาชีพ มันคือสิ่งสกปรกเพราะเสื้อกาวน์ ในมุมมองของคนทั่วไปคือเสื้อที่ใช้ในการปกป้องสิ่งสกปรก คือความควรไม่ควรต่างหากที่จะใส่หรือไม่ใส่ ยกตัวอยากถ้าแม่บ้านใส่ถุงมือขัดห้องน้ำใหม่ยังไม่ใช้มานั่งจัดของอยู่ข้าง ๆ คุณ คุณจะรู้สึกอยากจะจับของที่แม่บ้านท่านนั้นจับอีกหรือไม่”

       อย่าดรามา…แค่เครื่องแบบนักศึกษาแพทย์!

559000010514503

 

        ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ อย่าง อาจารย์แพทย์หญิงสุวรรณรัตน์ สิงหะบุระอุดม ผช.ผอ.ศศค.รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ด้านกิจกรรมนิสิตและสร้างเสริมสุขภาพ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Suwannarat Singhaburaudom พร้อมภาพของนิสิตแพทย์ในชุดกาวน์ยาว พร้อมชี้แจงว่า ชุดกาวน์ยาวคือเป็นแบบฟอร์มที่ใส่เพื่อให้ทราบว่าเป็นนิสิตแพทย์ ไม่ใช่ใครอื่น!     

       “ขออนุญาตใช้รูปนิสิตแพทย์ของตัวเองที่ใส่กาวน์ยาวปฏิบัติงาน เรียน และดูแลคนไข้ใน รพ.และใส่ในงานพิธีต่างๆด้วยกาวน์ยาวที่สะอาด ดูดีและเรียบร้อย มาให้ดูค่ะ

 559000010514504

        ชุดกาวน์ยาวของนิสิตแพทย์เป็นแบบฟอร์มที่ใส่เพื่อให้ทราบว่าเป็นใคร และคนอื่นๆจะได้แยกออกว่าเป็นนักเรียนแพทย์ มีการปักชื่อสกุล โลโก้เป็นตัวการันตีว่านี่คือนิสิต/นักศึกษาแพทย์ ไม่ใช่ใครอื่น ในเรื่องความสะอาดคงไม่ต่างกับกาวน์สั้น เพราะจริงๆแล้วคนที่ใส่กาวน์สั้น เช่น extern, intern, residentทำหัตถการมากกว่านิสิตแพทย์ปี 4,5 ด้วยซ้ำ แต่กาวน์ในห้องแล็บนั้นต่างกัน ห้ามเอามาเป็นประเด็นเดียวกัน ปกติเค้าก็ไม่ใส่ออกจากfieldของตนอยู่แล้วค่ะ คนอื่นจะหลงประเด็นได้ ทุกคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะตระหนักเรื่องความสะอาดกันอยู่แล้ว ส่วนที่นอกกรอบถือว่าเป็นส่วนน้อย ก็เตือนเป็นรายๆไปค่ะ เพราะ รพ.ของเรา นิสิตแพทย์ของเรา..เราต้องดูแลอยู่แล้วค่ะ”

       แม้แต่เภสัชที่ต้องใส่เสื้อกาวน์ประจำร้านยา ยังออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อย่าเพิ่งรณรงค์แคมเปญนี้ด้วยการใช้คำว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกแขนงเลย มันดูกว้างเกินไป

       “บางสายอาชีพก็ไม่ได้ทำงานในห้องแล็บและหน้าที่ของเสื้อกาวน์ในแต่ละแบบก็มีความวาไรตี้แตกต่างกันไปอีก ถ้าจะโฟกัสกันที่ความสะอาดจริงๆ ผมว่าเปลี่ยนจากห้ามใส่เสื้อกาวน์ออกข้างนอกมาเป็นรณรงค์ให้ซักเสื้อกาวน์ทุกวันกันดีกว่าครับ อันนี้เห็นมีหลายคนหมกไว้นานอยู่เหมือนกันนะ”

      

       “สีขาว” สัญลักษณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความเมตตา

       อย่างไรก็ดีได้มี เพจเฟซบุ๊ก 1412 Cardiology ซึ่งเป็นเพจวิชาการสำหรับแพทย์ที่มียอดผู้ติดตามสูงที่สุดในประเทศไทย ได้ตอบข้อสงสัยในปัญหาเสื้อกาวน์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจและกระจ่างแจ้ง ว่า เสื้อกาวน์ของนักเรียนแพทย์เป็น"เครื่องแบบ" ไม่ใช่ "เครื่องป้องกันเชื้อโรค"

 

       14633055_580686628805103_8926008473037603952_n

    

       1. เรื่องนักเรียนแพทย์ใส่กาวน์ยาวเดินในโรงพยาบาลทำกันมานานแล้ว เสื้อกาวน์ยาวตัวที่เห็นในรูปที่เป็นที่มาของดรามาเป็น "เครื่องแบบ" ของนักเรียนแพทย์ปี 4 และ ปี 5 ไม่ใช่ "เสื้อป้องกันเชื้อโรค" เรามีพิธีมอบเสื้อกาวน์ให้ก่อนขึ้นปฏิบัติงานในวอร์ด เราไม่อนุญาตให้นักเรียนแพทย์ใส่ออกไปเดินในพื้นที่นอกโรงพยาบาลแต่สามารถเดินภายในโรงพยาบาลได้

 

       2. ถามว่าจะเป็นการแพร่เชื้อโรคไปในพื้นที่ของโรงพยาบาลหรือไม่? โดยปกติแล้วในหอผู้ป่วยถ้ามีหลักฐานของเชื้อที่มีความรุนแรงเราจะมีเสื้อกาวน์อีกตัวให้ใส่ทับ หมวก ถุงมือ และ หน้ากาก ก่อนเข้าตรวจรักษาผู้ป่วย เมื่อใช้เสร็จให้ทิ้งในพื้นที่เฉพาะ

 

       3. การดูแลรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลไม่เหมือนการทำแล็บของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นห้องทดลองมีพื้นที่ชัดเจน ถ้าหากจะให้ถอดเสื้อกาวน์ยาวก่อนออกมาเดินในพื้นที่ของโรงพยาบาลทุกกรณี รุ่นพี่แพทย์ที่ใส่กาวน์สั้น คือเค้าไม่ได้ใส่อะไรไว้ด้านในอีกแล้วนะครับ และเดินตรวจรักษาในชุดนั้นกับน้องๆเช่นกัน พยาบาลที่ทำงานในวอร์ดก็ใส่ชั้นเดียว พวกเค้าก็ต้องเตรียมเสื้อกาวน์อีกตัวหรือชุดพยาบาลอีกชุดมาเปลี่ยนด้วยก่อนเดินออกจากวอร์ด ญาติผู้ป่วยที่มาเยี่ยมก็ต้องเปลี่ยน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเตรียมเสื้อกาวน์ให้ใส่ทุกคนทั้งแพทย์พยาบาลคนเข็นเปลเจ้าหน้าที่ญาติทุกคนในเขตที่เป็นหอผู้ป่วยทุกตึก ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ลำบากมาก และคำถามต่อมาคือจุดไหนคือจุดตัดจะเอาเส้นแบ่งตรงไหนมาบอกว่าจะเริ่มมีเชื้อโรคปนเปื้อน บันไดวอร์ด ระเบียงวอร์ด ห่างจากตัวตึกกี่เมตร ว่าต้องเริ่มใส่กาวน์แล้ว และ เอกสาร หนังสือ แฟ้มประวัติผู้ป่วย ที่ถูกส่งออกมาจากหอผู้ป่วยจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลให้พวกเราปฏิบัติแบบนี้มาโดยตลอด

     

       4. ในโรงพยาบาลที่ผมเคยทำงานมาในต่างประเทศ และ หลายๆประเทศที่เคยไปดูงาน (แต่ไม่ได้ไปทำงาน) ไม่มีกาวน์สั้นแบบชั้นเดียว เราใช้กาวน์ยาวแขนยาวหรือสูทใส่เวลาทำงานในหอผู้ป่วยและเดินไปมาภายในโรงพยาบาลด้วยชุดนั้นโดยไม่ได้ถอดออกเช่นกัน

 

        5.ใครเป็นคนเริ่มให้เอาเสื้อกาวน์มาเป็นเครื่องแบบของแพทย์? ย้อนเวลาไปราวๆร้อยกว่าปีก่อน ก่อนศตวรรษที่ 20 แพทย์ไม่มีเครื่องแบบเป็นเสื้อกาวน์ แพทย์จะใส่ชุดดำทั้งชุด ในสองเหตุผลที่เชื่อกันคือในศตวรรษที่ 18 – 19 ชุดดำถือเป็นชุดทางการ และ สีดำคือสีแห่งความตายมาคนที่มาพบแพทย์หมายถึงใกล้ที่จะสละดวงวิญญาณไปอยู่อีกภพนึงแล้ว หลักฐานชิ้นแรกที่บอกว่าแพทย์สวมเครื่องแบบสีขาวคือภาพเขียนของ Thomas Eakins ในปี 1889 ชื่อว่า "The Agnew Clinic" เป็นภาพของ D. Hayes Agnew และผู้ช่วยของเค้าทำผ่าตัดใน amphitheater ที่ University of Pennsylvania ในเมือง Philadelphia ซึ่งถือเป็นโรงเรียนแพทย์ แห่งแรกของสหรัฐฯ ในชุดขาวทั้งหมด การเปลี่ยนมาใส่สีขาวได้รับอิทธิพลมาจากศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ Joseph Lister ที่นำแนวคิดของ Louis Pasteur มาทำการทดลองเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนผ่าตัด เขาทำการทดลองก่อนที่ยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลกจะถูกค้นพบโดย Sir Alexander Flemming

       เกือบ 50 ปี สีขาวของ Joseph Lister แสดงถึงความสะอาดและการปลอดเชื้อในห้องผ่าตัด ต่อมาสีขาวได้ถูกนำมาปรับใช้เป็นเครื่องแบบของแพทย์แทนที่สีดำในหลายๆประเทศ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ความหมายในแง่ของการปลอดเชื้อของ Lister ถูกเปลี่ยนมาเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์ในเชิงวิทยาศาสตร์ และต่อมาได้กลายมาเป็น "cloak of compassion" แสดงถึงความผูกพันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เป็นสัญลักษณ์ของแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความเมตตา สืบต่อมาจนกระทั่งมีพิธีมอบเสื้อกาวน์ หรือ white coat ceremony เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯที่ University of Chicago's Pritzker School of Medicine

    

       และนั่นทำให้การสวมเสื้อกาวน์ของนักเรียนแพทย์ถือเป็น "เครื่องแบบ" ไม่ใช่ "เครื่องป้องกันเชื้อโรค" ในประเทศไทยเราการสวมเสื้อกาวน์สีขาวได้นำมาจากต่างประเทศทั้งหมดเพียงแต่มาปรับเนื้อผ้าและลักษณะของเสื้อกาวน์ให้เข้ากับสภาพอากาศในบ้านเราเท่านั้นเอง

 

[ads=center]

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก:http://manager.co.th

 

     

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: