ความเห็นและความรู้ในมุมชาวโรงแรม”เหตุใดเซอร์วิสชาร์จ(service charge)จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน?”





เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากสำหรับประเด็นที่ชาวพันทิปคนหนึ่งได้ตั้งกระทู้แนะนำคนอื่นว่าไม่ควรจ่ายเซอร์วิสชาร์จ (service charge) ให้กับร้านอาหาร ด้วยเหตุผลในทำนองที่ว่าร้านไม่ซื่อสัตย์กับเราก่อน อีกทั้งยังได้อ้างว่าได้ปรึกษาผู้รู้ทางกฎหมายมาแล้ว ตนเองจึงลองทำดูแล้วก็ทำได้จริง ถึงมาบอกต่อในพันทิป ซึ่งหลังจากเรื่องนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็มีหลายคนได้แต่สงสัยว่าจริงหรือไม่? จนล่าสุดทนายตัวจริง (แต่ไม่ใช่คนที่เจ้าของกระทู้อ้างว่าไปปรึกษา) ก็ออกมาคอนเฟิร์มแล้วว่าทำได้จริง (อ่านเพิ่มเติม >>> ทนายยืนยัน ลูกค้าสามารถปฏิเสธจ่าย "เซอร์วิสชาร์จ"(service charge) ร้านอาหารได้จริง)

และล่าสุด ในวันเดียวกันนั้น (21 ก.ย.59) ทางเพจ Hotel Man เรื่องเล่าชาวโรงแรม ซึ่งเป็นเพจศูนย์รวมผู้ประกอบการและพนักงานโรงแรม ก็ได้ออกมาชี้แจงในมุมของโรงแรมบ้างว่าลูกค้ามีสิทธิไม่จ่ายเซอร์วิสชาร์จได้หรือไม่? พร้อมทั้งอ้างอิงถึงกฎหมายสรรพากรมาด้วย

servicecharge250415
ภาพประกอบจาก www.thestar.com.my

สาระหนักๆ เลยนะวันนี้ว่าด้วยเรื่องของ Service Charge จ่ายหรือไม่? บอกก่อนนะว่ายาวหน่อย แต่จะเป็นประโยชน์แน่นอนในการเตรียมตัวรับมือของ เจ้าของโรงแรม, ผู้บริหาร, และพนักงานอย่างเราๆ เฮียคาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะมีแขกเริ่มทำกันบ้างเวลา Check Out เตรียมตัวกันดีๆ นะ….ออกตัวก่อนว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัวลักษณะแสดงทรรศนะอย่างเดียว ไม่ได้ตัดสินใดๆ ทั้งสิ้นนะ

Ok.. ตอนนี้มันมีประเด็นว่าเริ่มมีลูกค้าตั้งข้อสังเกตว่าการใช้บริการโรงแรมหรือร้านอาหารแล้วต้องจ่าย 10% Service Charge เนี่ย ถ้าลูกค้าปฏิเสธการจ่ายก็สามารถทำได้ไม่มีความผิด และก็เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นรวมทั้งลองทำการปฏิเสธการจ่ายกันบ้างแล้ว แถมมีการชักชวนให้คนอื่นๆ ลองทำการปฏิเสธการจ่ายด้วยเช่นกัน ส่วนตัวเฮียเองคงไปฟันธงอะไรไม่ได้ว่าผิดหรือไม่ผิดนะเพราะก็ไม่ได้มีความรู้กฏหมายอะไรขนาดนั้นและเท่าที่เฮียรู้ ย้ำว่าที่เฮียรู้นะ ยังไม่เคยมีเคสการฟ้องร้อง มีคดีตัวอย่าง หรือฏีกา ว่าด้วยเรื่องการตัดสินการที่ "ผู้ให้บริการ" ฟ้อง "ผู้รับบริการ" ว่าไม่จ่ายค่า Service Charge แล้วมีความผิดมาก่อนนะครับ เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะทีละกรณีนะ

อธิบายก่อนว่าการใส่ Service Charge ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในงานบริการนั้น เป้าประสงค์คิอต้องการให้เงินนี้ถึงกับพนักงานที่ต้องมาทำหน้าที่บริการ แต่ในทางกฏหมายแล้วไม่ได้มีกฏบังคับว่าธุรกิจบริการนั้นต้อง "ใส่" หรือ "ไม่ใส่" ค่า Ser. ไว้การเรียกเก็บเงินลูกค้า เราจะเห็นได้ว่าบางร้านบางโรงแรมมี Service Charge แต่บางร้านก็ไม่มี เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะดูจาก "ความพร้อม" ของตัวเองมากกว่า ว่าบริการดีพอที่จะใส่ Ser. เข้าไปเรียกเก็บลูกค้าหรือไม่แต่สำหรับธุรกิจโรงแรมเรามันใส่กันเข้าไปอยู่แล้วเป็นปกติเพราะธุรกิจโรงแรมถือเป็นธุรกิจที่ "Absolute Service" มีการบริการแบบครบวงจรในทุกส่วนตั้งแต่ห้องพัก อาหาร เครื่องดื่ม สปา หรือสันทนาการ แต่ บางกิจการที่่ใส่เข้าไปแล้วลูกค้าเจอการบริการที่ไม่ดีและขอไม่จ่าย Ser. อันนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็แล้วแต่วิธีการจัดการของแต่ละที่ไปแต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยกเว้นค่า Ser. แต่จะให้เป็นส่วนลดหรือ Compensate อย่างอื่นแทนมากกว่า ถามว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับทางรายได้ของและต้นทุนมั้ย อันนี้ตอบได้ว่า "ไม่น่าจะมี" เพราะในส่วนของต้นทุนด้าน "ค่าอาหารที่รวมค่าแรงพนักงาน ฯลฯ ไปแล้ว" กับ "ค่าภาษี Vat7%" มันถูกเรียกเก็บไปจน Cover ต้นทุนเหล่านี้แล้ว แต่มันจะมีผลทางบัญชีที่ทำให้ "รายได้" ลดลง ซึ่งก็คงไม่ส่งผลดีแน่ในส่วนของสวัสดิการที่จะต้องมาจ่ายค่า Ser. ให้พนักงานในแต่ละเดือน ทีมาว่ากันเป็นกรณีในกรณีที่เริ่มมีกระแสการ "จ่าย" หรือ "ไม่จ่าย"

[ads]

กรณีแรก – เงิน Service Charge ที่พวกเราได้รับกันทุกเดือนเนี่ย จริงๆ มันถือเป็นรายได้ + ที่สองที่เป็น "ส่วนของเจ้าของ" ซึ่งรายได้ตรงนี้ อ้างอิงจากข้อวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ 0702/7983 ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณฐานภาษีและนำส่งในส่วนของ "ภาษีเงินได้นิติบุคคล" แต่ "เจ้าของ" เค้าก็จะต้องแบ่งยอดที่บันทึกบัญชีเพราะมันต้องมีส่วนหนึ่งที่เขาก็ต้องเอามาจ่ายให้พวกเราในทุกเดือนที่เหลือก็บันทึกเป็นรายรับและนำไปคำนวณฐานภาษีนิติบุคคล ซึ่งมันจะต่างกับ + แรกคือ 7% ที่ต้องนำส่งรัฐเต็มจำนวน ทีนี้ไอ้ตัว Service ที่เป็นของเจ้าของเนี่ย เค้าจะแบ่งมาจ่ายพนักงาน 100% เลยก็ได้เพราะอย่างที่บอกว่า "มันเป็นส่วนของเจ้าของเค้าๆ" จะให้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ให้ไม่ถึงเพราะต้องหักค่าแตกหักเสียหายในโรงแรมไว้ 30% (โดยปกตินะที่อื่นหักเท่าไหร่อันนี้เฮียไม่รู้) ที่เหลือ 70% อาจจะมาให้เราหมดหรือให้แค่ 40%, 50%, อันนี้ก็วัด "ใจ" ของเจ้าของว่าจะให้มากน้อยแค่ไหนและเหลือไปคำนวณเป็นฐานภาษีมากน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากสรรพากรวินิจฉัยแล้วว่า "การใช้ Service Charge ให้พนักงานทุกเดือนไม่มีผลทำให้ฐานภาษีของผู้ประกอบการลดลง" และอย่างที่บอกว่า "มันเป็นส่วนของเจ้าของ" ซึ่งตรงนี้เองที่ลูกค้าบางคนจะมองว่า "เจ้าของได้เต็มๆ" ไม่เกี่ยวกับค่าอาหารและบริการที่เขาใช้ไปและมันไม่ได้ถึงพนักงานโดยตรง เขาเลยจะ "ไม่จ่าย" จนเกิดประเด็นขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมันก็เป็นมุมมองของลูกค้าเค้าที่เราต้องอธิบายให้เค้าเข้าใจ ถ้าแขกไม่จ่ายค่า Ser. คนที่กระทบคนแรกจะไม่ใช่พนักงานแต่เป็น "เจ้าของ" เพราะเป็นส่วนของเค้า แต่ในส่วนของพนักงานจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบรองลงมาซึ่งเรียกได้ว่า "หนัก" กว่าเจ้าของมากเพราะรายได้ค่า Service Charge ถือเป็นอีกรายรับหนึ่งของพนักงานและเป็นตัวหลักในการพิจารณา "เปลี่ยนงาน" อีกด้วย

กรณีที่สอง – มันเคยมีเคสกรณีของกรมสรรพากรให้นายจ้างนำรายได้ค่า Service Charge เข้าไปรวมเป็นรายได้ในการส่งเงินสมบท (Providence fund) ซึ่งมันก็จะทำให้ฐานส่งเงินสมทบ (Providence Fund) มันสูงขึ้นแม้จะมีเพดานสูงสุดที่ต้องจ่ายอยู่ก็ตาม ทีนี้นายจ้างเค้าก็เลยอุทรณ์ว่าเงินนี้จ่ายให้พนักงานทุกเดือนไม่ควรนำมารวม และก็ได้มีข้อวินิจฉัยจากสรรพากรออกมาแล้วว่า "กรณีค่าบริการ (Service charge) ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าทุกราย ถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ จะต้องบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และการที่บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าบริการ (Service charge) ให้แก่ลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่มีผลให้ฐานภาษีของบริษัทฯ ลดลงแต่อย่างใด" สรุปคือให้บันทึกบัญชีและจ่ายค่าบริการให้ลูกจ้างอย่างพวกเรา แต่ไม่ได้บอกว่าจ่ายในอัตราเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเค้าจะไม่จ่ายก็ได้ไม่ผิดกฏหมาย แต่ก็มีหลายครั้งที่กรมแรงงานตัดสินให้โรงแรมต้องจ่ายค่า Service Charge ให้พนักงานที่ลาออกไปแล้วแต่นายจ้างไม่ยอมจ่ายมาเป็นกรณีศึกษาเหมือนกัน ประเด็นนี้จะออกแนวว่า "ไม่จ่ายก็ได้" แต่ก็สามารถ "ฟ้องกรมแรงงานได้" เช่นกัน

กรณีต่อมา – แขกมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่า Service Charge ได้ไหม อันนี้ตอบเลยนะว่า "มันยังฟันธงไม่ได้เพราะยังไม่มีกรณีศึกษาอย่างที่บอก" กรณีที่เราติดป้ายบอกและแจ้งล่วงหน้าแล้วว่ามีค่า Service Charge แขกยอมรับและยอมจ่ายอันนี้ก็เป็นเรื่องปกติไป แต่กรณีแขกไม่ยอมจ่ายถามว่าสถานประกอบการไปบังคับได้ไหม อันนี้ก็ "ไม่น่าจะได้" เพราะไม่มีตัวบทกฏหมายใดระบุบังคับว่า "ต้องจ่าย" ถ้ามีกรณีพิพาทแขกก็จะใช้ประเด็นว่า "เค้าจ่ายค่าอาหารและภาษีซึ่งเป็นสิ่งที่เค้าใช้ไปแล้ว ไม่เข้าข่ายทำให้เสียทรัพย์ ส่วนค่าบริการเค้าไม่ได้รับการบริการที่ดีหรือไม่ได้ใช้บริการ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องจ่าย" ซึ่งไอ้ตัวบริการเนี่ย มันวัดกันไม่ได้ว่า "ได้รับเหมาะสม" หรือ "ไม่เหมาะสม" เช่นเดียวกับที่ยังไม่มีกฏบัญญัติไว้ว่า "ต้องใส่" ค่า Service Charge เข้าไว้ในทุกธุรกิจบริการ ตัว Service Charge มันเป็นกฏระเบียบที่เราใช้ต่อๆ กันมาเท่านั้นเองในส่วนของ Service Charge คงต้องรอกรณีศึกษาเคสแรกกันต่อไปเพราะแบบนี้เฮียก็ไม่รู้จะตัดสินแบบไหนนะเพราะยังไม่เคยเจอมาก่อน

โดยสรุปถ้าพูดกันตามมารยาทโดยไม่มีตัวบทกฏหมายมาเกี่ยวข้องนะการที่เราแจ้งเรียบร้อย (ไม่รวมกรณีบางร้านบางสถานที่หมกเม็ดไม่ใส่ใน Bill เรียกเก็บตั้งแต่แรก ลูกค้ามารู้ตัวตอนจ่ายนะ) อันนี้ลูกค้าควรจะต้องจ่ายค่า Service Charge แต่ถ้าในกรณีที่ลูกค้าเห็นว่าได้รับบริการที่ไม่สมกับที่ต้องจ่าย อันนี้ทางสถานประกอบการก็ต้องหาทางเยียวยาส่วนมากจะให้เป็น Compensate อย่างอื่นแทนมากกว่าการ Waive ค่า Service Charge ออกไปมากกว่า ซึ่งลูกค้าก็มีสิทธิร้องเรียนอยู่แล้ว

ตอนนี้เริ่มมีประเด็นกันหนักขึ้นเรื่อง "จ่ายหรือไม่จ่ายค่า Service Charge ได้หรือไม่ได้?" ที่ยังต้องคงถกเถียงกันอยู่และเฮียคาดว่าไม่นานภาครัฐคงต้องเข้ามาดูแลก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งกันหนักไปกว่านี้ระหว่างผู้ให้และผู้ใช้บริการ หนักเข้าถ้ามีการต่อต้านการจ่าย Service Charge กันมากขึ้น ย่อมส่งผลร้ายต่ออุตสาหกรรมและบุคคลากรบริการในอนาคตเป็นแน่…ด้านล่างเป็น Link ตัวอย่างคำวินิจฉัยในส่วนของนายจ้างกับการนำเอา Service Charge มารวมกับรายได้ของพนักงาน

ปล. เฮียไม่รู้ว่าเมืองนอกเค้ามีกฏหมายหรือบทบัญญัติเรื่อง Service Charge และนิยามคำว่าอาชีพ "งานบริการ" กันยังไง? มีวิธีปฏิบัติยังไง? ใครอยู่เมืองนอกมีความรู้มา Share กันได้นะ ส่วนใครมีข้อมูลเรื่องกระแสการไม่จ่าย Service Charge หรือ กฏหมายใด ๆ ใส่มาได้เลยเพื่อประโยชน์ของชุมชนคนโรงแรมและงานบริการของพวกเรา และงานบริการอื่นๆ ได้รับรู้และเตรียมตัวรับมือไว้….เวลา Comment อะไรห้ามเอ่ยชื่อสถานที่ สถาบัน หรือบุคคลพาดพิงใดๆ เพราะถ้าพวกเอ็งโดน ข้อหาหมิ่นประมาทหรือพรบ.คอมฯ มา จะลำบากนะ ระวังกันด้วย

อ้างอิงจากสรรพากร : http://www.rd.go.th/publish/54309.0.html

คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เพจต้นเรื่อง หากต้องการอ่านความคิดเห็นอื่นๆ

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: