ขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศไม่เป็น? มาดู 20 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับมือใหม่หัดเดินทาง





ใครที่เคยนั่งเครื่องบินสายการบิน low cost ไปเที่ยวต่างจังหวัดอาจจะไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรมาก แต่สำหรับคนที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินมาก่อน ปุ๊บปั๊บก็จับฉลากได้ไปต่างประเทศเลย อาจจะตื่นเต้น ทำตัวไม่ถูกกันหน่อย ลองมาอ่าน 20 ขั้นตอนสำหรับมือใหม่นี้ โดยล็อกอินKnowgistics เว็บไซต์http://pantip.com/topic/35204555

1. ก่อนเดินทาง 2 อาทิตย์ เตรียม passport และทบทวน travel itinerary
คนส่วนใหญ่นานๆ ทีถึงจะได้ขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศค่ะ อาจลืมไปว่าเอา passport (หนังสือเดินทาง) ไปเก็บไว้ที่ไหน  ถ้าหาไม่เจอจะได้มีเวลาไปทำเล่มใหม่ทัน แต่ถ้าหาเจอก็ตรวจสอบอีกครั้งค่ะว่า ณ วันที่จะเดินทาง passport ของเรามีอายุใช้งานเหลือเกินกว่า 6 เดือนหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปมักจะไม่ให้ผู้ที่ถือ passport อายุเหลือไม่ถึง 6 เดือนเข้าประเทศ  ดังนั้น ถ้าอายุใช้งานเหลือไม่ถึง หรือปริ่มๆ ว่าจะไม่ถึง 6 เดือน ก็ถือโอกาสไปทำเล่มใหม่ซะเลยค่ะ  ที่เกี่ยวกับ passport อีกเรื่องคือ visa ถ้าประเทศที่กำลังจะไปต้องขอ visa ก่อน ก็ถึงเวลาต้องไปดำเนินการให้เรียบร้อยแล้วนะคะ

อีกอย่างคือ travel itinerary (ใบรายละเอียดการเดินทาง) ค่ะ ที่ airline (สายการบิน) จะให้มาเมื่อจองตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว  แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะไม่ต้องใช้ตอนไปขึ้นเครื่องบินแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่สามารถหาข้อมูลการเดินทางของเราจากชื่อใน passport ได้เลย แต่ควรถือโอกาสตรวจสอบอีกครั้งค่ะว่า ตัวสะกดชื่อ/นามสกุลของเราใน passport กับ travel itinerary ตรงกันหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ให้ขึ้นเครื่องถ้าสะกดไม่ตรงกัน  ในกรณีที่พบว่าตัวสะกดชื่อ/นามสกุลใน travel itinerary ไม่ถูกต้อง ให้รีบแจ้ง airline เพื่อแก้ไขข้อมูลทันทีนะคะ

pt_1

2. ก่อนเดินทาง 1 อาทิตย์ ตรวจสอบ flight status ล่วงหน้า
หลายคนซื้อตั๋วโปรโมชั่นไว้ข้ามปีเพราะราคาจะถูกมาก ระหว่างนั้น airline อาจมีการปรับตารางบิน หรือยกเลิก flight (เที่ยวบิน) ของเราได้ค่ะ ซึ่งถ้ามีกรณีเช่นนั้น ปกติจะมีการส่ง SMS หรือ email แจ้งผู้โดยสาร แต่ก็ควรเผื่อเอาไว้ว่า การแจ้งเตือนอาจผิดพลาดได้ โดยเราสามารถตรวจสอบ flight status (สถานะเที่ยวบิน) จาก website หรือ call center ของ airline ค่ะ  แต่โดยส่วนตัวแล้ว ใช้ www.flightstats.com ที่สามารถ track (ติดตาม) เครื่องบินแบบ real-time ได้ด้วย

pt_2

3. ก่อนเดินทาง 3 วัน เริ่มจัดกระเป๋า
เพื่อไม่ให้ฉุกละหุก ควรเริ่มจัดกระเป๋าก่อนเดินทางสัก 3 วัน จะได้พอมีเวลาไปซื้อของที่ขาดหายค่ะ  กระเป๋าที่ใช้ในการเดินทางจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ checked baggage (กระเป๋าใบที่จะไว้ใต้ท้องเครื่องบิน) กับ carry-on baggage (กระเป๋าใบที่จะถือติดตัวขึ้นเครื่อง)  ไม่ว่าจะเป็นใบไหน อย่าขนวัตถุอันตราย ของผิดกฎหมาย หรืออาวุธเด็ดขาดนะคะ

ในส่วนของ carry-on baggage สามารถติดตัวได้ 2 ใบคือ กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก (ไม่เกิน 56x36x23 cm โดยประมาณ น้ำหนักไม่เกิน 7 kg) อีกใบอาจเป็นกระเป๋าถือหรือกระเป๋า notebook ค่ะ  ทั้งสองใบนี้ ถ้าจะมีของเหลว เช่น แชมพู เจลอาบน้ำ หรือสเปรย์ ต้องรวมกันไม่เกิน 1,000 cc (1 ลิตร) โดยแยกใส่ขวด/ถุงที่มีขนาดบรรจุ (ของขวด/ถุง) ชิ้นละไม่เกิน 100 cc แล้วใส่ถุงซิปล๊อครวมกันไว้อีกที แต่ถ้าโหลดใต้ท้องเครื่องจะขนขวดน้ำ 5 ลิตรไปด้วยอันนี้เขาไม่ห้าม  ในกรณีผู้ป่วยหรือทารก ที่ต้องมีขวดยาหรือขวดนม จะได้รับการอนุโลมตามสมควรค่ะ  ควรทราบว่า คัตเตอร์ มีดพับ Swiss เขาถือเป็นอาวุธ ห้ามเอาติดตัวขึ้นเครื่องนะคะ

ในส่วนของ checked baggage ห้ามใส่ power bank ไว้เด็ดขาด ต้องถือขึ้นเครื่องเท่านั้น โดยต้องมีขนาดบรรจุไฟไม่เกิน 32,000 mAh ค่ะ  และไม่ควรใส่ทรัพย์สินมีค่า เงินสด อุปกรณ์ราคาแพง เอกสารสำคัญเอาไว้

pt_3

4. ถึงวันเดินทาง ไปสนามบินให้ถูก terminal ก่อนเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
international airport (สนามบินนานาชาติ) มักจะมี terminal (อาคารผู้โดยสาร) มากกว่า 1 อาคารค่ะ โดยใน travel itinerary จะระบุเอาไว้ว่า flight ของเราบินออกจาก terminal ใด  ไปผิด terminal นี่เสียทั้งแรงเสียทั้งเวลานะคะ  สำหรับ flight ระหว่างประเทศสมัยก่อนจะเริ่ม check-in (แจ้งมาขึ้นเครื่อง) 2 ชั่วโมงก่อน departure time (เวลาเครื่องออก) แต่เดี๋ยวนี้บาง airline เขาให้ check-in ได้ตั้งแต่ 3 ชั่วโมงก่อน departure time  สำหรับคนที่ไปนอกครั้งแรก แนะนำให้ไปแต่เนิ่นๆ ค่ะ  แล้วอย่าลืมเอา passport ไปสนามบินด้วยนะคะ

pt_4

5. ตรวจสอบแถวสำหรับ check-in
ในแต่ละ terminal ก็จะมี counter สำหรับ check-in เรียงกันเป็นตับเลยค่ะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไป check-in ที่ counter ไหนก็ได้นะคะ เขาจะมีจอ monitor แจ้งไว้ค่ะว่า flight ของเรา check-in ที่ row (แถว) หรือ counter หมายเลขอะไร พร้อมแจ้ง flight status ด้วยค่ะ ว่าจะ take off (ขึ้นบิน) ตาม departure time ที่กำหนดไว้แต่เดิม หรือจะ delayed (บินช้ากว่ากำหนด) เป็นเวลานานเท่าไร โดยเรียงลำดับไปตามเวลาที่ flight นั้นๆ แจ้งว่าจะ take off ในกำหนดเดิม

pt_6

6. เข้าคิว Check-in
ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเยอะอย่างไทยเราสนามบินมักเต็มไปด้วยผู้โดยสาร กว่าจะถึงคิว check-in บางทีก็เป็นชั่วโมงแล้วค่ะ โดยเฉพาะถ้า flight นั้นเป็นเครื่องบินลำใหญ่ แล้วมีผู้โดยสารเดินทางไปเต็มลำ ถึงแนะนำให้มา check-in ตั้งแต่เนิ่นๆ ไงละคะ

ในขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะให้ boarding pass (ตั๋วขึ้นเครื่อง) กับเรา สายการบินต้นทุนปกติมักเป็นกระดาษแข็ง ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำจะใช้กระดาษาบางๆ เหมือนพวก slip ใบเสร็จ ซึ่งเจ้า boarding pass นี้ จะระบุ boarding time (เวลาเรียกขึ้นเครื่อง–มักจะอยู่ระหว่าง 30-45 นาทีก่อน take off), gate (ประตูขึ้นเครื่อง) และ seat (เลขที่นั่ง) ไว้ค่ะ

เราจะส่งมอบ checked baggage ให้เจ้าหน้าที่ในขั้นตอนนี้นะคะ (สนามบินบางแห่งอย่างดอนเมือง ก่อน check-in จะต้อง scan พวก checked baggage ก่อน) โดยเจ้าหน้าที่จะติด sticker ที่ระบุข้อมูลอย่าง ชื่อของเรา, flight number (หมายเลขเที่ยวบิน), รหัสกระเป๋า กระทั้งน้ำหนักของกระเป๋า เอาไว้ทั้งบน checked baggage ทุกใบ และบน boarding pass ของเราด้วยค่ะ  เอาไว้ตามหาถ้ากระเป๋าหาย หรือจะได้รู้ตัวว่าถูกขโมยของถ้าน้ำหนักกระเป๋าเบาลงกว่าเดิม

ควรทราบว่า แต่ละ flight จะปิดให้ check-in ประมาณ 30 นาทีก่อน departure time ถ้ามาไม่ทันก็คือตกเครื่องนะคะ

pt_7

7. กรอก immigration card
นอกจากเราจะได้ boarding pass ตอน check-in แล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ immigration card ของประเทศไทยกับเราด้วย (คือบัตรเข้า/ออกประเทศ–บางครั้งก็เรียก arival card/ departure card หรือ disembarkation form/ embarkation form ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักฐานการเข้า/ออกประเทศต่างๆ ของเรา) ให้รีบกรอกทันทีนะคะเพราะต้องใช้ในขั้นตอนต่อไป

ใครที่มีญาติสนิทมิตรสหายมาส่งต้องร่ำลากันตอนนี้แล้วค่ะ เพราะขั้นตอนต่อไปจะต้องมี boarding pass ถึงจะเข้าไปได้

pt_8

8. ผ่านด่าน ตม.
จากนั้นก็เดินเข้าประตูที่เขียนว่า “ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (International Departure)” ค่ะ เพื่อผ่านขั้นตอน passport control (ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง) หรือก็คือด่านตรวจคนเข้า/ออกเมือง (ตม.) นั่นเอง

ขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะคัดกรองอาชญากรที่รัฐบาลห้ามออกนอกประเทศ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ไม่ให้หนีออกจากประเทศได้ค่ะ  สนามบินจะแยกช่องระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติเอาไว้ โดยชาวต่างชาติต้องผ่านโต๊ะเจ้าหน้าที่ ตม. ส่วนคนไทยเดี๋ยวนี้เขาให้ผ่านช่อง ตม. อัตโนมัติ คือไม่มีเจ้าหน้าที่ประทับตราจริงๆ ลงใน passport แล้วค่ะ  เจ้าเครื่อง ตม. อัตโนมัตินี่หลักๆ จะ scan ลายนิ้วมือ, passport และถ่ายรูปของเราไว้  แต่จะมีพี่เลี้ยงคอยสอนวิธีใช้เครื่องให้ด้วยนะคะ เพราะทำกันเองไม่ค่อยถูกหรอก ใครจะได้มาใช้บ่อยๆ  เจ้า immigration card ส่วนที่เป็นบัตรขาออกจะใช้ในขั้นตอนนี้ ส่วนบัตรขาเข้าจะใช้ตอนกลับเข้าประเทศไทยค่ะ

คนที่จะพาลูกเล็กๆ ไปต่างประเทศควรติดสำเนาสูติบัตรไว้ด้วยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เด็กมีนามสกุลไม่ตรงกับผู้ปกครองที่เดินทางใน flight นั้น แม้ว่าจะเป็นแม่หรือพ่อจริงๆ ก็ตาม

9. ตรวจหาสิ่งของต้องห้าม
พวก carry-on baggage จะถูก scan ในขั้นตอนนี้ ของเหลวที่ไม่ได้ทำตามระเบียบ (ที่พูดไว้ในขั้นตอน 3 ไงละคะ) จะถูกสั่งให้ทิ้งถังขยะ  ตัวผู้โดยสารก็จะต้องเดินผ่านเครื่องตรวจวัตถุโลหะด้วยค่ะ

จากประสบการณ์ตรง สนามบินบางแห่งไม่ให้เอาขาตั้งกล้องขึ้นเครื่อง ครั้งนั้นต้องวิ่งกลับไปที่ counter ตอน check-in เพื่อเอาไปโหลดใต้เครื่องแทนค่ะ  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คัตเตอร์ หรือมีดพับ Swiss เขาต้องถือเป็นอาวุธแน่ๆ มีคนต้องทิ้งที่ด่านนี้มาเยอะแล้ว

ถ้าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำขั้นตอนนี้ก่อนผ่านด่าน ตม. นะคะ

pt_9

10. ไปรอที่ gate
พวกสายการบินต้นทุนต่ำมักได้ gate ไกลโพ้นค่ะ พวกที่มา check-in ช้า จะต้องวิ่ง 200 เมตรในขั้นตอนนี้  แต่ถ้ามา check-in เร็วอย่างที่แนะนำไป และโชคดีที่ด่าน ตม. วันนั้นคิวไม่ยาว ก็จะมีเวลานั่งทานอาหารชิลๆ ได้มื้อนึงข้างในนี้ หรือจะซื้อสินค้า duty free (ปลอดภาษี) โดยสามารถฝากของเอาไว้ก่อนแล้วมารับวันเดินทางกลับได้ (ตอนขากลับ ถ้าเป็นดอนเมือง ร้าน duty free เป็นแค่ซุ้มเล็กๆ อยู่ตรงสายพานรับกระเป๋า มีของขายน้อยมากค่ะ)  หรือจะตรงไปหน้า gate เลยก็ได้ ตรงนั้นจะมีที่นั่งสำหรับรอ boarding time เป็นแถวยาวเลย

อาจมีบ้างที่ boarding pass ไม่ได้ระบุหมายเลข gate เอาไว้ ก็สามารถดูได้จากจอ monitor แถวๆ นั้น และที่หน้า gate ก็จะระบุ flight number รวมถึงชื่อเมืองปลายทางไว้ด้วย  กระนั้น ให้คอยฟังประกาศตลอดเวลาค่ะ ว่ามีการเปลี่ยน gate หรือไม่ เพราะมีเหมือนกันที่ gate ถูกเปลี่ยนกระทันหันในช่วง boarding time

pt_11

11. เจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่อง
ประมาณ 30-45 นาทีก่อนเครื่องจะ take off เจ้าหน้าที่ของ airline จะเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง เพราะต้องใช้เวลาพอสมควรค่ะ กว่าผู้โดยสารเป็นร้อยๆ คนจะขึ้นเครื่องจนพร้อมอยู่บนที่นั่งครบทุกคน  boading pass ที่ได้มาตั้งแต่แรกจริงๆ แล้วมี 2 ส่วนคือ ส่วนของเจ้าหน้าที่ กับส่วนของผู้โดยสาร ในส่วนของเจ้าหน้าที่จะใช้ในขั้นตอนนี้ค่ะ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานว่าเราได้ขึ้นเครื่องจริงๆ

pt_11

12. ขึ้นเครื่องบิน
บางทีก็เดินผ่านงวงช้างขึ้นเครื่องโดยตรง บางทีก็ต้องนั่งรถ shuttle ไปขึ้นเครื่องบินที่จอดแถวๆ runway อีกที สนามบินที่เล็กหน่อยอาจให้ผู้โดยสารเดินบนลานจอดไปขึ้นเครื่องเลยค่ะ

pt_12

13. หาที่นั่ง
พออยู่ในเครื่องบินแล้ว ก็หาที่นั่งตามหมายเลข seat ที่ระบุไว้ใน boarding pass ค่ะ  เจ้าหมายเลข seat นี่แปะอยู่บริเวณที่เก็บสัมภาระเหนือที่นั่ง (หมายเลขที่อยู่ติดกับรูปคนคือ นั่งติดทางเดิน หมายเลขที่อยู่ติดกับรูปหน้าต่างคือ นั่งติดหน้าต่างนะคะ)  พวก carry-on baggage ที่ถือติดตัวมาด้วยสามารถใส่ไว้ในที่เก็บของเหนือที่นั่ง หรือจะวางไว้ใต้ที่นั่งของผู้โดยสารด้านหน้าเราก็ได้ แต่จะกินพื้นที่วางเท้าของเราไปด้วย  ของมีค่าไม่ควรให้อยู่ในที่เก็บของเหนือที่นั่งนะคะ เพราะมีกรณีขโมยเงินกลางอากาศมาแล้ว

pt_13

14. บิน!
เพื่อความปลอดภัยเพราะเครื่องบินอาจตกหลุมอากาศได้เสมอ จึงควรนั่งกับที่ตลอดการเดินทางและคาด safely belt (เข็มขัดนิรภัย) เอาไว้ตลอดเวลาค่ะ  ในขณะเครื่องบินกำลัง take off และ landing (ลงจอด) ให้ปิดโทรศัพท์มือถือเพราะสัญญาณอาจรบกวนอุปกรณ์ในห้องนักบินได้ โดยสามารถเปิดใช้งานได้อีกครั้งเมื่อเครื่องบินรักษาระดับได้แล้ว (ให้สังเกตว่าสัญญาณไฟรัดเข็มขัดจะดับค่ะ) โดยใช้ flight mode (โหมดสำหรับใช้บนเครื่องบิน) เท่านั้น  ห้องน้ำก็เช่นเดียวกันค่ะ จะใช้ได้เฉพาะตอนที่เครื่องบินรักษาระดับอยู่ และไม่ตกหลุมอากาศ

ก่อนที่เครื่องจะ take off พวกแอร์ฯ จะมาสาธิตการใช้หน้ากากออกซิเจน, เสื้อชูชีพ และการออกประตูฉุกเฉินด้วยนะคะ แต่พอบินไปสัก 2-3 flight ก็คงไม่ค่อยมีใครตั้งใจดูแล้ว

ตอนที่เครื่องบินไต่และลดระดับอาจทำให้หูอื้อได้ แก้ได้ด้วยการกลืนน้ำลายบ่อยๆ, เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือ clear หู  ในที่ช่องเก็บของตรงหน้าเราที่มีนิตยสารเสียบไว้ จะมีถุงอ้วกให้ด้วยค่ะ ในกรณีอยากอาเจียน

pt_14

15. มาถึงสนามบินปลายทาง
หลังจากเครื่องบิน landing อย่างเรียบร้อย และได้ออกจากตัวเครื่องแล้ว ให้เดินตามป้ายบอกทางไป immigation (อีกคำเรียกของ ด่าน ตม.) สนามบินบางแห่งอาจใช้คำว่า arrival (เข้าเมือง) ค่ะ

pt_15

16. ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน แอร์ฯ อาจเอา immigration card และ custom declaration form (ใบศุลกากร) ของประเทศที่เรากำลังจะไปมาให้กรอก ซึ่งบางประเทศต้องมายืนกรอกแถวด่าน ตม. เมื่อมาถึงสนามบินแล้ว ในขณะที่บางประเทศไม่ต้องกรอกอะไรเลยก็มีค่ะ  เมื่อมีเอกสารที่กรอกครบถ้วนอยู่ในมือแล้ว ก็ไปต่อแถวของช่องที่เขียนว่า "Non Citizen" หรือ "Foreign Passport" (หมายถึงชาวต่างชาติทั้งคู่)  เจ้าหน้าที่ ตม. บางคนจะขานชื่อให้เราตอบรับ บางคนสอบถามรายละเอียดการเดินทาง บางคนก็ไม่ถามอะไรเลย  immigration card ส่วนขาเข้า (ของประเทศที่เรากำลังมา) จะใช้ที่ด่าน ตม. นี้ ส่วนขาออกใช้ตอนจะออกประเทศค่ะ

ด่าน ตม. ขาออก จะคัดกรองคนที่ไม่ควรให้ออกประเทศ ในทางกลับกัน ด่าน ตม. ขาเข้า จะคัดกรองคนที่ไม่ควรให้เข้าประเทศ  ตามที่คนไทยไม่ต้องขอ visa ก่อนเข้าบางประเทศ ควรทราบค่ะว่าในปี 2558 มีคนไทยถูกประเทศเกาหลีปฏิเสธการเข้าเมืองสูงที่สุด เป็นจำนวน 2 หมื่นคน (รองลงมาคือ สิงคโปร์ 5 พันคน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ประเทศละ 1 พันคน ตามด้วยมาเลเซียประมาณ 300 คน)  ดูเหมือนว่า ผู้หญิงจากภาคอีสานที่โสดและเดินทางคนเดียวจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

pt_16

17. ตรวจสอบหมายเลข belt เพื่อรับกระเป๋า
ถ้าผ่านด่าน ตม. มาได้ ก็เดินต่อไปรับ checked baggage ที่โหลดใต้เครื่องมา ขั้นตอนนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า baggage claim (รับกระเป๋า)  ระหว่างทาง จะมีจอภาพแจ้งให้ทราบว่าต้องไปรับที่ belt (สายพาน) หมายเลขอะไรค่ะ

pt_17

18. รับกระเป๋าให้ครบถ้วนและไม่ผิดใบ
ดูให้ดีๆ นะคะว่าเป็นกระเป๋าของเราแน่หรือเปล่า เพราะบางทีก็มีผู้โดยสารใน flight เดียวกันใช้กระเป๋ารุ่นเดียวกันโดยบังเอิญ แต่นั่นหมายความว่า ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครเอากระเป๋าเราไปเพราะเข้าใจผิดเช่นเดียวกัน  หลายคนป้องกันความสับสนด้วยการติดป้ายชื่อ หรือนำโบว์มาผูกไว้  นอกจากรับกระเป๋าถูกใบแล้วก็ต้องรับให้ครบทุกใบด้วยนะคะ เพราะในกรณีที่เอาไปหลายใบอาจมีหลงลืมได้

pt_18

19. ผ่านด่านศุลกากร
ขั้นตอนสุดท้ายคือผ่านด่าน custom (ศุลกากร)  ถ้าไม่ได้ขนสินค้าข้าวของอะไรมาผิดปกติของการมาเที่ยว ก็เดินผ่านช่องสีเขียวได้เลย คนที่ต้องเข้าช่องสีแดงคือคนที่มีสิ่งของที่ต้อง declare (สำแดง) เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาเก็บภาษีนำเข้า  สำหรับประเทศที่มี custom declaration form ให้กรอก ก็ส่งให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านศุลกากรนี้ค่ะ

ก่อนออกจากประตู เจ้าหน้าอาจขอตรวจรหัส checked baggage ที่อยู่บน sticker ที่เจ้าหน้าที่แปะบนกระเป๋าไว้ตั้งแต่ตอน check-in ว่าตรงกับรหัสที่อยู่บน boarding pass หรือเปล่า นั่นก็เพื่อป้องกันการขโมยกระเป๋าหรือหยิบผิดใบออกไปค่ะ

pt_19

20. เดินทางเข้าสู่เมือง
พอออกจากประตูมาก็เป็นจุดนัดพบสำหรับใครที่มีคนมารับ แบบที่เห็นในฉากหนังหรือละครที่มีคนถือป้ายชื่อผู้โดยสารชูไว้นั่นแหละค่ะ  ถ้าเราไม่มีใครมารับก็มองดูป้ายบอกทางไปขึ้นรถบัส, รถไฟฟ้า หรือ taxi ตามแผนที่วางไว้ต่อไป

ขากลับประเทศไทยก็ทำคล้ายๆ แบบนี้ แค่สลับสนามบินกันเท่านั้นเองค่ะ

pt_20


ขอบคุณข้อมูลจาก ล็อกอินKnowgistics เว็บไซต์http://pantip.com/topic/35204555
เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: