ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษา





จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ National Council for Peace and Order (NCPO) พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประกาศเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยได้มีการออกประกาศและคำสั่งภายในนาม คสช.อย่างต่อเนื่อง มีประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

 
 
ฉบับที่ 5 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว  เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ออกแถลงการณ์ประกาศ คสช.ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนวุฒิสภา ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ตามเดิม
 
ฉบับที่ 6 การแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนี้
1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
3. พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
5. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
6. พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
ฉบับที่ 9 ให้สถานศึกษาหยุดทำการ ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2557  คสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 และ 11 ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก สั่งให้สถานศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชน หยุดทำการในวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2557
 
ฉบับที่ 10 ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบหมาย

ฉบับที่ 13 ให้หัวหน้าหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ เข้ารายงานตัวในค่ายทหาร ดังนี้

1. หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าขึ้นไป ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานอิสระ สหภาพ สภาอุตสาหกรรม สมาคม ธนาคาร หอการค้า รายงานตัว ณ สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต
2. ผู้ว่าราชจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายงานตัวค่ายสุรนารี
3. ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ รายงานตัวค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
4. ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ รายงานตัวค่ายวชิราวุธ
ฉบับที่ 16 ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว  เมื่อ คสช.ได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วนั้น เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติ จึงกำหนดให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ฉบับที่ 22 การจัดโครงสร้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  คสช.ได้ดำเนินการจัดโครงสร้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยแบ่งงานให้ข้าราชการ 6 กลุ่ม ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้ความดำเนินงานและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในฝ่ายสังคมจิตวิทยา ร่วมกับอีก 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  โดยมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และมีพลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา
ฉบับที่ 35 ว่าด้วยเรื่องอำนาจในการอนุมัติงบประมาณของปลัดกระทรวง  คสช.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนี้
1. การอนุมัติแผนงาน/โครงการใดๆ ที่อยู่ในอำนาจอนุมัติของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง จะต้องเสนอเรื่องให้หัวหน้าฝ่ายซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่อำนวยการ ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามประกาศคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะสามารถดำเนินการตามแผนงาน/โครงการได้
2. การดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ ที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แม้จะเคยได้รับการอนุมัติหลักการไปแล้ว โดยรัฐบาลในอดีต ในขั้นการอนุมัติงบประมาณจะต้องเสนอให้หัวหน้าฝ่าย ตามข้อ 1 พิจารณาให้ความเป็นชอบแผนงาน/โครงการก่อน
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/websm/2014/may/132.html

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: