เมื่อผมได้ออกค่ายอาสา และนี่คือความในใจของ “ครูแพร” ครูชายแดนตัวเล็กๆ แต่ใจใหญ่





เราต่างรู้กันดีว่าโรงเรียนชายแดนเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้เข้าไปพัฒนาในส่วนของความเจริญนั้น ไม่ว่าจะเพียงแค่เป็นจิตอาสาไปออกค่าย หรือเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ถึงกับไปประจำการอย่างยาวนานไม่รู้กำหนด ให้พื้นที่ตรงนั้นได้พอมีความหวัง มีกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปไม่ให้ด้อยกับพื้นที่ที่มีความเจริญได้บ้าง 
 

ถ้าคุณกำลังท้อ หมดหวังทั้งๆ ที่ยังมีหลายสิ่งสแตนบายคุณพร้อม ลองฟังเรื่องราวของคุณสมาชิกหมายเลข 1626426 ชาวพันทิปที่ได้มีโอกาสออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน และความในใจของครูชายแดนตัวเล็กๆ แต่ใจยิ่งใหญ่ "ครูแพร จันทิมา ทองดีเลี้ยง” ดาบตำรวจหญิงจากศูนย์การเรียนตำรวจ ตชด. คุณครูหัวใจแกร่ง 1 ในกำลังสำคัญของบ้านปาเกอะญอ จ.เพชรบุรี มาดูกันว่าการไปออกค่ายอาสาต้องเจออะไรบ้าง เด็กๆ ที่นั่นมีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง และครูที่นั่นเขารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำงานที่นั่น เรื่องราวของพวกเขาอาจทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นใจ มีหวัง มีกำลังใจขึ้นมาบ้าง


————————————-

o46fxu5yzrNFsDlP5oB-o_kru_t1

ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ วันที่ผมได้มีโอกาสไปออกค่ายอาสา เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง อาจจะไม่ได้ดูยิ่งใหญ่อะไร แต่ไม่รู้ทำไมผมคิดว่ามันสวยงามเหลือเกิน ผมเลยอยากขอแชร์ความรู้สึก แชร์มุมมองความคิดผ่านพื้นที่พันทิปนี้ครับ
 

เคยมีครู ตชด. ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า “สิ่งที่ดีที่สุด… ที่เพื่อนมนุษย์จะให้แก่กันได้ ก็คือ โอกาส” สำหรับคนที่มีพร้อมทุกอย่างผมว่ามันคงไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่ลองนึกดูกว่าเราจะมีพร้อมอย่างวันนี้ ผมเชื่อว่าใครๆ ก็ต้องเคยได้รับโอกาสจากคนอื่นมาก่อนทั้งนั้น
 

เราออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืดจากกรุงเทพฯ ไปบ้านปาเกอะญอ จ.เพชรบุรี ใช้เวลาราวๆ 3 – 4 ชั่วโมง ทางเข้าไปยังหมู่บ้านค่อนข้างกันดาร ต้องเดินเท้าตัดถนนลูกรังข้ามห้วยขึ้นไปอย่างทุลักทุเล หรือไม่ก็ขับรถลุยน้ำเข้าไป ค่ายนี้ไปเช้ากลับเย็น ซึ่งทางค่ายแพลนไว้ว่า จะช่วยกันทาสีห้องสมุด แจกของน้องๆ ทำกิจกรรมสันทนาการ และปลูกต้นไม้รอบบริเวณโรงเรียน

o46fj35zisdkQBKAZ8I-o
 

o46fjlu4q3N1fcqXYFE-o
 

“แต่ก่อน… ที่นี่ไม่มีใครพูดภาษาไทยได้เลย เพราะมีแต่ชาวกะเหรี่ยงและกะหร่าง
เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ อยากเรียนก็ต้องไปเรียนไกล 8 – 10 กม.
เด็กๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งค่ารถไปโรงเรียน หรือค่าหอพักที่ต้องไปค้าง
ซึ่งรายได้ของครอบครัวเด็กๆ แต่ละคนก็ไม่มากนัก 
เพราะส่วนใหญ่รับจ้างทำสวน เก็บมะนาว ดายหญ้า 
ได้ค่าจ้างตกวันละแค่ 250 บาท”


นี่คือคำพูดของ 'ครูแพร' ดาบตำรวจหญิงจากศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน. บ้านปาเกอะญอที่บอกกับผม ซึ่งต่างจากพวกเราที่อย่างน้อยวันนึงก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่วนวัฒนธรรมของคนที่นี่ก็ไม่เหมือนกับเรา พวกเขาจะมีลูกเยอะ ไม่รู้จักการวางแผนครอบครัว ซึ่งครูแพรบอกว่า “บางครอบครัวมีลูกมากถึง 12 คน ก็ต้องอยู่กันแบบตามมีตามเกิด หากอยู่ได้ก็เลี้ยง”  มันก็เลยเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตของคนเรา มันต้องแกร่งได้ขนาดนี้เลยหรอ?”
 

o46fl3ku8HHREL8AQMQ-o

 

ครูแพรตั้งใจมาอยู่ที่นี่ เพื่อพัฒนาชุมชมให้ยั่งยืน เธอเกิดที่นี่โตที่นี่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ครูแพรจะเคยอยู่ที่ศูนย์การเรียน ตชด. ป่าละอูมาก่อนก็ตาม
 

“วันแรกที่มา… ที่นี่ไม่มีอะไรเลย มีแค่ต้นไม้ 3 ต้น
บนพื้นที่รกร้างแห้งแล้ง สภาพเป็นป่าซากจากแต่ก่อนที่เป็นไร่
บริเวณบ้านของเด็กๆ เมื่อถึงหน้าแล้ง ปริมาณน้ำที่มีก็จะน้อย
แม้ว่ากลุ่มชาวบ้านกับนักศึกษาจะมาช่วยกันทำฝายชะลอน้ำ
แต่ทางหมู่บ้านก็ไม่มีไฟที่จะสูบหรือปั่นน้ำขึ้นไปใช้ได้อยู่ดี
จึงไม่มีใครปลูกผักไว้กินเลย ซึ่งพื้นที่ก็มีไว้สำหรับสร้างบ้านเท่านั้น”

 

ถ้าบ้านไหนอยากได้น้ำจริงๆ ก็ต้องเดินลงห้วยเพื่อมาตักน้ำขึ้นไป แม้จะไม่ไกลมากแต่กว่าจะเดินถึงก็เรียกว่ามีหอบลิ้นห้อยกันเลยทีเดียว แล้วยิ่งเป็นคนแก่หรือเด็กๆ เอง กลับยิ่งทำให้ต้องเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก
 

o46fmek3yBKbt1I0MH6-o
 

แต่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ครูแพรตั้งใจนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้เป็นแนวทางชุบชีวิตสีเขียวให้น้องๆ ด้วยการปลูกผักทำการเกษตร

“ก่อนโรงเรียนเปิด เด็กๆ จะต้องมีผักกิน
ซึ่งปัญหาใหญ่ของน้องๆ ที่นี่ ก็คือเรื่องน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์
เพราะหลังจากปิดเทอมผ่านไป 3 เดือน น้ำหนักของน้องๆ ลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน
เพราะน้องๆ ก็หาเก็บยอดผักยอดตำลึงที่ขึ้นเองตามบ้าน 
หรือจับปลาเล็กปลาน้อยในห้วยกินประทังชีวิต
ซึ่งมันก็ต้องระวังพวกหนอนพยาธิ รวมถึงภาวะทางโภชนาการของน้องๆด้วย”

 

ครูแพรเองก็เป็นห่วงเด็กๆ อยากให้เด็กๆ สบาย อยากให้ชาวบ้านในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งโรงเรียนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มันดีขึ้นนั่นเอง เหมือนกับครูแพรตอนเด็กๆ ที่เคยได้รับโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียน ตชด. และศึกษาต่อมาเรื่อยๆ เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาเป็นหญิงแกร่งที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดอย่างบ้านปาเกอะญอในทุกวันนี้ ไม่ต่างจากครู ตชด. ฝึกสอนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็มาช่วยเหลือดูแลน้องๆ ก่อนที่จะกลับไปพัฒนายังบ้านเกิดของตัวเอง
 

“ก่อนหน้าที่โรงเรียนจะสร้างเสร็จ น้องๆต้องนั่งเรียนกับพื้นดิน
เสื้อผ้าเลอะเทอะ ผนังห้องเรียนก็กั้นด้วยไม้ไผ่ กันฟ้ากันฝนก็ไม่ได้
ต้องสอนกันแบบตามมีตามเกิด
สงสารเด็กๆ กว่าจะได้เรียนทั้งทีก็ยากลำบาก
ไม่สะดวกสบาย ต้องดิ้นรนมาก เพราะถ้าไม่ขวนขวายก็ไม่ได้เรียน
เด็กๆ ก็จะไม่มีความคิด ไม่พัฒนา”
 

แต่อาคารเรียนก็เป็นรูปเป็นร่างจากความร่วมมือของกองบัญชาการตำรวจ ตชด. กลุ่มปูนอินทรี น้องๆ คณะ สถาปัตย์ฯ จุฬาฯ รวมถึงชาวบ้านในชุมชนที่ช่วยกันสร้างโดยไม่มีการว่าจ้างใดๆ ใช้แรงกายแรงใจจากจิตอาสาที่มี เพื่อสร้างโอกาสให้คนในชุมชน
 

ส่วนเรื่องที่ทำให้ครูแพรท้อใจมากๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องที่ครูแพรอยากสอนนักเรียนเย็บผ้า แต่โรงเรียนก็ไม่ได้มีงบประมาณตามที่ต้องการ ไม่มีอุปกรณ์ให้นักเรียนได้ฝึกวิชาชีพ ก็ต้องรอความอนุเคราะห์จากคนที่สนับสนุน หรือจะเรื่องที่สอนเด็กแล้วเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เช่น ให้เด็กสะกดคำว่า กัด แต่เด็กเขียนมาว่า กะด เด็กไม่พูดไม่บอก ครูแพรก็ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะแก้ไขก็แก้ไม่ได้ ซึ่งการเรียนของศูนย์การเรียน ตชด. ไม่ได้สอนเพื่อให้แค่รู้ แต่ต้องสอบประเมินผลกับเขาด้วย เหมือนกับว่าคุณครูก็ต้องสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับพวกเขา ซึ่งถ้ามันไม่แน่นก็เป็นปัญหาสังคม ถ้าเด็กๆ ทำไม่ได้ ก็แสดงว่าครูที่ดูแลไม่มีประสิทธิภาพพอ และนี่ก็คือความในใจที่ครูแพรไม่ได้กล่าวโทษตัวเด็กๆ แต่ครูแพรกลับโทษตัวเองที่สอนเด็กๆ ได้ไม่ดี
 

“ทั้งโรงเรียนมีเด็กทั้งหมด 93 คน คุณครู 10 คน
แบ่งออกเป็นห้องน้องๆ ป.1 จำนวน 2 ห้อง ห้องละ 22 กับ 21 คน
ห้อง ป.2 จำนวน 4 คน ห้อง ป.3 จำนวน 5 คน
ห้อง ป.4 จำนวน 11 คน ห้อง ป.5 จำนวน 8 คน
และห้อง ป.6 จำนวน 8 คน ซึ่งจะมีครูสอนประจำในแต่ละชั้น”

 

ตอนนี้บ้านปาเกอะญอมีอาคารครบหมดแล้ว ทั้งอาคารเรียนชั้น ป.1 – ป.6 อาคารอนุบาล 2 ห้อง ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องพยาบาล ห้องฝึกอาชีพ ห้องน้ำ โรงอาหาร บ้านพักครู สนามเด็กเล่น ฯลฯ ซึ่งการออกค่ายครั้งนี้ครอบครัวข่าว 3 กองบัญชาการตำรวจ ตชด. และปูนอินทรีได้ร่วมแบ่งปันรอยยิ้มกับเด็กๆ แม้จะไม่นานแต่ก็เต็มไปด้วยความสนุก นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังติดต่อมูลนิธิไทยคม เพื่อติดตั้งระบบการศึกษาทางไกลให้เด็กๆ ได้เปิดกว้างทางการเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งตรงจุดนี้มันก็ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนในรายวิชาเฉพาะทางมากขึ้น แล้วช่วยกันปลูกต้นไม้กว่า 100 ต้น ทั้งขนุน มะม่วง เผื่อไว้สำหรับวันข้างหน้า หากไม่มีใครอยู่ดูแล น้องๆ และชาวบ้านก็ยังช่วยเหลือตัวเองได้
 

o46fohua7cGIlsWIRQZ-o
 

o46fp1u6vddviw7y6s1-o
 

o46fpgk27w82mql60Ie-o
 

o46fpukwmY9iFGMz2X1-o
 

o46fqiu9w86ETSGQ8h1-o
 

o46fsokzcIUM0Q6XvWc-o
 

o46ftk60uDc70PaOhQ4-o
 

o46ftunsiVaK4vxBfUl-o
 

o46fu6k33sudA6eFD5r-o
 

o46fuhk23mSWI5Lyfac-o
 

o46fv3ua7hmRHWf8cKr-o
 

o46fvg5khuhvRSsvAa3-o
 

o46fvt5m7Aw7TF02hrr-o
 

o46fw6u884L8ryNXzEY-o

 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก สำหรับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเจริญทางด้านวัตถุ แค่พัฒนาทางด้านความคิดก็พอ ใครจะมองว่าโรงเรียนตามชายแดนมันมักจะยากลำบาก ใช้ชีวิตไม่ได้ แต่ครูแพรมองกลับกัน
 

“มันทำให้เราสบายใจมากกว่า ซึ่งมันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน
จะให้ตัวแพรเองไปอยู่ในเมือง ก็คงไม่ชอบ
เพราะไม่อยากใช้ชีวิตวุ่นวาย ต้องเจอมลภาวะ
หรือต้องเบียดเสียดกับผู้คนในเมือง ก็คงไม่ใช่เรา 
ซึ่งที่ตรงนี้มันก็คือแผ่นดินเกิดของเรา มันก็คือสังคมไทยของเรา

ถ้าเราปล่อยตรงนี้ทิ้งไว้ แล้วเราจะไปคิดพัฒนาส่วนที่เจริญแล้วเพื่ออะไร?
ถ้าเราห่วงสบายแล้วจะมีใครล่ะ ที่จะมาอยู่ในที่ลำบากๆ

ก็เหมือนต้นไม้ที่จะดัด หากจะดัดตอนแก่มันก็ยาก
จะดัดก็ต้องดัดตอนอ่อน มันก็จะง่ายกว่า
มันก็ไม่ต่างไปจากเด็กๆ เหล่านี้
จากที่พวกเขาเป็นคน
หากพวกเราไม่สนใจ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนป่า
เขามีกินก็โชคดี แต่พอไม่มีก็เกิดการดิ้นรน เบียดเบียนคนอื่น
นำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรม 

แค่เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กๆ สู่อนาคตที่ดี
ปั้นดินให้เป็นดาว

ไม่จำเป็นต้องทุกคน แค่ได้บางคนที่มีความคิด 
ได้คนที่มีประสิทธิภาพ แค่คนเดียวจากร้อย
เพื่อพัฒนาสังคม เพื่อพัฒนาประเทศก็เพียงพอแล้ว

 

o46fxu5yzrNFsDlP5oB-o
“ครูแพร จันทิมา ทองดีเลี้ยง” ดาบตำรวจหญิงจากศูนย์การเรียนตำรวจ ตชด. 
คุณครูหัวใจแกร่ง 1 ในกำลังสำคัญของบ้านปาเกอะญอ จ.เพชรบุรี


เชื่อเหอะว่าชีวิตเรามันไม่ได้ยากลำบากอย่างที่เราคิดหรอก ยังมีอีกหลายคนที่ลำบากกว่าเรามาก มันเหมือนกับชีวิตที่เราเกิดมาแล้วได้โอกาสใช้ชีวิตสบายๆ มีพร้อมกว่าพวกเขาทุกอย่าง แล้วทำไมเราจะไม่ส่งต่อโอกาสจากแรงกาย แรงใจที่เราทำได้ล่ะ? เหมือนอย่างที่ครูแพรทำ ผมล่ะนับถือหัวใจของครูจริงๆ และผมก็เชื่อว่าเมื่อความลำบากที่ปกคลุมจางหาย มันก็จะกลายเป็นความสุขที่คืนกลับมาในทุกๆวันของชีวิตเรา…
 

ขอบคุณแรงบันดาลใจดีๆ มุมมองดีๆ จากใจที่แข็งแกร่งของครูชายแดนคนนี้ด้วยครับ smiley

 


ขอบคุณข้อมูลจาก สมาชิกหมายเลข 1626426 เว็บไซต์http://pantip.com/topic/34923043
เรียบเรียงใหม่โดย Thaijobsgov

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: