เปลี่ยนงานหลายหน ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่เอาไหน… 7ข้อคิดอีกด้านของคนที่เปลี่ยนงานบ่อย





ไม่มีใครไม่อยากได้งาน เพราะงานเป็นที่มาที่ทำให้ได้เงินอย่างสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว ไม่มีหรอกที่จู่ๆ คนเราจะได้เงินลอยมาเข้ากระเป๋าโดยไม่ลงทุนทำอะไรเลย (แม้แต่สลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ยังต้องลงทุนซื้อ ลงทุนเสี่ยง ถึงจะได้รางวัล)

 

แต่… ก็ไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อยเช่นกัน เพราะการโยกย้ายปรับเปลี่ยน บางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่ใหญ่พอควร ไหนจะเรื่องที่พัก การเดินทาง การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ สังคมใหม่ เรียกว่าย้ายกันทีนึงเหมือนย้ายบ้าน ก็คงไม่ผิดนัก

 

และก็ใช่ว่า… คนที่เปลี่ยนงานจะเป็นคนที่มีแต่ข้อเสีย ไม่มีคุณสมบัติที่ดีในการทำงานเสมอไป หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่าคนเปลี่ยนงานบ่อยเป็นคนไม่อดทน ใจรวนเร เรื่องมาก นิสัยเหมือนเด็กไม่รู้จักโต นี่คือความจริงอีกด้านที่อยากให้คุณได้รู้ไว้บ้าง

 

man-laid-off-from-job
ภาพประกอบจาก www.sheknows.com
 

1. คนเปลี่ยนงานบ่อยไม่ใช่เป็นคนเอาแต่ใจอย่างที่คิด ตรงกันข้าม เขาเป็นคนที่นึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง การตัดสินใจลาออกหรือโยกย้ายแต่ละทีนั่นก็อาจมาจากการไตร่ตรองที่ถี่ถ้วน รอบคอบดีแล้ว เช่น รู้ดีว่าบริษัทต้องการคนแบบไหน แต่ตนเองฝึกให้ตายยังไงก็ไม่เหมาะอยู่ดี จึงยอมถอนตัวเพื่อให้บริษัทได้เลือกคนอื่นที่เหมาะสมกว่าตัวเอง บริษัทจะได้จ้างคนที่ถูกกับงาน คุ้มค่าเงินจ้าง, เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ ดีกว่าขัดแย้งกันมากขึ้นเพราะผลประโยชน์ที่เริ่มไม่ลงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
 

2. ใช่ว่าองค์กรที่จากมาเป็นองค์กรที่ไม่ดี เพียงแต่กฎต้องเป็นกฎและตัวพนักงานเองก็รู้ดีว่าตัวเอง ‘ไม่เหมาะ’ ที่จะอยู่กับองค์กรนี้ไปนานๆ เช่น รู้สึกกดดันที่ไม่มีวันหยุดที่เหมาะสมอย่างองค์กรอื่นทั่วไป แต่ก็แหกกฎไม่ได้ จึงยอมลาออกเพื่อไปหาองค์กรที่สามารถให้วันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์, รู้ว่าทำผิดกฎจึงยอมรับผิดชอบด้วยการลาออก
 

3. ต้องการเปิดโอกาสให้รุ่นน้องหรือคนอื่นๆ ได้มีโอกาสฝึกทักษะในตำแหน่งที่ตัวเองเคยอยู่บ้าง โดยที่ตัวเองก็จะขยับไปทำในส่วนอื่นที่เพิ่มพูนทักษะมากกว่านี้ เช่น ยอมลาออกเพื่อไปเปิดธุรกิจส่วนตัว, ยอมลาออกเพื่อไปสมัครงานในตำแหน่งใหม่และองค์กรใหม่ที่ท้าทายความสามารถมากกว่า
 

4. คนเปลี่ยนงานรู้และเข้าใจดีถึงองค์กรว่าผลประกอบการส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานอย่างสุดความสามารถของพนักงาน แต่พนักงานเองก็มีขีดจำกัดในตัวเอง เช่น สุขภาพ, ภาระทางครอบครัว บางครั้งพนักงานเองก็จำเป็นต้องเลือกที่จะรักษาด้านชีวิตส่วนตัวและการงานให้ลงตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นบางคนยอมลาออกมาทำงานใกล้บ้านที่เงินเดือนน้อย มากกว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ไกลบ้านที่ถึงแม้จะเงินเดือนแพงกว่า แต่ต้องหักค่าเช่าที่พัก จ่ายค่ากิน อีกทั้งไม่สามารถดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนักได้
 

5. ระบบงานไม่ถูกจริตกับตัวเอง ไม่ว่าจะเหตุผลส่วนตัวระหว่างพนักงานด้วยกันหรือด้วยเนื้องานจริงๆ การลาออกเพื่อไปหางานที่สบายใจกว่าจึงย่อมดีกว่าการทนอยู่โดยอึดอัดใจ พูดกับใครก็ไม่ได้หรือเกรงใจที่จะพูดอธิบายโดยตรง
 

6. ถึงแม้สวัสดิการดี เพื่อนร่วมงานดี เจ้านายดี แต่ก็รู้สึกว่า ‘ไม่ใช่’ ตัวตนของตัวเอง จึงยอมลาออกหรือเปลี่ยนงานไปทำที่อื่น เพื่อค้นหาตัวเองจนกว่าจะเจอ
 

7. ทำงานมาสุดความสามารถหลายเดือน หลายปี แต่องค์กรไม่มีความก้าวหน้าให้ ไม่ว่าจะสเตทเม้นท์, ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือการเปิดโอกาสให้เรียนรู้ในทักษะอื่นบ้าง ในเมื่อองค์กรอื่นมีให้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะอยู่ที่เดิม
 

ใครบอกว่าบริษัทเท่านั้นที่กุมอำนาจเลือกเองแต่เพียงผู้เดียว คนทำงานก็มีสิทธิเลือกได้ และก็ใช่ว่าจะไร้เหตุผล หรือเต็มข้ออ้างไปซะหมดด้วยนะ wink

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: