แย่แล้วเด็กไทย! ไอคิวต่ำมาตรฐาน สติปัญญาบกพร่อง EQลด แถมขาดไอโอดีน โลหิตจาง





แย่แล้วเด็กไทย! ไอคิวต่ำ

ผลสำรวจ IQ เด็กไทยทั่วประเทศยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานคือ 98.59 จาก 100 กรมสุขภาพจิตจับมือกรมอนามัยเดินหน้าสำรวจ IQ เด็ก ป.1 ทั่วประเทศอีกครั้งเดือน ก.ค.นี้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการสัมมนา “นักวิจัยภาคสนาม” โครงการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทย ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะขาดสารไอโอดีนและภาวะโลหิตจางของเด็กไทยปี 2557 ว่า จากการสำรวจ IQ นักเรียนไทยทั่วประเทศเมื่อปี 2554 พบ IQ เฉลี่ย 98.59 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล (IQ = 100) และเมื่อดูในภาพรวมของประเทศ พบว่าเด็กเกือบครึ่ง (ร้อยละ48.5) มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (IQ < 100) รวมทั้งมีระดับสติปัญญาบกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึงร้อยละ 6.5 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ไม่ควรเกิน 2% ขณะที่ระดับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัย 3-5 ปี ที่สำรวจเมื่อปี 2545 พบว่ามีเกณฑ์ปกติ 139-202 คะแนน และลดลงเป็น 125-198 คะแนน ในปี 2550 ด้านที่ลดลงคือ ด้านการปรับตัวต่อปัญหาและความกระตือรือร้น ส่วนเด็กวัย 6-11 ปี มีเกณฑ์ปกติ 148-225 คะแนน จากการสำรวจเมื่อปี 2545 และลดลงเป็น 129-218 คะแนน ในปี 2550 ด้านที่ลดคือ ด้านความมุ่งมั่น พยายาม

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหา IQ-EQ ของนักเรียนไทย ยังพบปัญหาโภชนาการเด็ก ได้แก่ โรคขาดสารไอโอดีนและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งล้วนส่งผลต่อระดับสติปัญญาและสุขภาพร่างกายของเด็ก ล่าสุดจากการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะเด็กเล็ก (อายุ 3-5 ปี) ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เมื่อปี 2556 พบเด็ก ร้อยละ 11.1 เป็นโรคขาดสารไอโอดีน (ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร) ขณะที่การสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2546 พบความชุกโรคโลหิตจางกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุ 6 เดือน-5 ปี) ร้อยละ 25.9 กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 6-8 ปี ร้อยละ 46.7 อายุ 9-11 ปี ร้อยละ 25.4 และอายุ 12-14 ปี พบร้อยละ 15.7 ซึ่งสาเหตุมากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพื่อติดตามสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ นำไปสู่การวางแผนส่งเสริมและพัฒนา IQ-EQ เด็กไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ภายในปี 2559 กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยจึงร่วมมือกันเตรียมลงสำรวจ IQ-EQ ภาวะขาดสารไอโอดีนและภาวะโลหิตจางของเด็กไทยปี 2557 โดยจะสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียน ชั้น ป.1 ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนในระดับเขตบริการสาธารณสุข ประมาณ 5,721-6,005 คน พร้อมกันทั่วประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีความจำเป็นมากในการพัฒนาสมองและระบบการทำงานของร่างกาย โรคขาดสารไอโอดีนเป็นต้นเหตุของภาวะปัญญาอ่อน การขาดสารไอโอดีนจะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ความเฉลียวฉลาดหรือระดับสติปัญญาก็จะลดลง มีปัญหาเรื่องการเรียน ขณะที่ธาตุเหล็กจะสะสมในสมองตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ในทารกแรกเกิด-2 ปี จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้อย่างถาวร เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เท่ากับเด็กปกติ แต่หากเกิดเพียงระยะสั้น ๆ จะสามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้
 
สำหรับการสำรวจ IQ และ EQ จะใช้แบบทดสอบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ ตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ ตรวจค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเลือดหาภาวะโลหิตจาง ทั้งนี้ นักจิตวิทยาและพยาบาลวิชาชีพสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศในแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้สำรวจระดับ IQ ตลอดจนประสานกับพ่อแม่ ผู้ปกครองในการประเมิน EQ บุตรหลานด้วยตัวเอง. – สำนักข่าวไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: