ต้องแยกให้ออก! “ชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า” อันตรายกว่าที่คิด… ชานิ้วไหน บอกโรคได้ต่างกัน !





อาการชาปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า อาจไม่ใช่แค่สัญญาณเตือนว่า ร่างกายของเรากำลังขาดวิตามินบี แต่อาจเป็นสัญญาณของหลายๆโรค ! มาสังเกตความแตกต่าง และหาทางแก้ไขให้ทันกันก่อนดีกว่าค่ะ

 

อาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า อาจเกิดขึ้นได้กับหลายคนจนบางครั้งเราอาจมองว่าเป็นเรื่อง ‘ชินชา’ แค่สะบัดมือหรือเติมวิตามินให้ร่างกายนิดหน่อย เดี๋ยวก็หาย

แต่ขอให้รู้ไว้เลยว่า…อาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าอันตรายมากไปกว่านั้น ใครที่เป็นอย่างต่อเนื่อง และดูท่าว่าจะเป็นบ่อยและหนักขึ้น ต้องรีบแก้ไขด่วน!

 

1491-2

 

โดยปกติแล้ว อาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. อยู่ในท่าเดิม ๆ นานๆ ทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือซ้ำ ๆ ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง

2. ร่างกายมีระดับธาตุและวิตามินผิดปกติ

3. อาการข้างเคียงของโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคเบาหวาน งูสวัด ลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง อาการผิดปกติของปลายประสาท เป็นต้น

 

อาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า สามารถแบ่งแยกสาเหตุได้จาก ‘ตำแหน่ง’ ที่เกิดกับร่างกาย ดังนี้

 

1. ชาเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งซีก (ซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง)

เป็นสัญญาณของโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกมือบวม หรือกระดูกมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกมือแคบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรืออาจเกิดจากแผ่นพังผืดเสื่อม และหนาตัวขึ้น

 

2. ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และอาจมีอาการปวดมือ ปวดร้าวไปถึงแขนด้วย

นั่นอาจหมายถึงสัญญาณของโรคเส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ โดยเกิดจากการใช้งานมือในลักษณะการเกร็งอยู่นาน ๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร ไดร์เป่าผม คอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า

 

1491-1

 

3. ชาที่นิ้วก้อย

อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณรักแร้ที่ยาวไปถึงนิ้วก้อย สาเหตุจากงอและเกร็งข้อศอกเพื่อถือหูโทรศัพท์เป็นเวลานาน

 

4. ชาปลายเท้าและปลายมือ

อาจเกิดจากอาการปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม หรือภาวะขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือบี 12 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคไต โรคมะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น

 

5. ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่ไม่มีอาการชาปลายเท้า และมักจะชาช่วงกลางคืนหรือก่อนนอน

อาจเกิดจากการใช้มือทำงานหนัก เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ต่อเนื่องนาน ๆ เล่นโทรศัพท์บ่อย ๆ ครั้งละนาน ๆ ซึ่งอาจทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือได้

 

6. ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และด้านข้างฝ่ามือ (สันมือ)

อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งก็ควรเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว

 

[ads]

 

7. ชาง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้

อาจเกิดจากเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขน แนะนำให้เปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเอาแขนพาดพนักเก้าอี้

 

8. ชาทั้งแถบ ตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ

อาจเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์นะคะ เพราะน่าเป็นห่วงมากเลยทีเดียว

 

9. ชาหลังเท้าลากยาวไปถึงหน้าแข้ง แต่ไม่มีอาการชาที่มือ

อาจเกิดจากการนั่งไขว้ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทบริเวณใต้เข่าด้านนอกถูกกดทับจนเลือดเดินติดขัดได้

 

10. ชาทั้งเท้า และเลยไปถึงสะโพก

อาการนี้ก็ควรต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

 

1491-3

 

11. อาการชาที่เริ่มเกิดขึ้นจากปลายเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้ว ลามขึ้นไปที่ข้อเท้า เข่า และลำตัว

เป็นอาการที่มักเกิดกับนักดื่มคอทองแดง เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายเส้นประสาทให้เสียหายหลายเส้น

 

 

การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าสามารถจำแนกได้ตามอาการดังต่อไปนี้

 

1. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

หากคุณมีอาการชาแปล๊บ ๆ ซ่า ๆ เป็นระยะ แค่สะบัดข้อมือหรือเปลี่ยนอิริยาบถก็สามารถหายได้ อาจรักษาอาการที่ว่านี้โดยการให้ยาต้านการอักเสบของเส้นเอ็นและเส้นประสาท รวมถึงการให้วิตามินบีเสริมเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดไป

 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการชารุนแรงและต่อเนื่อง

หากผู้ป่วยมีอาการชาที่รุนแรงและต่อเนื่อง อาจต้องรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้าด้วยการให้ยาต้านการอักเสบของเส้นประสาทก่อน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องผ่าตัดเอ็นที่กดรัดเส้นประสาทนั้นออก

 

3. ผลจากโรคต่างๆที่เคยเป็นอยู่

หากอาการชาปลายมือปลายเท้ามีสาเหตุมาจากโรคเดิมที่เป็นอยู่ แพทย์มักจะรักษาตามอาการป่วยที่เป็นอยู่ ให้การรักษาตามโรคที่เป็นอยู่ก่อน  เช่น

– หากอาการชาเกิดจากโรคเบาหวาน ก็ให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดลง

– หากอาการชาเกิดจากการตั้งครรภ์ อาการชาจะหายไปเองได้หลังคลอดแล้ว

– สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมแก่ร่างกาย

 

สำหรับบางคนแล้ว อาการชาอาจเป็นเพียงอาการชั่วครั้งชั่วคราว แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น และคุณเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่ชัด

ลองสังเกตดูหน่อยว่าอาการชาที่เป็นอยู่เป็นแบบไหน เป็นแล้วสักพักก็หาย หรือเป็นนานก็ยังไม่หาย แถมเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ

 

หากภาวะผิดปกติเป็นเพียงภาวะเริ่มต้น เราจะได้สามารถแก้ไขได้ทัน ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความถี่และความรุนแรงของอาการไว้ด้วย จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก นานาสาระเพื่อสุขภาพที่ดี, หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ rak-sukapap.com

 

 

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: