“ถอนคืนการให้เพราะเนรคุณ” ข้อกฎหมายที่คนรักกัน-ครอบครัวเดียวกันควรรู้





เป็นข่าวครึกโครมกันทีเดียวในขณะนี้ เมื่อครอบครัวเจ้าของโรงงานน้ำพริกเผาชื่อดังอันดับ1 ระดับประเทศมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าศาลจะตัดสินออกมาเป็นเช่นไร ใครถูกใครผิดก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย Thaijobsgovจึงถือโอกาสนำความรู้เกี่ยวกับการให้มาฝากแฟนเพจให้ได้ทราบกันไว้ โดยเฉพาะการให้โดยเสน่หา ไม่ว่าจะให้เนื่องด้วยเป็นครอบครัวเดียวกัน หรือคนรักกันก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า มีการ "ถอนคืนการให้เพราะเนรคุณ" ด้วยนะ !
 

บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด ได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์ jarataccountingandlaw.com ไว้ดังนี้
 

ถอนคืนการให้เพราะเนรคุณ
อันว่าการให้นั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้ให้" โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่อีกบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้รับ" และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น

 

จะเห็นว่าการให้นั้นเป็นสัญญาฝ่ายเดียวที่ไม่มีค่าตอบแทนใด สมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้นั้น เพราะการให้นั้นย่อมสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินให้นั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา523 และหากเป็นการให้ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดิน ฯลฯ จะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์สินที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525
 

นอกจากเรื่องของการให้แล้ว กฎหมายยังได้บัญญัติหลักเกณฑ์การถอนคืนการให้ไว้อีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา531 คือ อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมาายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังจะสามารถให้ได้

 

การให้ ไม่ใช่ว่าเกิดเหตุตามมาตรา531 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ให้จะถอนคืนการให้ได้เสมอไป กฎหมายยังบัญญัติเรื่องที่จะถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ ไว้ตาม ป.พ.พ.535 อีกคือ การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(4) ให้ในการสมรส

 

นอกจากนั้นการถอนคืนการให้ ไม่ใช่ว่าจะถอนคืนการให้ได้ตลอดเวลา จึงมีเรื่องอายุความเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งกฎหมายได้มีการบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 522 ว่า "เมื่อผู้ให้ได้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคือการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนได้ไม่
 

อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปี ภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"
 

สรุป ก็คือ อายุความการเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณมี 2 กรณีคือ
(1) ภายในหกเดือนนับแต่ผู้ให้ได้รู้ถึงเหตุประพฤติเนรคุณนั้น
(2) ภายในสิบปีนับแต่เกิดเหตุประพฤติเนรคุณ

 

ฟังดูแล้วอาจจะงง ขอยกตัวอย่างจากเว็บไซต์choplawyer.com ซึ่งเป็นเว็บทนายความและกฎหมายเช่นกัน อย่างเช่นการยกที่ดิน หากยกให้แล้วจะถอนคืนได้หรือไม่? คำตอบคือ …
 

rr
ภาพจาก www.choplawyer.com

 

ขอเพิกถอนการให้ได้ หากว่าผู้รับนั้นได้ประพฤติเนรคุณ เช่น
-ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญา
-ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง
-ผู้รับไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีพผู้ให้

 

แล้วการพูดหยาบกับผู้ยกที่ดินให้ จะถูกเพิกถอนการให้เพราะประพฤติเนรคุณหรือไม่ ? เว็บไซต์เดียวกันนี้ก็ได้อธิบายไว้อีกว่า… 
 

ลักษณะการพูดคำหยาบกับบุคคลที่ยกที่ดินให้จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุจะเพิกถอนการให้ได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาใจคว่ามส่วนหนึ่งไว้ว่า : การที่จำเลยกล่าวต่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโดยใช้คำว่ามึงกู เป็นคำหยาบไม่ให้ความเคารพโจทก์ ส่วนข้อความที่ว่า “ถ้ากูไม่ช่วยมึง มึงติดคุกไปนานแล้ว” เป็นการกล่าวเพื่อลำเลิกบุญคุณ ที่จำเลยเคยช่วยเหลือโจทก์ในอดีตเท่านั้น หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ คำกล่าวนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะพอฟังได้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่  10552/2557
 

หมายเหตุ : สรุปการใช้คำหยาบศาลท่านยังให้เหตุผลว่ายังไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงที่จะใช้สิทธิเพิกถอนการให้ได้ อ้างอิง ป.พ.พ. มาตรา 531(2)


อย่างไรก็ดี กฎหมายมีมากมายหลายตัวบท Thaijosbgovนำเสนอและยกตัวอย่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของทนายความบางท่านที่ได้พบเจอคดีความที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกันมาแล้ว เจตนาของบทความนี้ก็เพื่อแชร์ความรู้ทางกฎหมายโดยพื้นฐานเท่านั้น หากต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ ควรปรึกษาทนายความใกล้บ้านคุณหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะตามแหล่งความรู้อื่นๆ เช่น เว็บไซต์, แฟนเพจ, เฟซบุ๊กทนายความ เป็นต้น

 


ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ jarataccountingandlaw.com
เว็บไซต์ http://www.choplawyer.com/2015/12/08/ให้ที่ดินทายาทจะถอนคืน/
เว็บไซต์ 
http://www.choplawyer.com/2016/01/10/พูดหยาบกับผู้ยกที่ดินให้/
เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: