เมื่อไหร่! ถึงจะสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม…เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องรู้!





ผู้หญิงทุกคนล้วนไม่มีใครอยากจะต้องตัดหน้าอกทิ้งเพราะเป็น ‘มะเร็งเต้านม’ แต่เมื่อเราไม่สามารถควบคุมพันธุกรรม การรับประทานอาหาร หรือการใช้ชีวิตได้ดีมากพอ โอกาสที่เราจะเกิดเป็นมะเร็งเต้านมก็ง่ายนิดเดียว ทั้งนี้ก็ยังพอจะรักษาให้หายขาดได้ หากคุณรับรู้และแก้ไขมันได้ทันเวลาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก วิธีการที่ว่านี้มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำวิธีสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่คุณมีจะภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ดังต่อไปนี้

 

1. ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บสิน่ากลัว

สาเหตุที่คนไข้มาหาหมออันดับหนึ่ง คือ “การตรวจพบก้อนที่เต้านม” รองลงมา คือ “อาการเจ็บเต้านม”

ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านม ส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ และก็มักจะลงเอยด้วยการไปพบหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองนั้นไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งในกรณีนี้มักจะรักษาได้ทัน

ผิดกับผู้ที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะคิดว่าไม่เป็นไร ปล่อยเอาไว้ก่อนก็ได้ คิดไปเองว่ามะเร็งต้องเจ็บ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะรักษาได้ไม่ทัน

 

Breast cancer surgery scars by partial mastectomy. With effect filter. 

2. ซีสมักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ

หากจะแบ่งประเภทของก้อนที่เกิดขึ้นในเต้านมแล้ว โรคนี้มีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1) ซีสเต้านม

2) เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย)

3) มะเร็งเต้านม

สำหรับซีสที่เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน มักจะโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังจากรอบเดือนหมด ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีสมักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ พบว่าร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ

ผู้หญิงหลายๆ คนมีความเข้าใจผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไรและปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้ และนั่นอาจจะไม่ทันเวลาแล้ว

 

[ads]

 

มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยมากแค่ไหน?

จากข้อมูลที่เคยเก็บมา…โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 3 ชั่วโมง จะพบว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม 2 คน และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 30 ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม หรือ พบว่าหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1แสนคน ซึ่งถ้าเทียบเป็นร้อยละก็เพียง 0.04  ซึ่งนับว่าน้อยมาก (ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาของไทยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยาระดับโลก)

 

ทั้งนี้อัตราการพบมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและวิถีการดำเนินชีวิต ส่วนในประเทศตะวันตก พบมะเร็งเต้านมได้มากกว่า 100 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคน สำหรับในเอเชียมักจะพบได้น้อยกว่า

 

 

 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง?

คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี ซึ่งกว่าร้อยละ70 ของโรคมะเร็ง เกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น สารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงความเครียดภายในจิตใจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆสนับสนุนด้วย ได้แก่

1. อายุ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่ายิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะสตรีวัย 60 ปีขึ้นไป จะยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 50 – 60 

2. คนที่เคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม ถือเป็นสาเหตุรองลงมา คนที่เคยผ่าตัด และพบว่าเป็นซีสเต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ (atypia) ก็จะมีโอกาสเกิดมะเร็งขึ้นได้

3. ญาติพี่น้องเคยเป็น การมีญาติสนิท ทั้งแม่ พี่สาว น้องสาว หรือลูก เคยเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 คน อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

4. ปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งเสริมความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย การหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้า การไม่มีบุตร  หรือมีบุตรยาก และการที่เคยใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี เป็นต้น

 

1376

 

เมื่อไหร่ถึงต้องสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ?

อาการที่พบแล้วต้องสงสัยว่าเป็นมะเร็งโดยหลักๆ ก็คือ “การคลำเจอก้อนที่เต้านม” โดยก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมโดยส่วนมากมักจะแข็งและขรุขระ แต่บางครั้งอาจเป็นก้อนเรียบๆ ก็ได้ 

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบ เช่น

1. ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม

2. เต้านมมีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม

3. มีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม

4. มีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม

 

เมื่อต้องสงสัยไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆก็แล้วแต่ ควรเข้ารับการตรวจด้วย “เครื่องแมมโมแกรม(mammogram) และ อัลตราซาวด์ (ultrasound)” เพราะเครื่องมือเหล่านี้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อน หรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้ 

 

 

รู้กันอย่างนี้แล้ว ก็อย่านิ่งนอนใจนะคะ ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ทำง่ายๆด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเมื่อมีอาการต้องสงสัย อย่าปล่อยไว้ก่อนเพราะไม่รู้สึกเจ็บ และควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมประจำปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ คุณก็จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังแล้ว…โชคดีไม่มีมะเร็งกันทุกคนค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY

 

[ads=center]

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: