ปัสสวะเปลี่ยนสี..หลังกินยา อันตรายไหม?





   ลักษณะของปัสสาวะ ถือเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมักจะมีการตรวจปัสสาวะแทบทุกครั้ง โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนถึงปานกลาง แต่หากสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิมอาจสร้างความกังวลใจให้กับทุกคนไม่น้อย ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะนั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก หรือมีการติดเชื้อ อักเสบ และเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ แล้วส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล เป็นต้น หรืออาหารบางชนิด เช่น การรับประทานแครอทปริมาณมาก อาจทำให้ปัสสาวะมีสีส้มแดงจากสารเบต้าแคโรทีน นอกจากนี้ ยาบางชนิดก็อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน ซึ่งเภสัชกรมักจะแจ้งผู้ป่วยขณะอธิบายวิธีการใช้ยา รวมทั้งอาจระบุไว้ในฉลากบนซองยา เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงผลดังกล่าวของยา

 

[ads]

 

   การเปลี่ยนสีของปัสสาวะจากยานั้น มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และส่วนใหญ่เกิดจากสีของยาหรือสารที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงยา โดยอาจพบได้หลายสี เช่น สีส้ม-ชมพู-แดง หรือ สีน้ำตาล-ดำ หรือ สีเขียว-น้ำเงิน หรือ สีขาวขุ่น ดังแสดงในตาราง

0256-1

   ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของยา แต่บางครั้ง แม้เป็นยาชนิดเดียวกันก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของปัสสาวะได้แตกต่างกันในแต่ละคน เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น ปริมาณยาที่ได้รับ (ปริมาณยามากอาจทำให้มีสีเข้มมาก) ปริมาณและสีเดิมของปัสสาวะ (เหลืองอ่อนหรือเข้ม ซึ่งจะผสมกับสีของยาแล้วได้สีใหม่) สภาวะความเป็นกรด-ด่าง ของปัสสาวะ โรคหรือภาวะเดิมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วม เป็นต้น

   อย่างไรก็ตาม หากมีปัสสาวะเปลี่ยนสีขณะใช้ยา และไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาลดไขมันในเลือดบางกลุ่ม หรือมีจ้ำเลือดตามตัวร่วมกับปัสสาวะสีแดงถึงน้ำตาล ขณะกำลังใช้ยาที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) และวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD deficiency) แล้วปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะในกรณีเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงของยา

 

[ads=center]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: