กินแต่ส้มตำ..ทำไมยังอ้วน???





   ส้มตำ ยำ นับเป็นเมนูอาหารลดน้ำหนักยอดฮิตของนักลดน้ำหนักมืออาชีพ เรามักได้ยินคำแนะนำว่า ถ้าอยากผอมเร็วๆ โดยไม่อันตราย ไม่ต้องพึ่งพายาลดความอ้วน ให้กินส้มตา ยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเย็น มื้อดึก ถ้าเป็นส้มตำ กินเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

 

[ads]

 

 แต่สังเกตหรือไม่ว่า….ยิ่งกินส้มตำ กินยำ นอกจากจะไม่ผอมลงแล้ว ตัวกลับยิ่งบวมฉุ ผิวแลดูชื้นๆ เหมือนมีเหงื่อซึมอยู่ตลอดเวลา แถมผมร่วง ผิวซีด คล้ายคนอ้วนที่ขาดสารอาหาร ที่ว่ามาทั้งหมด ที่จริงแล้วไม่ใช่ความผิดของส้มตำ หรือ ยำ แต่เป็นเพราะ “โซเดียม” จากเครื่องปรุงรสทั้งหลายที่เราได้รับมากเกินไปต่างหาก

โซเดียม คืออะไร?

          โซเดียม จริงๆ แล้วก็คือแร่ธาตุสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมระบบการไหลเวียนเลือด น้ำเหลืองและของเหลวต่างๆในร่างกายให้อยู่ในภาวะที่สมดุล รักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่  ช่วยดูแลการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ) เป็นต้น

          ในเมื่อมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ แล้วทำไมเราจึงบอกว่า โซเดียมทำให้เกิดอาการตัวบวมฉุ หรือที่เรียกว่า “บวมน้ำ” ล่ะโซเดียมมาจากไหน กินเท่าไหร่ถึงจะดี? พูดให้เข้าใจง่ายๆ “โซเดียม ก็คือ เกลือ” ชนิดหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ร่างกายจะขาดไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรได้รับเกินวันละประมาณ 1 ช้อนชาตามปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และตามปกติในอาหารธรรมชาติอย่างผัก-ผลไม้และเนื้อสัตว์ก็มีโซเดียมอยู่แล้ว หากเรากินอาหารครบทั้ง 3 มื้อถึงแม้เราจะกินอาหารประเภทผัก-ผลไม้หรือเนื้อสัตว์โดยไม่ผ่านการปรุงรส ก็ได้รับโซเดียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

          แต่ด้วยวิถีการกินอยู่ของคนสมัยนี้ คงจะหลีกเลี่ยงการได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกายได้ยาก เนื่องจากอาหารที่มีขายตามท้องตลาด อาหารแช่แข็งตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ที่เรานิยมกินกันเพราะสะดวกสบายหากินง่าย ล้วนแล้วแต่มีโซเดียมแอบแฝงอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีรสเค็มน้อยมาก หรือไม่มีรสเค็มเลยก็ตาม

papaya-salad-710613_640

ภาพ:pixabay.com

          “โซเดียมคือเกลือ” เมื่อพูดถึงเกลือ เรามักนึกถึงอาหารรสเค็ม อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว หากเป็นขนม เราก็มักนึกถึงขนมขบเคี้ยวบรรจุซอง แต่ที่จริงแล้วเรามักได้รับโซเดียมแอบแฝงโดยไม่รู้ตัว จากอาหารที่เราทานแทบทุกชนิด เช่น

– อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง รวมถึงผลไม้กระป๋อง ที่มีการใช้สารกันบูดอาหารเหล่านี้จะมีโซเดียมในปริมาณสูงมาก

– บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ซุปก้อน ซุปผง

– เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ที่ถึงแม้จะไม่ออกรสเค็ม อย่างเช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวหวาน

– อาหารที่แปรรูปเพื่อการเก็บรักษาด้วยการหมักดอง เช่น ปลาร้า ปูเค็ม ปลาเค็ม ผักดอง

– ผงชูรส แม้จะไม่มีรสเค็มเลย แถมยังให้รสสัมผัสที่หวาน เชื่อว่าแทบทุกบ้าน จะขาดผงชูรสในการปรุงอาหารไม่ได้เลย โดยเฉพาะอาหารรสชาติดุเด็ดเผ็ดมันอย่าง ส้มตำ หรือ ยำ ด้วยแล้ว ถ้าไม่เติมผงชูรสเพื่อตัดความเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ที่แข่งกันออกรสอยู่ รสชาติจะเข้มข้นเกินไปจนทานไม่ไหวอย่างแน่นอน

– ขนมเบเกอรี่ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของเบ๊กกิ้งโซดา หรือ ผงฟู อย่างเช่น ขนมเค้ก คุ้กกี้ แพนเค้ก

– น้ำหวาน น้ำผลไม้บรรจุกล่อง-ขวด น้ำอัดลม เครื่องดื่มกระตุ้นพลังงาน เพิ่มความสดชื่นต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีโซเดียมเป็นส่วนผสมเช่นกัน

ด้วยวิถีการกินอยู่ที่ต้องเร่งรีบ เน้นความรวดเร็ว สะดวก (แต่ต้องอร่อย) เป็นหลักของคนในยุคนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักเห็นคนที่ได้รับโซเดียมมากเกินจำเป็นจนอ้วนแบบบวมน้ำกันเยอะพอสมควร แต่นอกจากอาการอ้วนฉุแบบบวมน้ำแล้ว การได้รับโซเดียมมากเกินไปยังเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอีกหลายโรค เช่น

– ไตเสื่อม เนื่องจาก ไต เป็นอวัยวะหลักที่รับหน้าที่ขับโซเดียมที่ได้รับเกินออกจากร่างกาย รองลงมาคือทางอุจจาระและ เหงื่อ หากได้รับโซเดียมเกินเป็นประจำย่อมเป็นภาระหนักเกินกำลังของไตเป็นด่านแรก

– ความดันโลหิตสูง เมื่อได้รับโซเดียมมากเกินพอดี ร่างกายจะกักเก็บน้ำมากขึ้นเพื่อเจือจางของเหลวในร่างกายให้อยู่ในระดับที่สมดุล ปริมาณน้ำในหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะความดันสูงในหลอดเลือด นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตามมา

– อาการบวมน้ำ จากการการคั่งของน้ำและเกลือ หากเกิดการคั่งมากๆ จะเกิดภาวะน้ำล้นออกมานอกหลอดเลือดทำให้เกิดอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้า

– นิ่วและกระดูกพรุน เมื่อได้รับโซเดียมมากเกิน ร่างกายจะขับทั้งโซเดียม และแคลเซี่ยมทางปัสสาวะ เป็นต้นเหตุของการเกิดนิ่วในไต และเมื่อแคลเซี่ยมถูกขับออกมาก ร่างกายก็จะดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้แทนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน การลดปริมาณโซเดียมลงจากวันละ 10 กรัมเหลือ 5 กรัม (ลดการบริโภคโซเดียมลงครึ่งหนึ่ง) จะมีผลเทียบเท่าการทานแคลเซี่ยมวันละ 1000 กรัม โดยไม่ต้องเสียค่าแคลเซี่ยมเม็ด

          นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่า คนที่ชอบกินรสเค็มหรือรสจัดมากเกินไป มีพฤติกรรมชอบกินของหวานและเครื่องดื่มหวานๆ มากกว่าคนปกติ  เนื่องจากเมื่อได้รับโซเดียมมากเกินต้องการ ร่างกายจะมีความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายมากขึ้น จนเกิดภาวะขาดน้ำ กระหายน้ำเพราะร่างกายต้องการน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อลดระดับความเข้มข้นของของเหลวภายใน และเครื่องดื่มที่คนชอบทานรสเค็มเลือก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีรสหวาน จึงกลับยิ่งทำให้เลือดข้นหนืด มีน้ำตาลในเซลล์มากเกินพอดี จนเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และ เบาหวานเพิ่มขึ้น

          ดังนั้น ใครต้องการทานส้มตำหรือยำ เพื่อลดน้ำหนัก สามารถทำได้และลดได้จริง แต่ควรเป็นส้มตำที่ปรุงรสอย่างอ่อน ลดหรือหลีกเลี่ยงการปรุงด้วยน้ำปลาร้า ปูเค็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผงชูรส เพราะนอกจากไม่ช่วยให้ผอม ยังทำให้อ้วนแบบบวมน้ำและส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายๆ ด้านอีกด้วย

 

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: